xs
xsm
sm
md
lg

แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เผยปี 63 มีกำไรที่ 2.74 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ADVANC และบริษัทย่อยปี 63 กำไรที่ 2.74 หมื่นล้านบาท เทียบกับปี 62 กำไรที่ 3.12 หมื่นล้านบาท สำหรับปี 64 ตั้งเป้ารายได้-กำไร EBITDA โตตัวเดียวระดับต่ำ เตรียมลงทุน 2.5-3 หมื่นล้านบาท



บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า บริษัทฯ และบริษัมย่อยปี 2563 กำไรที่ 2.74 หมื่นล้านบาท เทียบกับปี 2562 กำไรที่ 3.12 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นปี 2563 ที่ 9.23 บาท เที่ยบกับปี 2562 มีกำไรสุทธิต่อหุ้นที่ 10.49 บาท

สำหรับคาดการณ์ปี 64 มีรายได้จากการให้บริการหลัก เติบโตในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำ กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เติบโตในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำ ส่วนงบประมาณการลงทุน (ไม่รวมคลื่นความถี่) จำนวน 25,000 -30,000 ล้านบาท

บริษัทมองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 64 ยังคงมีความไม่แน่นอนจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่เริ่มในช่วงปลายปี 63 ในขณะที่ภาคธุรกิจยังคงไม่ฟื้นตัวสู่ระดับเดิมในช่วงก่อนการระบาด โดยคาดว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังมีแนวโน้มที่อ่อนตัวจากผลกระทบของการระบาดที่ยังคงยืดเยื้อและส่งผลต่อระดับรายได้ของทั้งภาคธุรกิจและการจ้างงานที่ลดลง รวมถึงระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกซึ่งเป็นกลไลขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยยังขึ้นอยู่กับการเข้าถึงวัคซีนของทั้งคนไทยและในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยกดดันต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมและการเติบโตของรายได้จากการให้บริการหลักของบริษัท

อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าระดับการแข่งขันในตลาดยังคงอยู่ในระดับสูงด้วยการใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาเพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่มองหาสินค้าและบริการที่มีความคุ้มค่าเพื่อชดเชยกำลังซื้อที่อ่อนลง เอไอเอสจึงมุ่งเน้นในการสร้างความแตกต่างด้วยสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม อีกทั้งยังยกระดับประสิทธิภาพการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า รวมทั้งการนำกระบวนการดิจิทัลมาปรับใช้ทั้งสำหรับกระบวนการภายในและสร้างช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับที่เหมาะสมและขยายการเติบโตในธุรกิจใหม่

การฟื้นตัวของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เอไอเอส มุ่งมั่นในการเป็นผู้นำบริการ 5G โดยเน้นสร้างประสบการณ์การใช้งาน 5G ที่เหนือกว่าเพื่อจับตลาดกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเชิงรายได้ อีกทั้งยังมุ่งเสริมความแข็งแกร่งของโปรแกรมการรักษาฐานลูกค้าและใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อรักษาฐานรายได้ในภาวะที่มีการแข่งขันด้านราคาที่สูง

พร้อมมทั้ง คงการเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านในระดับที่สูงกว่าอุตสาหกรรม ด้วยกระแสความต้องการอินเทอร์เน็ตบ้านที่เพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 เอไอเอสไฟเบอร์วางแผนในการขยายความครอบคลุมของบริการในพื้นที่รอบนอกของเมืองหลักที่มีแนวโน้มการเติบโตที่สูง โดยอาศัยการต่อยอดจากฐานลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่และตั้งเป้าหมายลูกค้าจำนวน 1.6 ล้านคนภายในปี 64 ทั้งนี้ด้วยการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงท่ามกลางกำลังซื้อที่อ่อนตัว เอไอเอสไฟเบอร์จึงมุ่งเน้นนำเสนอบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยแพ็กเกจแบบรวมบริการที่หลากหลายเพื่อเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือน (ARPH: Average Revenue per Household) และเพื่อสร้างระดับราคาที่เหนือกว่าคู่แข่งในตลาด

คาดการณ์อัตราการเติบโตของธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรในระดับสองหลัก ด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจต่างๆ ที่เร่งปรับเปลี่ยนการดำเนินงานด้วยกระบวนการดิจิทัลเพื่อเข้าสู่ New normal เอไอเอสจึงคาดว่าธุรกิจลูกค้าองค์กรจะสามารถเติบโตได้สูงด้วยความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้าน ICT อีกทั้งด้วยโซลูชั่น 5G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่และเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ

เอไอเอสคงแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมศักยภาพของความเป็นผู้นำในระยะยาว โดยวางงบการลงทุนสำหรับปี 64 ประมาณ 25,000-30,000 ล้านบาทซึ่งมุ่งเน้นการสร้างโครงข่ายเพื่อความเป็นผู้นำในบริการ 5G ยกระดับคุณภาพบริการ 4G ขยายบริการธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน และลงทุนในแพลทฟอร์มสำหรับธุรกิจดิจิทัลและบริการลูกค้าองค์กร โดยวางแผนขยายโครงข่าย 5G บนคลื่นความถี่ทั้งย่านต่ำและกลาง เพื่อให้บริการด้วยคุณภาพที่เหนือกว่าผู้ให้บริการรายอื่น โดยเน้นในพื้นที่ซึ่งมีอัตราการใช้งานมือถือ 5G ที่สูง

ทั้งนี้ เอไอเอสมุ่งเน้นคุณภาพของบริการ 5G เพื่อประสบการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า ประกอบกับการขยายโครงข่ายที่ครอบคลุมตามการเติบโตของการใช้งานมือถือ 5G

ขณะเดียวกัน คงความสามารถในการทำกำไรโดยเน้นการบริหารจดัการต้นทุนเพื่อรักษากระแสเงินสดจากการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรภายใต้ความไม่แน่นอนในปี 64 เอไอเอสวางแผนในการบริหารต้นทุนโดยให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การยกระดับประสิทธิภาพ และการวางแผนจัดลำดับโครงการให้เหมาะสม โดยจะมีการดำเนินการอย่าง

ต่อเนื่องในการปรับลดต้นทุนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การปรับกระบวนการปฏิบัติงานในรูปแบบอัตโนมัติ(Automation) การปรับช่องทางจำหน่ายและบริการผ่านทางออนไลน์ การปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Transformation) เพื่อให้การพัฒนาสินค้าและบริการสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วและปรับกระบวนการทำงานภายในที่คล่องตัว รวมถึงการปรับปรุงระบบบริหารจัดการโครงข่ายซึ่งจะช่วยให้การลงทุนในโครงข่ายมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้คาดการณ์การเติบโตของ EBITDA ปี 64 ในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น