กรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา คาดอนาคตการใช้ประโยชน์จากอากาศยานไร้คนขับมาแรงควบคู่กับปัญหาและอุปสรรค เร่งผลักดันกฎหมายและระเบียบสนับสนุนรองรับให้การขยายตัวเป็นไปอย่างมีระบบ พร้อมเสนอตั้งศูนย์รวมข้อมูลเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ
นายสมชาย เสียงหลาย ประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมการใช้ประโยชน์อากาศยานไร้คนขับเชิงพาณิชย์ ในคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการหลอมรวมกันระหว่างเทคโนโลยี (Technology Convergence) อย่างแพร่หลาย การพัฒนาและการใช้งานของอากาศยานไร้คนขับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีการหลอมรวมอย่างรวดเร็ว และมีรายงานวิจัยที่เชื่อถือได้ระบุว่า อากาศยานไร้คนขับได้ถูกยกให้เป็น 1 ใน 8 นวัตกรรมสำคัญในอนาคตเมื่อเทียบเคียงกับเทคโนโลยีอื่น เช่น AI หรือปัญญาประดิษฐ์
“รายงานวิจัยจากสำนัก Drone Market Report ระบุว่า มูลค่าทางการตลาด ในช่วงปี 2563 ทั้งด้านความมั่นคงทางการทหาร ด้านการพาณิชย์ และด้านสันทนาการ มีมากถึง 22.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่า ในปี 2568 มูลค่าทางการตลาดจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือมูลค่ารวมประมาณ 42.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ” นายสมชาย กล่าว
นอกจากนี้ จากงานสัมมนาการระดมและแลกเปลี่ยนแนวความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่ พบว่า บนความก้าวหน้าการใช้งานอย่างแพร่หลาย ควรมีการกำหนดทิศทางและนโยบายเกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับให้ชัดเจน ระเบียบบางตัวที่เข้มงวดเกินไปก็ควรมีการผ่อนปรนตามวัตถุประสงค์ใช้งาน เช่น ข้อเท็จจริงบางประการที่พบว่าประเทศไทยมีอากาศยานเพื่อการเกษตรที่สามารถบรรทุกน้ำหนักสารได้ไม่เกิน 25 กิโลกรัม ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 23,000 ราย ส่วนบริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้โดรนเพื่อการเกษตรเกิน 25 กิโลกรัมอย่างเป็นทางการมีเพียงรายเดียวเท่านั้น
“ดังนั้น อนุกรรมาธิการฯ จึงมีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ควรมีการบูรณาการหน่วยงานเกี่ยวกับกิจการนี้เป็นหน่วยงานเดียวแบบ one-stop-service เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปอย่างทั่วถึง และควรมีการกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ให้เป็นนโยบายพิเศษ ที่สำคัญควรมีการกำหนดและรับรองมาตรฐานนักบินและผู้ปล่อยอากาศไร้คนขับ โดยแบ่งประเภทการใช้งานให้ชัดเจน ระยะกลาง ที่ควรดำเนินการให้เสร็จในระยะ 2-3 ปี คือการพัฒนาซอฟต์แวร์และระบบการเก็บข้อมูลให้อยู่แบบรวมศูนย์ (Server) ไว้ในประเทศไทย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ส่วนระยะยาวควรดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 3-5 ปี การแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมายในระดับกฎหมายแม่บท หรือกฎหมายที่ให้ฐานอำนาจ เพื่อให้ครอบคลุมทุกบริบทของระบบอากาศยานไร้คน”
ทั้งนี้ มีรายงานจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่า เมื่อปี 2562 ธนาคารได้จัดวงเงินสินเชื่อสำหรับการซื้ออากาศยานไร้คนขับ (โดรน) และเครื่องจักรอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้แก่เกษตรกร และกลุ่มเกษตรกร 15,000 ล้านบาท ซึ่งมีเกษตรกรซื้อโดรนสำหรับใช้ทำการเกษตรไม่ต่ำกว่า 100 ลำ ลำละ 5 แสนบาท เพื่อมาใช้ทดแทนแรงงานในการพ่นยาฆ่าแมลง หว่านเมล็ดพันธุ์ ลดต้นทุนการผลิต โดยคิดดอกเบี้ย 3% สำหรับกลุ่มสหกรณ์และ 4% สำหรับเกษตรกรรายย่อย ทั้งนี้ เมื่อปี 2561 มีกลุ่มสหกรณ์ขอสินเชื่อเพื่อซื้อโดรนทั้งหมด 60 ลำ วงเงิน 30 ล้านบาท โดยแต่ละรายยืนยันว่าต้นทุนการผลิตลดลงจริง แม้ค่าจ้างใช้แรงงานคนตกไร่ 500 บาท แต่โดรนใช้ 600 บาท แต่โดยรวมแล้วคุ้มกว่า