xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ปฏิลวงตำรวจ มากับความว่างเปล่า!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ”ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 27 มกราคม 2564 ตอน ปฏิลวงตำรวจ มากับความว่างเปล่า!?



ความเป็นไปของร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ตำรวจแห่งชาติ ฉบับแก้ไขปรับปรุง ที่ตามคิวจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ประมาณวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ หลังจากก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ออกมาเพื่อส่งต่อให้รัฐสภาเห็นชอบ

จุดสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา เนื่องจากไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.ที่จะออกมาตามขั้นตอนปกติ แต่เป็นร่างกฎหมายที่ต้องออกมาตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เขียนไว้ในหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม วงเล็บ 4

ที่กระบวนการตรากฎหมาย ก็จะต้องมีการแก้ไข-ยกเลิก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ที่ใช้ในปัจจุบัน ตลอดจนคำสั่ง คสช.และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาก่อนหน้านี้ซึ่งเกี่ยวกับวงการตำรวจในช่วง 2557-2561 ทั้งหมด

เมื่อเป็นร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปฏิรูปตามประเทศ ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ทำให้การผ่านออกมาเป็นกฎหมาย ทำได้แบบฟาสต์แทร็ก คือชงเข้าที่ประชุมรัฐสภา ของ ส.ส.และ ส.ว. ตาม รธน.มาตรา 270 ไปได้เลย ไม่ต้องผ่านสภาฯ สามวาระ วุฒิสภา สามวาระ โดยขั้นตอนจึงทำให้สปีดการผ่านความเห็นชอบจะเร็วกว่ากฎหมายปกติ

แต่การประกาศใช้ ก็คงไม่ทันสมัยประชุมสภาฯรอบนี้ที่จะปิดสภา ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่ก็น่าจะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาวาระแรก ในวันที่ 9 ก.พ.นี้ แน่นอน

อย่างไรก็ตาม เมื่อร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เข้าไปสู่การพิจารณาของรัฐสภา ต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิดว่า สุดท้ายแล้ว ส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภา จะมีการผลักดันแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ออกมาอย่างไร

จะทำให้มันดีขึ้น กว่าร่างที่รัฐบาลส่งมา หรือจะยิ่งทำให้แย่ลงไปอีก ที่เรียกกันว่า แปลงสาร ยำเละ ทำให้ แย่ และเละเทะ จนแทนที่จะเป็นการออกกฎหมายเพื่อปฏิรูปตำรวจ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว กลับเป็นในทางตรงกันข้าม

ซึ่งหลักสำคัญของการปฏิรูปตำรวจที่มีเสียงเรียกร้องมาตลอด คือต้องการให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของตำรวจ ที่เป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมได้ทุกมิติ โดยเฉพาะสามแท่งใหญ่ คือ งานสอบสวน งานสืบสวน งานบริหารส่วนบุคคลแต่งตั้งโยกย้าย

เบื้องต้น ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน เปรียบเทียบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเดือนหน้า กับร่างของกรรมการชุดซือแป๋มีชัย ฤชุพันธุ์ แล้ว ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นร่างฉบับแปลงสาร

เพราะสารัตถะไม่ตรงกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง (4) ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม แต่มีการเขียนออกมาในลักษณะที่จะทำให้ยิ่งถอยห่างออกจากเป้าหมาย ที่ต้องการให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด

พูดง่ายๆ คือ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จะไม่ใช่ฉบับปฏิรูปตำรวจ แต่เป็นฉบับปฏิลวง เพราะตำรวจบิ๊กๆ ในรั้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยายามจะไม่ให้มีการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญ เลยแปลงสาร หมกเม็ด ซ่อนเร้น และเร่งรีบ จะให้ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย

สุดท้ายแล้ว หากร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับนี้ประกาศใช้ออกมา ก็ไม่ได้เป็นกลไกนำไปสู่การปฏิรูปวงการสีกากี และกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำแต่อย่างใด

จุดแปลงสาร ที่นำไปสู่การปฏิลวงตำรวจ ปรากฏอยู่หลายจุดเมื่อเทียบกับร่างเดิมของนายมีชัย ที่มีการฆ่าตัดตอน เอาเรื่องสำคัญออกไป เช่น

-หลักเกณฑ์นายตำรวจอารักขาบุคคลสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาสูญเสียกำลังพลตำรวจไปติดตามบุคคลต่าง ๆ ร่างใหม่มีการตัดออก-องค์ประกอบ ก.ตร.ที่เปลี่ยนให้มีผลเป็นการเพิ่มสัดส่วนของกรรมการจากตำรวจให้มากขึ้น

-การบริหารภายในสายงานสอบสวน – จากให้มีผู้บังคับบัญชาของสายงานสอบสวนโดยเฉพาะ ก็เขียนใหม่ออกมา เป็นให้ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาทั่วไปเหมือนเดิม-เกณฑ์การย้ายข้ามสายงานหรือข้ามกองบัญชาการที่มีความเข้มข้นน้อยลง

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับผ่าน ครม.ที่ไม่เหมือนกับร่างของ กรรมการชุดมีชัย เพราะมีการไปลดความเข้มข้นในการปฏิรูปตำรวจให้ลดน้อยลง

สรุปว่า เรื่องไหนที่ตามร่างของกรรมการชุดมีชัย จะทำให้บิ๊กๆ ในรั้วปทุมวัน อำนาจในมือลดน้อยลง เสียประโยชน์ ก็มีการดัดแปลงแก้ไข หรือไม่ก็ตัดออกแบบเนียนๆ

หาก ส.ส.และ ส.ว.เสียงส่วนใหญ่ เอาด้วยกับร่างที่ ครม.เห็นชอบมาทั้งหมด โดยไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบางเรื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และเดินไปตามแนวปฏิรูปตำรวจที่สังคมต้องการเห็น

เท่ากับกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช.มาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน เวลาที่สูญเสียไปหกปีกว่า ผ่านไปกับการซื้อเวลา ผ่านไปการตั้งคณะกรรมปฏิรูปตำรวจ-กระบวนการยุติธรรมหลายชุด

สุดท้ายแล้ว ความคาดหวังของสังคมที่ต้องการเห็นการปฏิรูปตำรวจ มันก็คือ ความว่างเปล่า


กำลังโหลดความคิดเห็น