สองแง่สองมุม “อัษฎางค์” ถาม “ป๊อกยะบุตร” จบปริญญาเอกกฎหมายเพียงเพื่อเอามาโกหกหลอกลวงคนแค่นั้นหรือ กรณีสถาบันเทียบเท่าคนธรรมดา “วิญญัติ” ตอบ “ท่านใหม่” แทน “ตุลาการ” ต้องให้ความ “เป็นธรรม”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(3 ก.พ.64) นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
“ประมุขของชาติไม่ใช่บุคคลธรรมดา” อย่าปล่อยให้ป๊อกยะบุตรแหกตา
ป๊อกยะบุตร เป็นรองศาสตราจารย์ดอกเตอร์ทางด้านกฎหมาย ที่มักพูดเรื่องกฎหมายเหมือนคนไม่รู้กฎหมาย
ป๊อกยะบุตร เสนอว่า การคุ้มครองพระมหากษัตริย์ให้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเหมือนบุคคลธรรมดาก็ได้
แต่ความจริง คือ...
1. ผู้ที่เป็นประมุขของประเทศ ไม่ว่าประเทศใดในโลก ทั้งที่เป็นพระมหากษัตริย์หรือประธานาธิบดี มิใช่บุคคลธรรมดา แต่อยู่ในฐานะประมุขของประเทศ
2. ป๊อกยะบุตร ควรเอาปริญญาไปคืน แล้วกลับไปเรียนวิชาหลักกฎหมายพื้นฐานของนักศึกษาปี 1 ใหม่ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า...
ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี"
ซึ่งการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ “เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499”
แปลเป็นภาษาชาวบ้านได้ว่า...
การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของชาติ “เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในประมวลกฎหมายอาญา”
ซึ่งต่างกับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ที่ไม่เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในประมวลกฎหมายอาญา
3. ทำไมถึงใช้กฎหมายหมิ่นประมาทของบุคคลธรรมดากับพระมหากษัตริย์ไม่ได้
คำตอบที่นักศึกษาเรียนกันมาตั้งแต่ปี 1 ยังตอบได้คือ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถฟ้องร้องผู้ใดได้ เหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป
ดังนั้นจึงต้องมีกฎหมายปกป้ององค์พระประมุขไม่ให้ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย
4. ป๊อกยะบุตร หลอกว่า “ยกเลิก ม.112 จะช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้”
จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ได้อย่างไร หากคณะทรราษฎร์ปลดแอกและตลาดหลวง ระดมผีดิบไร้สมองและจิตวิญญาณ จัดทัวร์มาลง และฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ ด้วยคดีความที่ให้ร้ายป้ายสีมากมากมโหฬาร
ยอมรับมาดีๆ เถอะว่า ทั้งตัวป๊อกยะบุตรเอง และสาวกผีดิบผู้ที่มีเป้าประสงค์จะยกเลิก ม.112 ไม่ได้มีประสงค์ที่จะช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้
แต่มีจุดประสงค์ตรงกันข้าม
โกหกคนหน้าโง่ได้ แต่โกหกตัวเองไม่ได้หรอกจริงมั้ยป๊อก เพราะตัวเองไม่ได้หน้าโง่
ป๊อกยะบุตร เอ้ย
เรียนกฎหมายมาจนจบปริญญาเอกเพียงเพื่อจะเอามาโกหกหลอกลวงคนหน้าโง่แค่นั้นเองหรือ?
หลอกคนไทยได้ทั้งเมืองว่า
“ยกเลิก ม.112 จะช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้”
แต่หลอกตัวเองไม่ได้ใช่มั้ยละ
เพราะตัวเองมีปริญญาเอกด้านกฎหมาย
ตัวเอง ไม่ได้โง่
หลอกตัวเองไม่ได้
หลอกได้แต่พวกหน้าโง่เท่านั้น
จริงมั้ยละป๊อก.”
ขณะเดียวกัน นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชื่อดัง โพสต์ข้อความแสดงความเห็นตอบกลับ ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือ “ท่านใหม่” กรณีโพสต์ตั้งคำถามตุลาการให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ผ่านมา
โดยระบุว่า “ผมได้อ่านข่าวที่ “ท่านใหม่” ได้ถามตุลาการ ตั้งคำถามหลายข้อ ผมในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่อยู่ในสายงานทางกฎหมาย ได้เห็นกระบวนการยุติธรรมในองค์กรต่างๆ ขอตอบท่านใหม่ เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวด้วยความเคารพ ตามนี้ครับ
ข้อหนึ่ง ท่านใหม่ ต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ที่รัฐธรรมนูญหลายฉบับได้บัญญัติคุ้มครองบุคคลในคดีอาญาไว้ตาม มาตรา 29 ว่า
“บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้
ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี
ในคดีอาญา จะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้
คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ “การที่ผู้พิพากษาหรือตุลาการในศาลยุติธรรม ท่านทำหน้าที่ด้วยความอิสระ ปราศจากการครอบงำ พิจารณาอรรถคดี คำสั่งต่างๆด้วยอำนาจดุลพินิจภายใต้รัฐธรรมนูญ การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหาที่ยังต้องสันนิษฐานว่าเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ย่อมเป็นไปตามสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา จะถือว่าปฏิบัติหน้าที่จงใจหรือประมาทเลินเล่อในการทำหน้าที่ได้อย่างไร?
ข้อสอง เมื่อผู้พิพากษาท่านใช้ดุลพินิจตามกฎหมายโดยยึดหลักการให้ความคุ้มครองสิทธิของประชาชนเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะข้อหาหรือฐานความผิดใด การที่จะมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษท่านผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่เช่นนี้ ย่อมเป็นการแจ้งความเท็จเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ และเข้าข่ายเป็นการดูหมิ่นศาลด้วย
ข้อสาม การให้ประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวในระหว่างสืบสวนสอบสวน ซึ่งผู้พิพากษาท่านมีหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายตำรวจและอัยการ ถือเป็นเรื่องที่ชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมาย การใช้ดุลพินิจปล่อยชั่วคราวจึงไม่ใช่เป็นการปล่อยให้ผู้ใดไปกระทำผิดซ้ำ เพราะบางกรณีอาจมีเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว หรือหากไม่มีเงื่อนไขก็มิใช่ว่าท่านผู้พิพากษาจะไปมีส่วนร่วม สนับสนุน ช่วยเหลือ ผู้ใดให้กระทำความผิดตามที่จะตั้งข้อหาแต่อย่างใด
ข้อสี่ การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อองค์พระมหากษัตริย์เป็นไปตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ อันเป็นพิธีการตามข้อบัญญัติ แต่มิใช่กรณีปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีโดยไม่รักษาความยุติธรรม และมิได้หมายความว่า ผู้พิพากษาที่ปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจมีความเป็นอิสระของตนตามกฎหมายจะต้องกระทำหน้าที่ภายใต้การแอบอ้าง ครอบงำ ดำเนินการใดๆอันเป็นการลดความเป็นอิสระและเป็นกลางของท่านลงได้ มิเช่นนั้นก็ไม่อิสระจริง ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ท่านดำรงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย
ข้อห้า การที่ท่านหรือบุคคลใดจะใช้ความรู้สึกส่วนตัววัดการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาหรือตุลาการย่อมเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและคุณธรรมในจิตใจ ผู้พิพากษาในอุดมคติที่ผมเข้าใจ คือท่านจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ว่าทางใดๆ แม้จะมีสถานการณ์เกิดขึ้นในบ้านเมือง ก็ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง แม้ผู้พิพากษาแต่ละท่านจะมีสิทธิคิดและมีสิทธิแสดงออก แต่เมื่อท่านทำหน้าที่เป็นตุลาการ เชื่อว่าท่านจะใช้ดุลพินิจอย่างเที่ยงธรรม ปราศจากอคติเจือปนในการใช้อำนาจดุลพินิจ เพราะนั่นอาจเป็นการเสียความยุติธรรม เสื่อมเสียเกียรติยศต่อผู้พิพากษาท่านนั้นเองและต่อสถาบันตุลาการด้วย
ข้อหก ท่านเป็นใคร ในชีวิตของผู้พิพากษาแต่ละท่าน กว่าจะเรียนจบวิชากฎหมาย สอบเนติบัณฑิตไทย กว่าจะสอบได้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา เป็นผู้พิพากษาประจำศาล เป็นผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นเลื่อนลำดับขึ้นไปถึงชั้นผู้ใหญ่นั้น การสอบแข่งขันแต่ละขั้นบันไดเป็นเรื่องที่ท่านรับผิดชอบเฉพาะตัว ทั้งต้องมีความวิริยะ อุตสาหะ อดทน ฝ่าฟันมากมาย กว่าจะประสบความสำเร็จได้ก็ล้วนแต่ใช้ความเป็นมนุษย์ต่อสู้มาด้วยความยากลำบากทั้งสิ้น ท่านบอกว่าถามในฐานะประชาชน ท่านก็ต้องเข้าใจถึงหน้าที่ของพลเมืองที่ดีและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคน รวมถึงท่านผู้พิพากษาด้วยเช่นกัน มีเรื่องใดที่ไม่ถูกใจหรือขัดความรู้สึกตนและจะยัดเยียดข้อหาความผิดทางอาญา หรือจะดูหมิ่นดูแคลนกันอย่างไรก็ได้หรือ ?”
แน่นอน, เวลานี้คนไทยอาจเริ่มสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลายอย่าง และล้วนมีผลกระทบกับคนไทยในท้ายที่สุดทั้งสิ้น ส่วนจะหนัก-เบาแค่ไหน วันนี้ยังไม่อาจคาดเดาได้
ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยให้คนไทยกระจ่างชัด ไม่ว่าเรื่องอะไร นับเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด ที่จะต้องช่วยกันอธิบาย ไม่ใช่มุ่งเอาชนะกันเท่านั้น
รวมถึงประเด็นแก้ ม.112 สิ่งที่จะต้องทำความกระจ่างก็คือ มีความจำเป็นอะไรเร่งด่วนหรือไม่ ที่จะต้องแก้เรื่องนี้ เมื่อเทียบกับ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสถาบัน ดึงสถาบันมาเกี่ยวข้องกับประเด็นเรียกร้องทางการเมือง อะไรง่ายกว่ากัน หรือคนไทยส่วนใหญ่เห็นด้วยมากกว่า
เพราะอย่าลืม คนส่วนใหญ่ไม่พร้อมที่จะให้ปฏิรูปสถาบันแน่นอน หรือถ้าคิดล้มล้าง ก็ต้องตายไปข้างหนึ่ง สิ่งนี้ทุกคนรู้อยู่แก่ใจ ถ้าเป็นคนไทย ดังนั้น ต้องยอมรับความจริง มิใช่สร้างเรื่องหลอกลวง บิดเบือน อย่างที่ “อัษฎางค์” มีความเห็นต่อการกระทำของ “ปิยบุตร” เพราะนั่นเท่ากับยิ่งทำให้คนไทยแตกแยกกันเองมากยิ่งขึ้น
เหนืออื่นใด ทุกเรื่องอย่าคิดว่า ตนเองฉลาด รู้มาก รู้ครอบจักรวาลอยู่คนเดียว เพราะนั่นคือ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น กับคนบางกลุ่ม ที่กำลังคิดต่อสู้ในเรื่องที่รู้ทั้งรู้ว่า คนไทยทั้งประเทศไม่พร้อมยอมรับ แต่ก็พยายามจะหักหาญเอาให้ได้ คิดดูให้ดี!?