“ส.ว.สถิตย์” เสนอออกกฎหมายนำเงินฝากในบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ทั้งในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงเงินฝากในกระเป๋าตังค์อิเล็กทรอนิกส์ ไปสมทบกองทุนการลงทุนเพื่อสังคม โดยกำหนดหลักการแจ้งเจ้าของบัญชีก่อน และเปิดโอกาสให้เจ้าของบัญชีถอนเงินได้
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในการประชุมวุฒิสภา วาระเรื่องความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563) ด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจ ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายว่า แนวคิดในการปฏิรูปเศรษฐกิจนอกจากเป็นการปฎิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วยังมีการปฏิรูปที่สำคัญ คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสังคม ซึ่งแนวทางหนึ่งของการปฏิรูปดังกล่าว คือการดำเนินการในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
ประเด็นการปฏิรูปที่เกี่ยวข้อง คือ การจัดตั้งกองทุนการลงทุนเพื่อสังคม (social investment) ทั้งนี้ มีมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยกำหนดให้มีเงินสมทบจากวิสาหกิจเพื่อสังคมตามมาตรา 13 เป็นต้น แต่ปรากฏว่ายังไม่ได้มีการออกกฎหมายลำดับรองสำหรับการนำส่งเงินสบทบเข้ากองทุนดังกล่าว จึงเห็นสมควรเร่งรัดให้มีการออกกฎหมายลำดับรองในเรื่องนี้โดยเร็ว
ส.ว.สถิตย์ได้อภิปรายต่อไปว่า เมื่อพิจารณาเงินและทรัพย์สินที่นำเข้ากองทุน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 แล้ว ไม่น่าจะเพียงพอต่อการมีเงินทุนในการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม จึงเห็นควรพิจารณาหาแนวทางในการได้เงินจากแหล่งทุนอื่นเพิ่มเติม
ที่ผ่านมากระทรวงการคลังเคยเสนอร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน พ.ศ. ... เพื่อให้สถาบันการเงินปิดบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหว และนำส่งข้อมูลของบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง เพื่อรับเงินและบริหารจัดการบัญชีเงินฝากดังกล่าว
ในเรื่องนี้ ส.ว.สถิตย์เสนอว่า ควรผลักดันให้มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการนำเงินในบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวต่อไป แต่ทั้งนี้ควรปรับปรุงหลักการเพื่อให้สมบูรณ์และเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ดังต่อไปนี้
ประการแรก บัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหว นอกจากกำหนดบัญชีเงินฝากสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจแล้ว ยังควรรวมถึงบัญชีเงินฝากอิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋าตังค์อิเล็กทรอนิกส์ ในรูปแบบอีมันนี่ (e-Money) เพื่อให้ครอบคลุมเงินฝากในรูปแบบต่างๆ โดยครบถ้วน
ประการที่ 2 เงินที่ได้จากบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการไม่เคลื่อนไหว ควรนำไปจัดตั้งในรูปแบบกองทุนการลงทุนเพื่อสังคม (social investment fund) โดยต้องกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน เพื่อดำเนินโครงการลงทุนเพื่อสังคมอย่างแท้จริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในกิจการเพื่อสังคม เพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมให้เติบโตและเป็นหลักสำคัญของการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสังคม
ประการที่ 3 ควรกำหนดเป็นหลักการให้มีการตรวจสอบรายชื่อเจ้าของบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหว และแจ้งให้เจ้าของบัญชีทราบ เพื่อดำเนินการปิดบัญชีหรือทำธุรกรรมต่อกับบัญชีเงินฝากดังกล่าว รวมทั้งประกาศเป็นการทั่วไป เพื่อให้เจ้าของบัญชีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งภายในระยะเวลาที่กำหนด ก่อนที่จะมีการโอนเงินเข้ากองทุน และแม้ว่าโอนเงินเข้ากองทุนแล้ว หากเจ้าของบัญชีทราบภายหลังว่ายังมีเงินฝากอยู่ก็ยังสามารถถอนเงินและปิดบัญชีได้ เพื่อให้ความยุติธรรมแก่เจ้าของบัญชีอย่างแท้จริง