xs
xsm
sm
md
lg

“อัยการ” เริ่มสั่น สังคมตั้งคำถามเสื่อมศรัทธา !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ - เนตร นาคสุข - ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม
เมืองไทย 360 องศา

หากจะกล่าวว่าสำนักงานอัยการสูงสุด หรือเรียกว่า “อัยการ” ถูกมองว่า เป็น “แดนสนธยา” ในความหมายที่เข้าใจว่า “เป็นองค์กรค่อนข้างปิด” และเข้าถึงยาก รวมไปถึงความหมายที่ว่า “ไม่อยากเข้าถึง” อะไรประมาณนั้นก็ได้ ซึ่งด้วยภารกิจทางกฎหมายในช่วงที่ผ่านมา การมองภาพแบบนั้น อาจเป็นเพราะลักษณะงานไม่ค่อยได้ใกล้ชิดกับชาวบ้านประจำวันเท่าไรนัก หากเปรียบเทียบกับบางหน่วยงานอย่าง เช่น ตำรวจ

อย่างไรก็ดี ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สังคมเข้าสู่ยุคโซเชียลฯ มีการเชื่อมโยงข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว มีการสืบค้นหลักฐานคดีต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง จนหลายครั้งทำให้หลายหน่วยงานต้องปรับการทำงานให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้นกว่าเดิม
สำหรับองค์กรอัยการก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าที่ผ่านมาพยายามเปลี่ยนแปลงการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม มีการแถลงชี้แจงข้อสงสัยจากสังคมได้รวดเร็ว มีทีมโฆษกเป็นการเฉพาะ รวมไปถึงการแถลงกันแบบเฉพาะกิจในบางเรื่องที่ “ร้อนๆ” ก็เคยเห็นมาแล้ว ส่วนเมื่อชี้แจงแล้วสังคมจะ “เคลียร์” หรือหายข้องใจ หรือข้องใจหนักกว่าเดิมหรือไม่ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง
แต่เอาเป็นว่าสิ่งที่ต้องพิจารณากันในเวลานี้ ก็คือ สำนักงานอัยการสูงสุด หรือ “อัยการ” หรืออาจรวมไปถึงตัวของ “อัยการสูงสุด” นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ เองด้วยที่ต้องตอบคำถามความข้องใจจากสังคมในเรื่องสำคัญนี้ นั่นคือ การโยกย้ายในบางตำแหน่งของหน่วยงานแห่งนี้ที่ถือว่า “ยังไม่เคลียร์” สำหรับสายตาชาวบ้านที่ติดตามเรื่องราวมาตั้งแต่ต้น
แน่นอนว่า หากย้อนกลับไป หลายคนคงจำกันได้กับการโยกย้ายพนักงานอัยการในบางตำแหน่งที่น่าจะ “ขัดความรู้สึก” หรือถูกตั้งคำถามจากการแต่งตั้งโยกย้าย “นายเนตร นาคสุข” อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นอัยการอาวุโส และ “นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม” อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ ซึ่งเป็นตำแหน่งนักบริหารระดับสูง และถือว่าเป็นการแต่งตั้งที่ถูกมองว่าเป็นตำแหน่งที่สูงขึ้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 มกราคม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ออกจดหมายเปิดผนึกถึง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด คัดค้านการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวในลักษณะที่เห็นว่าเป็นการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น โดยมองว่าพวกเขา “ยังไม่พ้นจากการพิสูจน์มลทินมัวหมอง” และยังเห็นว่า การแต่งตั้งแบบนี้ เป็นการ “ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ” อีกด้วย
เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ระบุว่า การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงของสำนักงานอัยการซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของขบวนการยุติธรรมของประเทศเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะเป็นที่รวมของความเชื่อมั่นศรัทธา ดังนั้น กรณีการแต่งตั้งดังกล่าวจึงสร้างความกังวลใจให้กับประชาชนไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอัยการทั้งสองท่านนั้นยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบความผิด จากกรณีที่ นายเนตร นาคสุข ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรองอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ส่วนกรณี นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม เป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานขับขี่ รถขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับอันตรายแก่กาย จิตใจ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะปกป้องสังคม มิให้ผู้ที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง อีกทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด ยังมีพันธกิจข้อหนึ่งในการ “พัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพคู่คุณธรรมตามหลักธรรมาภิบาล บุคลากร มีสมรรถนะสูง มีคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ซึ่งพันธกิจเช่นนี้ จะมีความหมาย และเป็นที่ยอมรับของประชาชนได้ จำต้องพิสูจน์โดยการกระทำจริง นั่นรวมถึงการแต่งตั้งข้าราชการอัยการ และอัยการอาวุโส โดยยึดหลักการดังกล่าวด้วย
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม หากยังจำกันได้เคยมีรายงานว่าทางองคมนตรี และสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตีกลับบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายทั้งสองตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยยังไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยให้กลับไปทบทวนรายชื่อใหม่ อย่างไรก็ดี หลังจากที่ทางคณะกรรมการอัยการ (กอ.) ได้มีการประชุมด้วยวาระเร่งด่วน ก็มีรายงานกลับมาว่า “ยังยืนยันเสนอแต่งตั้งบุคคลทั้งสองคนไม่เปลี่ยนแปลง” โดยทาง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ได้ขอชี้แจงเหตุผลด้วยตัวเอง
แน่นอนว่า หากพิจารณากันตามกฎหมายและอำนาจ ก็ยังเชื่อว่า เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย อีกทั้งหากพิจารณาแค่ว่า ตราบใดที่การสอบสวนหรือคดียังไม่สิ้นสุดก็ยังถือว่าไม่ผิด แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปก็คือ “ความเหมาะสม” เพราะกรณีของทั้งคู่ถือว่า “มัวหมอง” ในสายตาของประชาชน
รายแรกคือ นายเนตร นาคสุข ถูกสังคมตั้งข้อสงสัยในกรณีสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังที่ขับรถชนตำรวจถึงแก่ความตาย แม้ว่าเป็นดุลพินิจตามกฎหมาย แต่หากมองกันด้วยสายตาปกติก็ย่อมมองเห็นความไม่ปกติเกิดขึ้นแน่นอน ขณะที่รายหลังถูกดำเนินคดีจากกรณี “เมาแล้วขับ” ทำให้ต้องตอบคำถามมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า เพราะนี่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ที่ต้องอยู่เหนือกฎหมายหรือเปล่า
กรณีที่เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งโยกย้ายของสำนักงานอัยการสูงสุดในครั้งนี้ ได้สร้างความเคลือบแคลงสงสัย และสวนความรู้สึกของสังคมอีกครั้ง โดยเฉพาะกับสองตำแหน่ง คือ การแต่งตั้ง นายเนตร นาคสุข และ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม เพราะเป็นลักษณะที่ถูกมองว่าเป็นการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น และกรณีนี้น่าจะเป็นการ “สะสมแต้ม” เพื่อเพิ่มการเร่งเร้าให้เกิดการ “ปฏิรูป” กระบวนการยุติธรรม ที่พ่วงอัยการเข้าไปด้วย !!



กำลังโหลดความคิดเห็น