xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ระบบทราบผลงานปราบยาเสพติดปี 63 ยึดทรัพย์ผู้กระทำผิดกว่า 2.1 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบผลงานป้องกันปราบปรามยาเสพติด ปี 63 ยึดทรัพย์ผู้กระทำผิดกว่า 2.1 พันล้านบาท

วันนี้ (2 ก.พ.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2563 ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้

1. มาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเปิดปฏิบัติการร่วมสามเหลี่ยมทองคำ 1511 ภายใต้แผนปฏิบัติการรวมแม่น้ำโขงปลอดภัยเพื่อควบคุมยาเสพติด 6 ประเภท ระยะ 4 ปี (ปี 2562-2565) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน สามารถยึดยาเสพติดได้ เช่น ยาบ้า 486 ล้านเม็ด ไอซ์ 3.75 หมื่นกิโลกรัม เฮโรอีน 3.52 พันกิโลกรัม และสารตั้งต้น 1.5 หมื่นกิโลกรัม ซึ่งปริมาณสารตั้งต้นที่ยึดได้นั้น สามารถตัดตอนการผลิตยาบ้าได้กว่า 200 ล้านเม็ด

2. มาตรการปราบปรามและการบังคับใช้กฎหมาย โดยมุ่งเน้นทำลายกลุ่มเครือข่ายนักค้ายาเสพติดรายสำคัญรวมทั้งบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งสามารถจับกุมคดียาเสพติดในภาพรวมได้ 324,552 คดี สามารถยึดทรัพย์สินผู้กระทำความผิดรวม 1,853 ราย มูลค่ากว่า 2,107.75 ล้านบาท โดยมีคำสั่งยึดทรัพย์สินแล้ว 790.57 ล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการ 1,317.18 ล้านบาท

3. มาตรการป้องกันยาเสพติด ดำเนินการภายใต้ 3 แนวทาง คือ 1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้านตามแนวชายแดน โดยจัดตั้งชุดปฏิบัติการดำเนินการเสริมสร้างความเข้มแข็งในหมู่บ้านตามแนวชายแดนทั้งหมด 1,140 หมู่บ้าน 2) การป้องกันยาเสพติด มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชนไม่ให้เป็นเป้าหมายของขบวนการค้ายาเสพติด เน้นสร้างการรับรู้ เพิ่มภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันและลดผู้เสพยารายใหม่ เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ตรวจสอบสารเสพติดจากเส้นผมในกลุ่มเยาวชน พบว่ามีการใช้ยาเสพติดลดลง และการเสพติดซ้ำก็ลดลง 3) การปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยเน้นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจำนวน 5,406 ตำบล เพื่อป้องกันยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน แรงงาน และประชาชนทั่วไป

4. มาตรการบำบัดรักษายาเสพติด เน้นการดูแลผู้ติดยาเสพติดเข้าถึงการบำบัดและการลดอันตรายหรือผลกระทบจากยาเสพติด โดยส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลภายหลังการบำบัด รวมถึงให้กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เข้ามามีบทบาทในการติดตามดูแลและเฝ้าระวัง เช่น การจัดตั้งคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในระบบศาล จำนวน 25 แห่ง การพัฒนาศักยภาพศูนย์บริการลดอันตรายจากยาเสพติดภาคประชาสังคม ซึ่งสามารถนำผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด 190,394 ราย รับบริการเพื่อลดอันตรายจากยาเสพติด 35,083 ราย ติดตามดูแลผู้ผ่านการบำบัด 193,003 ราย และให้ความช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด 3,030 ราย

5. มาตรการบริหารจัดการอย่างบูรณาการที่สำคัญ เช่น 1) การพัฒนาพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยเสนอร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... 2) การขับเคลื่อนการดำเนินการกัญชง โดยปี 2563 มีพื้นที่ขออนุญาตปลูกกัญชงของหน่วยงานรัฐ เพื่อวิจัยสำหรับการใช้สอยในครัวเรือนและเมล็ดพันธุ์ รวม 601 ไร่ 156 ตารางเมตร ซึ่งอยู่ใน 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ 131 ไร่ เชียงราย 94 ไร่ ตาก 376 ไร่ ปทุมธานี 156 ตารางเมตร และ 3) การขับเคลื่อนนโยบายกัญชา โดยเน้นพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์การวิจัย และเป็นทางเลือกแก่ผู้ป่วย โดยมีการขออนุญาตจาก 13 หน่วยงาน เพื่อนำของกลางกัญชาที่ยึดได้ไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยรวม 3,866 กิโลกรัม


กำลังโหลดความคิดเห็น