เมืองไทย 360 องศา
ก็ถือว่าเป็นการยืนยันอีกครั้งแบบชัดเจนว่า ประชาชนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดให้การสนับสนุนการคงอยู่ และการบังคับใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ให้ถูกดูหมิ่น หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกต่อไป
โดยเป็นการยืนยันผ่านผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดย “ซูเปอร์โพล” ที่มีการเผยแพร่ เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา โดย นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยดังกล่าว ได้นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่องกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กับมาตรา 112 โดยศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,807 ตัวอย่าง เมื่อถามถึงความเห็นต่อดีอีเอส กรณีแจ้งความดำเนินคดี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และคนอื่นๆ ในขบวนการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พบว่า ส่วนใหญ่ หรือ 97.4% เห็นด้วย ในขณะที่ 2.6% ไม่เห็นด้วย
และเมื่อสอบถามถึงการบังคับใช้กฎหมายตาม มาตรา 112 เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องใช้สิทธิตามกฎหมายบ้านเมืองเพื่อความสงบสุขของประเทศและประชาชน ไม่ใช่เรื่องการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 93% เห็นด้วยว่า เป็นเรื่องสิทธิของแต่ละคนตามกฎหมายบ้านเมืองเพื่อความสงบสุขของประเทศและประชาชนมากกว่า ไม่ใช่เรื่องการเมือง ในขณะที่เพียง 7% ไม่เห็นด้วย
ที่น่าสนใจคือ หลังจาก นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส บังคับใช้กฎหมายตาม มาตรา 112 พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 97.7% พอใจ นายพุทธิพงษ์ ในขณะที่ 2.3% ไม่พอใจ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ หรือ 98.4% สนับสนุนนายพุทธิพงษ์ จัดการกวาดให้เรียบพวกขบวนการจาบจ้วง ล่วงละเมิด คุกคามในหลวงและทุกพระองค์ในสถาบันหลักของชาติ ในขณะที่เพียง 1.6% ไม่สนับสนุน
“ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือ 75% ระบุเป็นไปได้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ที่คนในชาติจะแตกแยกมากขึ้น ถ้าปล่อยให้มีการล่วงละเมิด จาบจ้วง คุกคามในหลวงและทุกพระองค์ในสถาบันหลักของชาติ ในขณะที่ 14.3% ระบุเป็นไปได้ปานกลาง และ 10.7% ระบุเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย ถึงเป็นไปไม่ได้เลย”
ผลโพลครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ดีอีเอสโดย นายพุทธิพงษ์ กำลังทำตามความคาดหวัง และการสนับสนุนของประชาชนในการออกมาปกป้องรักษาเสาหลักของชาติ เพื่อยับยั้งขบวนการที่ใช้ข้อมูลเท็จหวังทำลายสถาบันหลักของชาติ หรือทำให้สั่นคลอน และสร้างความแตกแยกของคนในชาติ ประชาชนส่วนใหญ่จึงสนับสนุนนายพุทธิพงษ์ ใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิทุกคน และเป็นกลไกของประเทศเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ใช้สิทธิตามกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม โดยทุกคนย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย แนวทางนี้ จึงไม่ใช่เรื่องการเมืองและไม่ใช่การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ก็ต้องถือว่าเป็นความชัดเจนที่ตอกย้ำให้เห็นว่า ความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ที่ “เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์” ให้การสนับสนุนให้ดำเนินคดีกับคนที่มีเจตนา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในความผิดตาม มาตรา 112 และยังเห็นด้วยอีกว่า การเร่งดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำจาบจ้วงฯ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่ และเห็นว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ให้ถูกคุกคาม และ สร้างความแตกแยกในชาติหากยังนิ่งเฉย
อีกด้านหนึ่ง มันก็เหมือนเป็นการ “ตบหน้า” อย่างจังกับพวก “ขบวนการล้มเจ้า” ทั้งในและนอกประเทศ ที่พยายามสร้างกระแส การเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไข หรือ “ยกเลิก” มาตรา 112 โดยอ้างว่าเป็นการขัดขวางสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยที่ผ่านมามีความพยายามเคลื่อนไหวประสานงานกันโดยหลายกลุ่ม คู่ขนานกันทั้งในและนอกสภา ในการบั่นทอนและดิสเครดิตสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง
แต่ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา ก็มีการสะท้อนกลับให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านทางการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น เช่น การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ผ่านมา ที่ผลปรากฏอย่างชัดเจนออกมาว่า ผู้สมัครของ “คณะก้าวหน้า” ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่เคลื่อนไหวในลักษณะเป็น “ปฏิปักษ์” กับสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด มีอันต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งแบบหมดรูป นั่นคือ ไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาได้สักคนเดียว
มันก็ย่อมสะท้อนภาพให้เห็นชัดเจนมาแล้วว่า ประชาชนปฏิเสธการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามที่คุกคามบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ และอีกมุมหนึ่งมันสะท้อนให้เห็นเช่นเดียวกัน มันไม่จริงที่อ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เพราะไม่มีใครต้องเดือดร้อน หากไม่ไป “ดูหมิ่น” หรือมีเจตนาจาบจ้วง อีกทั้งการคงอยู่ของมาตราดังกล่าว ก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง
เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ โจมตีทางการเมือง หรือนักการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาล การบริหารบ้านเมือง ก็ยังมีสิทธิ์อย่างเต็มที่ตามกฎหมาย ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น และที่สำคัญ บุคคลเหล่านั้นที่ถูกกล่าวหา ก็สามารถใช้สิทธิ์ตามกฎหมายดำเนินคดีเพื่อปกป้องตัวเองได้
แต่สำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อาจใช้วิธีการแบบนั้นได้ เพราะคงไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะต้องให้ฟ้องร้อง หรือขึ้นโรงพักเพื่อดำเนินคดีกับฝ่ายที่จาบจ้วง ดังนั้น จึงเหมาะสมแล้วที่ต้องใช้กฎหมายคุ้มครอง เหมือนกับทุกประเทศที่มีบทบัญญัติในการปกป้องคุ้มครอง “ประมุขของชาติ” และของไทยก็ในฐานะที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ก็ต้องได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันการละเมิด
อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของบรรดากลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะที่กระทำในลักษณะของการชุมนุมของพวกที่เรียกว่า “ม็อบสามนิ้ว” ที่สังคมเข้าใจแล้วว่า มี “ผู้บงการ” อยู่เบื้องหลัง พยายามสร้างกระแสกดดันให้ยกเลิก มาตรา 112 ก็มีความเข้าใจแล้วว่า มีเจตนาเพื่อต้องการให้ “ลบล้างความผิด” ของตัวเอง เนื่องจากถูกดำเนินคดีมากมาย และเสี่ยงต่อการติดคุกสูงมาก คนพวกนี้ก็พยายามดิ้นรน แต่ก็มีคำตอบออกมาจากสังคมส่วนใหญ่ออกมาชัดเจนแล้วว่าให้ “เดินหน้าจัดการ” อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน !!