xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงพระเกียรติ! “ทอน” แก้ตัวในศาล “ดร.เสรี” จวก จงใจให้ร้ายในหลวง “เพจสนธิ” ยกเป็น “ขุนนางใหม่” ที่พม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ จากเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ดิ้นสู้! “ทอน” แก้ตัวในศาล กรณีโจมตี “วัคซีนรัฐบาล” พาดพิงในหลวง เพราะเกรงเสื่อมเสียพระเกียรติ “ดร.เสรี” จวก “คุณนี่มันเลวจริงๆ” จงใจให้ร้าย “เพจสนธิ” เปิดตัวขุนนางใหม่สองคนที่พม่า หน้าคล้าย คู่หูหนุนม็อบ “3 นิ้ว” ในไทย

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (5 ก.พ. 64) เฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้แชร์โพสต์ของเฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า-Progressive Movement ที่ระบุว่า

“หากยังพอจำกันได้ เมื่อคืนวันที่ 18 มกราคม 2564 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไลฟ์สดวิจารณ์ยุทธศาสตร์การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลไทย ที่ช้าและน้อยเกินไป ไม่ทันการณ์ โดยสาเหตุมาจากการ “แทงม้าตัวเดียว”

เช้าวันรุ่งขึ้นก็มีท่าทีดุเดือดจากหลายฝ่าย รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง พุทธพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (หรือที่เรียกติดปากสั้นๆ ว่า DE)

โดย พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เปิดเผยในวันที่ 31 มกราคม 2564 ว่า ศาลได้มีคำสั่งตามคำร้องของ DE ให้ระงับการเผยแพร่คลิปและเนื้อหาการไลฟ์สดของธนาธรทั้ง 3 ช่องทาง ได้แก่ เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ และยูทูปคณะก้าวหน้า

ทำให้ทางฝั่งธนาธรต้องยื่นคำร้องคัดค้าน และขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยในวันนี้ศาลได้มีการนัดไต่สวน

เราจึงขอนำเนื้อหาบางส่วนจากห้องไต่สวนมาเล่าให้ทุกคนได้รับฟังถึงแนวทางและเหตุผลของทั้งฝั่ง DE และธนาธร ในการต่อสู้กันว่าจะแบนหรือไม่แบนคลิปดังกล่าว - ก่อนที่จะมีการนัดอ่านคำสั่งศาลในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้

——

สำหรับการต่อสู้ครั้งนี้ ฝั่งหนึ่งมีทนาย “กฤษฎางค์ นุตจรัส” และ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ผู้ขอให้เพิกถอนคำสั่งแบนคลิป ส่วนอีกฝั่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของ DE ซึ่งมีพยานเป็น “ทศพล เพ็งส้ม” กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทนายความหัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อของพรรคพลังประชารัฐ และยังเป็นทนายความให้ ส.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ รวมทั้งเคยเป็นผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส.นนทุบรี พรรคพลังประชารัฐ อีกด้วย

โดยในการพิจารณา ศาลเริ่มจากการสอบถามทั้งสองฝ่ายว่ามีประเด็นใดจะต้องพิจารณาลับหรือไม่ โดยทางฝั่งธนาธรเห็นว่า ไม่มี ส่วนทางฝั่ง DE เห็นว่า มีประเด็นเรื่องสถาบันฯ ที่จะต้องพิจารณาลับ

อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า มีข้อพิจารณา 2 ประเด็น คือ 1. กระทบความมั่นคงในราชอาณาจักร 2. เป็นความลับราชการ ซึ่งก็เห็นว่าข้อเท็จจริงก็ปรากฏทั่วไปในสื่อสาธารณะอยู่แล้ว และเรื่องความลับของทางราชการ ก็ไม่มีชุดข้อมูลใดเข้าข่ายให้ต้องพิจารณาลับ

หลังจากนั้น ศาลเปิดคลิปไลฟ์ความยาวเต็มประมาณ 30 นาที เพื่อฟังตั้งแต่ต้นจนจบในห้องพิจารณาคดี

หลังจากที่ดูคลิปจบ ทางฝั่ง DE ก็ยืนยันหลักฐานตามคำร้องเดิม ในการไลฟ์ของธนาธรในช่วงนาทีที่ 15 และ 28 “ทั้งหมดนำมาสู้คำถามสุดท้ายว่า ในหลวง ร.๑๐ เป็นผู้ถือหุ้นของ Siam Bioscience คุณประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี อนุมัติดีลอย่างนี้ขึ้น และถ้าหากเกิดอะไรผิดพลาด คุณประยุทธ์จะรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าเกิดว่าผลิตวัคซีนช้ากว่าเวลา มีปัญหา แจกจ่ายกับประชาชนไม่เป็นธรรม ถ้าเกิดว่าประชาชนแพ้วัคซีน หรือวัคซีนมีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย คุณประยุทธ์จะรับผิดชอบไหวหรือไม่? เพราะประชาชนย่อมตั้งคำถามกับ Siam Bioscience ซึ่งมีผู้ถือหุ้นคือในหลวง ร.๑๐”

ส่วนทางด้านธนาธรใช้เวลาในการอธิบายยาวๆ ดังนี้:

“เหตุผลที่ผมออกมาไลฟ์ เพราะเป็นห่วงเรื่องการจัดการวัคซีนในสถานการณ์โควิด ผมเห็นว่า ยุทธศาสตร์วัคซีนที่รัฐบาลทำอยู่นั้นไม่เหมาะสม เพราะน้อยเกินไปและช้าเกินไป

ถ้ายังใช้แผนนี้อยู่ ก็มีตัวเลขของทางราชการมาให้ดู เป็นเอกสารแนบท้ายในการประชุม ครม. ว่า จะเกิดความเสียหายเดือนละกว่า 2.5 แสนล้านบาท อย่าลืมว่าคนที่แบกรับต้นทุนเหล่านี้คือคนที่หาเช้ากินค่ำ คือ แรงงานนอกระบบ คือ คนที่อ่อนแอ

ถ้าย้อนกลับไปดูเอกสารการประชุม กมธ. ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เข้าชี้แจงเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 แผนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลภายในปี 2566 ได้เพียง 50% ของทั้งประเทศเท่านั้น ถ้าเดินตามแผนที่เราจะเปิดๆ ปิดๆ แบบนี้ไปอีก 3 ปี ซึ่งไม่มีประเทศไหนทำเช่นนี้

ยกตัวอย่างเช่น อิสราเอล ประกาศว่าจะฉีดวัคซีนให้ครบ 100% ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนสหรัฐฯ ประธานาธิบดี ไบเดน ก็ประกาศจะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ภายใน 100 วันแรกของการเข้ารับตำแหน่ง

ตอนนี้เราอยู่ในอุโมงค์มืดมิด และวัคซีนคือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ส่วนเหตุผลที่กล่าวถึงในนาทีที่ 15 และ 28 นั้น ขอเล่าว่า บริษัท Siam Bioscience ถือหุ้นโดยในหลวง ร.๑๐ สัดส่วน 100% ตามเอกสาร บอจ. ที่ส่งให้ศาลดู ซึ่งข้อมูลนี้เป็นจริงตามที่กล่าวในไลฟ์

มี 3 สัญญาที่สำคัญในดีลวัคซีนนี้ คือ 1. รัฐบาลซื้อจาก AstraZeneca 2. AstraZeneca ที่จ้าง Siam Bioscience ผลิต 3. สัญญาที่รัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุน Siam Bioscience
ประเด็นที่พูดเรื่องนี้ เพราะวัคซีน 26 ล้านโดส หรือคิดเป็น 20% ของประชากรนั้น มาจาก AstraZeneca ที่เดียว ซึ่งข้อมูลที่กล่าวมานี้เป็นข้อมูลที่พบได้ตามอินเทอร์เน็ตและสาธารณะทั่วไป

และภายหลังมีการจัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส ซึ่งก็มาจาก AstraZeneca เช่นกัน เท่ากับว่า ไม่มีการกระจายความเสี่ยง

และในประเด็นรัฐบาลสนับสนุนงบหลายร้อยล้านบาท ให้กับ Siam Bioscience โดยปกติก็ต้องมีเอกสารการจัดหา การประกวดเปรียบเทียบคุณสมบัติ หรือการแสดงการคัดเลือกโดยละเอียดโปร่งใส

ไม่นับว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีน ก็มีการพูดเรื่อง conflict of interest ที่เน้นย้ำว่า จะต้องทำอย่างโปร่งใส หากมีกรณีเกิดขึ้นจะต้องชี้แจงให้สาธารณชนได้รับทราบ

***ศาลคงทราบหลักการอยู่แล้วว่า The king can do no wrong because the king can do nothing

วันนี้ผมแนบหนังสือพิมพ์ The Economist มาอ่านให้ฟังว่าขณะนี้ที่ยุโรป บริษัท AstraZeneca ไม่สามารถจัดส่งวัคซีนได้ตามสัญญา ประชาชนในยุโรปก็โกรธ

แล้วถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดกับประเทศไทย ใครจะสัญญาได้ว่าพระเกียรติของสถาบันจะไม่ได้รับผลกระทบ??? รัฐบาลกล้ารับผิดชอบหรือไม่??? ดังนั้น การปกป้องพระเกียรติ คือ การไม่เอาสถาบันมาทำเช่นนี้”

หลังจากนั้น ศาลจึงถามว่า ทำไมถึงใช้คำว่า “วัคซีนพระราชทาน” ธนาธร ตอบว่า :

“ผมไม่ได้ใช้คำนี้เป็นคนแรก แต่ทั้งคุณประยุทธ์และหน่วยงานรัฐเป็นคนใช้คำทำนองนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด

ที่ผมเอาเรื่องนี้มาพูด เพราะเกรงว่าถ้าเป็นแบบนี้จะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติได้

และเนื่องจากรัฐบาลไทยใช้งบประมาณแผ่นดินซื้อวัคซีน และให้ทุนสนับสนุน Siam Bioscience ไปพัฒนา ดังนั้น การใช้คำว่า “วัคซีนพระราชทาน” จึงไม่ควรทำ

แต่ถ้าหากเราจะยืนยันใช้คำเช่นนี้ แล้วผิดพลาดขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น? ในเมื่อเป็น “วัคซีนพระราชทาน”



ทางด้าน DE พยายามชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้เจาะจง และไม่ได้ว่าจ้างโดยตรงให้ Siam Bioscience แต่ AstraZeneca เป็นผู้เลือก Siam Bioscience เอง

และกล่าวหาธนาธร ว่า มุ่งประเด็นให้คนเข้าใจว่า ถ้าผลิตวัคซีนล่าช้าหรือไม่ได้คุณภาพก็ต้องไปโทษ Siam Bioscience ซึ่งผู้ถือหุ้นของบริษัท ก็คือ ในหลวง ร.๑๐ นั่นเอง

“จากคลิปเป็นการชี้นำประชาชนให้ตั้งคำถามต่อในหลวง ร.๑๐ ให้เกิดข้อสงสัยเรื่องการถือหุ้น ซึ่งไม่จำเป็น เพราะผู้รับผิดชอบคือ กรรมการผู้จัดการ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น แต่ ธนาธร กลับไม่เน้นความรับผิดของนิติบุคคล”

อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายความฝั่งธนาธรถามซัก ทาง DE ก็ยอมรับว่า ไม่ได้ตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท Siam Bioscience แต่อย่างใด

...อย่างไรก็ตาม ในคดีเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “แม้ว่าพูดจริงก็มีความผิดได้” ... นี่คือคำกล่าวของฝั่ง DE

(หรือที่แวดวงกฎหมายมักพูดคิดปากกันว่า “ยิ่งจริงยิ่งผิด”)

หลังจากการไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว ธนาธรเปิดเผยต่อสื่อมวลชนที่มาดักรอหน้าศาลว่า ไม่ได้วิตกกังวลอะไร เพราะเราทำตามหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ ได้ชี้แจงเหตุผลและพยานหลักฐานต่างๆ ด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้ว ส่วนศาลจะวินิจฉัยตัดสินอย่างไรก็เป็นอำนาจของท่าน


8 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00 น. โปรดติดตามกันต่อไปว่าศาลจะเพิกถอนคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปไลฟ์วัคซีนดังกล่าวหรือไม่

#วัคซีนพระราชทาน #โควิด19 #Covid19 #ธนาธร #คณะก้าวหน้า”

ภาพ ดร.เสรี วงษ์มณฑา จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน ดร.เสรี วงษ์มณฑา ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันทิศทางไทย นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ว่า

“พูดดีนะคะว่า ออกมาทำ Facebook live เพราะห่วงใยเรื่องการหาวัคซีนของประเทศไทย

ถ้าคุณห่วงใยจริง คุณทำไมต้องจงใจโกหกเพื่อใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ คุณหาว่า รัฐบาลซื้อจาก Siam Bioscience เพื่อล้างขาดทุนให้กับบริษัทของในหลวง ทั้งๆ ที่ Astra Zeneca เป็นคนเลือกให้ Siam Bio science รับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิต

คุณหาว่า ใช้ภาษีประชาชนซื้อวัคซีน แล้วแจกจ่ายในนามโดยเรียกว่า วัคซีนพระราชทาน ซึ่งไม่จริงเลย วัคซีนนี้แจกจ่ายโดยกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่ในหลวง

คุณไม่ได้ห่วงจริง แต่คุณบิดเบือนข้อมูลเพื่อจงใจให้ร้ายในหลวงด้วยข้อความที่เป็นเท็จ เป็นการจงใจใส่ร้ายในหลวง แล้วคุณยังคิดว่า ถ้าวัคซีนมีปัญหาจะต้องให้ในหลวงที่ทรงเป็นผู้ถือหุ้นต้องรับผิดชอบ ทั้งๆ ที่ตามหลักการแล้ว กรรมการผู้จัดการต่างหากที่ต้องรับผิดชอบ

อย่าคิดว่า คนรู้ไม่ทันว่าคุณจงใจให้ร้ายในหลวง คุณนี่มันเลวจริงๆ”

ภาพ ที่เเชร์กันอย่างมากในโซเชียล
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เฟซบุ๊กเพจ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” ของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้โพสต์รูปภาพที่แชร์กันโซเชียล พร้อมข้อความระบุว่า

“เปิดตัวขุนนางใหม่สองคนที่พม่า

มิน่าทำไมถึงมีคนเห็นที่สถานทูตพม่าหลายวันก่อน

ภาพ นายสนธิ ลิ้มทองกุล จากแฟ้ม
9 โมงตรงพบกันครับ

วันนี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ทหารพม่ายึดอำนาจมีความเหมือนเเละคล้ายกับประเทศไทยหลายอย่าง จะเป็นอย่างไร อีกสักครู่พบกันครับ”

***ภาพนี้เป็นภาพที่เเชร์กันอย่างมากในโซเชียล เป็นภาพตัดต่อ ไม่ใช่ภาพจริงครับ***

แน่นอน, สิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ก็คือ จังหวะก้าวเดินเกม ของ นายธนาธร เพราะนอกจากจะลุ้นคำพิพากษาของศาล กรณีวิจารณ์วัคซีนรัฐบาล พาดพิงในหลวงแล้ว ยังถูกแจ้งข้อหารุกป่า ร่วมกับคนในครอบครัว (4 ก.พ. 64) ทั้งยังมีประเด็นเชื่อมโยงไปมีบทบาทในการต่อต้านรัฐประหารในพม่าอีกต่างหาก

เหนืออื่นใด ต้องมาดูว่า เกมต่อสู้ทางการเมืองในไทย ที่ดูเหมือนจะเปิดหน้ามากขึ้น ในการหนุน “ม็อบ 3 นิ้ว” การต่อต้านรัฐประหารในพม่า และการดิ้นสู้คดีสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ม.112 คดีบุกรุกพื้นที่ป่า พร้อมกับคนในครอบครัว ฯลฯ จะจบลงอย่างไร

ถือว่า วันนี้ “ธนาธร” ถอยไม่ได้อีกแล้ว เพราะสู้เท่านั้น จึงจะมีสิทธิลุ้นในทุกเรื่อง เพื่อจุดจบที่ไม่ต้องเจ็บตัว หรือ ติดคุก นั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น