ส.ส.ปชป. ติงฟื้นฟูท่องเที่ยว เกาไม่ถูกที่คัน มุ่งตั้งหน่วยงานใหม่ ไม่พัฒนาบุคลากร แนะใช้คน ททท.ให้เต็มศักยภาพ ชี้ ก.ท่องเที่ยวฯ คนกีฬาเกินครึ่ง ขาดความเชี่ยวชาญท่องเที่ยว อัด ก.พลังงาน ดันอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า ทำพลังงานทางเลือกล่ม
วันนี้ (4 ก.พ.) ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับวิธีคิดของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่หลักในการวางแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ว่า ยังมีวิธีคิดในกรอบราชการเดิม การปฏิรูปประเทศจึงยังไม่สอดรับกับสถานการณ์ประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากพิษโควิด-19 ก็ยังไม่เห็นรูปธรรมในการการฟื้นฟูธุรกิจนี้เพื่อรองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ มีการกำหนดว่าจะตั้งองค์กรพัฒนาพิเศษเพื่อการศึกษาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการโอนย้ายหน่วยงานเข้าสู่สังกัดกระทรวงท่องเที่ยวฯ อ้างว่า เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่การดำเนินการแบบนี้ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ การปฏิรูปไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงด้วยการเปลี่ยนสังกัด ต้องเปลี่ยนแนวคิด ปรับนโยบายขับเคลื่อนให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
ดร.พิมพ์รพี ระบุด้วยว่า ส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับการวางแผนเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเอสเอ็มอีหลายครั้ง แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไข พูดจนรู้สึกอายตัวเอง เพราะขณะนี้ไมโครเอสเอ็มอีร้อยละ 80 ยังไม่ได้รับการดูแล แล้วจะตั้งองค์กรนี้ไปเพื่ออะไร เพราะกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ ปัญหาที่ต้องคิดคือจะเยียวยาผลกระทบจากพิษโควิด-19 อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่ ส.ส.เสนอในสภาไม่เคยได้รับความสนใจอย่างจริงจัง จึงขอฝากไปถึงผู้เกี่ยวข้องว่า การเปลี่ยนแปลงเพียงแค่การตั้งองค์กร ย้ายสังกัด มีแต่ภารกิจ ไม่มีงบประมาณ ไม่พัฒนาบุคลากรในการสนับสนุนการท่องเที่ยวจะเกิดประโยชน์ได้ เพราะคนที่เก่งอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.กลับไม่ถูกใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ แต่คนในกระทรวงส่วนมากมาจากกีฬา ยังขาดความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว สภาพัฒน์ควรปฏิรูปบุคลากรในกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ให้ได้คนที่ตรงกับงาน ไม่เช่นนั้นไม่ว่าจะมีฝันดีแค่ไหนคงไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงการวางแผนยกระดับวิทยาลัยพลศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติฟังดูดี แต่มีคำถามว่าจะใช้สถาบันศึกษานี้มาส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างไร ไม่ตอบโจทย์ ตนมาจากจังหวัดกระบี่ ดูแลนโยบายสวนปาล์ม อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มกำลังได้รับผลกระทบจากนโยบายอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าอย่างรุนแรง เพราะพลังงานทางเลือกกำลังจะถูกยกเลิก ทั้งไบโอดีเซล และแก๊สโซฮอล์ ตนไม่ได้ห้ามทำ แต่ถามหาความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงานที่เสนอให้นโยบายพลังงานทางเลือกเป็นนโยบายหลักเมื่อสิบปีก่อน แต่วันนี้กำลังเกิดดิสรัปชันทำให้ระบบนี้ล่มสลายจะมีแผนรองรับให้เกษตรกรยืนอยู่ได้อย่างไร คิดหรือยังว่าจะโค่นปาล์มให้หมดประเทศ หรือคิดที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้ชาวสวนปาล์มและอ้อยอยู่ได้ เพราะสินค้าเกษตรทั้งสองชนิดเป็นพืชเศรษฐกิจ การกำหนดนโยบายต้องมองอย่างรอบด้าน สร้างระบบทดแทนความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมเดิมที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมใหม่ด้วย