xs
xsm
sm
md
lg

“ปริญญ์” ลงรับฟังปัญหาธุรกิจท่องเที่ยว เจอพิษโควิดกระทบหนักทั้งรายใหญ่-รายย่อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปริญญ์” ลงพื้นที่รับฟังปัญหา เตรียมช่วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังเจอพิษโควิด กระทบหนักทั้งรายใหญ่รายย่อย ก่อนไปต่อไม่ไหว

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เตรียมเร่งหาแนวทางช่วยเหลือจากการรับฟังปัญหาที่ได้พบ แนะภาครัฐต้อง “เกาให้ตรงจุด” เยียวยาความเดือดร้อนให้ถูกทาง ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาระยะสั้น ต้องมองยาวไปข้างหน้า ก่อนจะที่ผู้ประกอบการจะแบกรับภาระไม่ไหวจนต้องทยอยปิดกิจการ เพื่อความอยู่รอดและสร้างปัญหาคนตกงานตามมา

โดย นายปริญญ์ ได้ร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ตั้งแต่ระลอกแรก ทั้งปิดกิจการ ให้พนักงานหยุดงานแบบไม่จ่ายค่าแรง หรือจ่ายค่าแรงเพียงครึ่งเดียว เนื่องจากแบกภาระไม่ไหว เพราะมาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือสามารถเยียวยาได้แค่ระยะสั้นเท่านั้น นายปริญญ์ ยังได้มีโอกาสพบกับ นางกมลา สุโกศล ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทและโรงแรมในเครือสุโกศล นายกฤษดา สุโกศล แคลปป์ (น้อย วงพรู) นักร้องชื่อดัง และผู้บริหารกิจการโรงแรมเดอะ สยาม นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี ในฐานะนายกสมาคมโรงแรมไทย รวมถึง นางอลิสา พันธุศักดิ์ เจ้าของธุรกิจทิฟฟานี่โชว์ พัทยา เพื่อรับฟังมุมมองในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ต้องเผชิญภาวะวิกฤตจากการที่ไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ มาใช้บริการ และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมมาเกือบหนึ่งปีเต็ม แต่ก็ยังคงไม่ทอดทิ้งพนักงาน 

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าวได้มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจต่อภาครัฐ กล่าวคือ รัฐบาลต้องเร่งออกนโยบายกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ เช่น อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วสามารถเข้าประเทศได้ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และทำให้ทุกคนอยู่รอด และไม่ควรพึ่งพิงวัคซีนจากประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะตอนนี้หลายประเทศรอบบ้านเรา ได้เริ่มกระจายวัคซีนไปสู่ประชาชนแล้ว รวมถึงการพิจารณาลดจำนวนวัน State quarantine


ก่อนที่ช่วงเย็นในวันเดียวกัน นายปริญญ์ และ นางดรุณวรรณ ได้ลงพื้นที่ถนนข้าวสาร ย่านธุรกิจกลางคืนขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนกลายเป็นสถานที่ที่เงียบเหงา ไร้ผู้คน อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยได้พูดคุยกับประชาชนหลากหลายกลุ่ม ทั้งผู้ประกอบการร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงแรมขนาดเล็ก รวมถึงผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ พบปัญหาความเดือดร้อนมากมายที่ไม่เคยได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล เช่น สถานบันเทิงและร้านอาหารที่มีคำสั่งให้งดจำหน่ายแอลกอฮอล์ แม้ร้านจะมีมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดตามมาตรฐานที่ ศบค. กำหนด ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ แอลกอฮอล์ล้างมือ สแกนไทยชนะ และจัดที่นั่งภายในร้านตามหลักการเว้นระยะห่างแล้วก็ตาม แต่ก็มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการน้อยลง รายได้ของร้านจึงลดลงตามไปด้วย จนต้องให้พนักงานสลับวันหยุดแบบไม่จ่ายค่าแรง ในขณะที่ธุรกิจโรงแรมบางแห่งจำเป็นต้องปลดพนักงานออกและเปลี่ยนมาขายอาหารเป็นการชั่วคราว หรือปิดกิจการชั่วคราวมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว และบางแห่งปิดกิจการถาวรไปเลยก็มี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น


“การระบาดของโควิดทั้งสองระลอก ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทรุดหนักและทรุดลงอย่างต่อเนื่อง รัฐต้องกล้าตัดสินใจในเชิงนโยบาย ปรับเปลี่ยนมาตรการให้บาลานซ์ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุข เพราะโควิดจะยังคงอยู่กับเราไปอีกระยะจนกว่าจะมีการฉีดวัคซีนที่ทำให้คนมีภูมิคุ้มกันมากพอ การช่วยเหลือแบบระยะสั้นเปรียบเสมือนการให้ออกซิเจนช่วยต่อลมหายใจเป็นช่วงๆ หากมีการเอาออกซิเจนออก ก็อาจหยุดหายใจได้ จึงต้องคิดมาตรการระยาวที่ทำให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง ข้อเสนอจากผู้ประกอบการที่ได้รับฟังมาจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเร่งศึกษาความเป็นไปได้ก่อนนำไปปฏิบัติ” นายปริญญ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายปริญญ์ มีความตั้งใจจะไปรับฟังประชาชนทุกกลุ่มในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเศรษฐกิจและปัญหาปากท้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสียงสะท้อนไปยังผู้เกี่ยวข้องผ่านช่องทาง Youtube Channel “PRINN Check in” ทุกเย็นวันศุกร์ ที่จะเริ่มออกอากาศตอนแรกในวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์นี้




กำลังโหลดความคิดเห็น