เมืองไทย 360 องศา
เชื่อว่าหากไม่มีโรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ กระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะต้องมีกระแสพุ่งแรงอีกครั้งแน่นอน แม้ว่าจะว่าไปแล้วสาเหตุของการระบาดของโรคดังกล่าวในรอบใหม่ที่ทำท่าหนักหนาสาหัสกว่าเดิม ก็ล้วนมาจากหน่วยงานเหล่านี้
เช่น กรณีของตำรวจก็มาจากเรื่อง “บ่อนการพนัน” กลางเมือง ที่ถูกระบุว่า มีการระบาดในบ่อนที่จังหวัดระยอง และชลบุรี รวมไปถึงเรื่อง “ส่วยแรงงานต่างด้าว” เป็นต้น
ขณะที่ฝ่ายอัยการที่อื้อฉาวในเวลานี้ ก็คือ การเสนอชื่อคนที่มี “มลทิน” ขึ้นทูลเกล้าฯ แบบไม่เกรงใจใคร จนถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคัดกรอง ตรวจพบรายชื่อ และตีกลับลงมาจนเรื่องเกิดแดงขึ้นมาอีกรอบ ซึ่งตามรายงานระบุว่า รายชื่อที่มีปัญหามีจำนวนสองราย ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นเจ้าเก่าสองรายที่สังคมรู้จักจดจำชื่อกันได้ดี คือ “นายเนตร นาคสุข” รองอัยการสูงสุด ที่ถูกคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เห็นชอบให้เสนอชื่อแต่งตั้งให้เป็นอัยการอาวุโส สำนักงานคดีอาญาพระโขนง โดยยังอยู่ระหว่างการถูกคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย กรณีสั่งไม่ฟ้อง “บอส” วรยุทธ อยู่วิทยา ในคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555
ส่วนอีกรายคือ “นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม” อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี ที่เคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้น และอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีขับรถยนต์ขณะมึนเมา เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจการอัยการ
แน่นอนว่า สำหรับกรณีการแต่งตั้งอัยการดังกล่าวทั้งสองราย ก็คงจะมาจากความเห็นที่ว่า เป็นเพราะ “คดียังไม่ถึงที่สุด” อะไรประมาณนั้น เมื่อยังไม่มีคำชี้ขาดออกมาก็ยังถือว่าเป็น “ผู้บริสุทธิ์” หรือเปล่า
แม้ว่าอาจเป็นคนละเรื่อง คนละความรู้สึกของสังคมก็ตาม ก็อาจ “ไม่แคร์” ก็ได้ เพราะหากพิจารณาตามกฎหมายก็อาจทำได้ แต่สิ่งที่ต้องพิจารณากันให้ดี ก็คือ “ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป” สิ่งที่เป็นกระแสสังคมกำลังจับจ้องแบบตาไม่กะพริบ หาก “ฝืน” กันไปมันก็อาจ “พังกันยวง” ก็ได้
หากพิจารณากันแบบรวบยอดในเวลานี้ก็ต้องถือว่า หน่วยงานตำรวจ ยัง “มาแรง” รักษาระดับในเรื่องภาพลักษณ์ที่ “ติดลบ” ในสายตาประชาชนมาได้อย่างคงเส้นคงวา และหากลองตั้งคำถามว่า หากจะให้มีการปฏิรูปองค์กรใดมากที่สุด คำตอบก็คงไม่ผิดไปจากใจนึก นั่นคือ ตำรวจต้องติดอยู่ในลำดับต้นๆ แน่นอน แม้ตามความรู้สึกยังเชื่อว่าต้องมาที่หนึ่งแน่นอน แต่เพื่อไม่อยากทำร้ายจิตใจกันมากเกินไป ก็เอาประมาณนี้ไปก่อน นั่นคือ “ติดโผด้านลบ” ทุกรายการนั่นแหละ
สำหรับกระแสเรียกร้องให้กลับมาปฏิรูปตำรวจดังกระหึ่มอีกครั้ง ล่าสุดเกิดกรณี “บ่อนระยอง” ที่กลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบใหม่ ซึ่งในตอนแรกที่มีการเปิดโปงขึ้นมา ทางฝ่ายผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ ยืนกรานว่า “ไม่มีบ่อน” แถมยังชี้แจงแบบว่า “มีแต่บ่อนที่ลักลอบ” ขึ้นมาจนเรียกเสียงหัวเราะดังครืน และในที่สุดทางผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไป ก็ต้องสั่งย้ายผู้บังคับการจังหวัดระยองออกไป พร้อมกับความรู้สึกที่เฉยชาของสังคม เนื่องจากไม่เห็นประโยชน์อะไร
เหมือนกับกรณีที่มีการจับบ่อนเกิดขึ้นจากหน่วยงานอื่น วันรุ่งขึ้นก็ให้ผู้กับสถานีตำรวจแห่งนั้นพร้อมด้วยระดับรองลงมา เก็บกระเป๋าย้ายออกไปได้เลย แต่จะมีคำถามตามมาว่า “ย้ายเพื่ออะไร” เนื่องจากพบว่าหลังจากนั้นไม่นาน พอเรื่องเงียบนายตำรวจเหล่านั้นก็จะไปดำรงตำแหน่งใหม่ ได้ดิบได้ดี มีตำแหน่งที่สูงขึ้น
แน่นอนว่า หากมีเรื่อง “บ่อน” เรื่อง “ซ่อง” รวมไปถึงแหล่งอบายมุขอื่นๆ อีกทั้งเรื่อง “แรงงานเถื่อน” ความรู้สึกที่ลอยลมมาเสมอ ก็คือ “ส่วย” ที่ต้องจ่ายให้กับตำรวจ รวมไปถึงหน่วยงานฝ่ายปกครองและความมั่นคง เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องโฟกัสไปที่การทำหน้าที่ของตำรวจก่อน เพราะเป็นกระบวนการยุติธรรมต้นทาง ที่สร้างเรื่องอื้อฉาวจนกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปองค์กรนี้แบบ “ขาดผึง” ทันทีก็คือ กรณีบิดเบือน เตะถ่วงคดีของ “บอส” วรยุทธ อยู่วิทยา นั่นแหละ
และกรณีดังกล่าวมาเชื่อมโยงกับหน่วยงานอัยการ ที่แม้ว่าที่ผ่านมาหากเทียบเคียงความรู้สึกกันกับหน่วยงานตำรวจ ฝ่ายอัยการอาจยังเป็นรอง ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันแบบเช้ายันค่ำทุกวัน แต่สำหรับในทางคดีสังคมก็มักมองด้วยสายตาเป็นลบหรือ “สงสัย” มาตลอด และที่ผ่านมา ก็มีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปไปพร้อมๆ กัน
อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงแล้วการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสองหน่วยงานนี้ โดยเฉพาะการ “ปฏิรูป” ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะเป็นองค์กรใหญ่และมี “อิทธิพลสูงมาก” ทำให้ไม่มีใครกล้าแตะ แม้ว่าที่ผ่านมาสังคมเคยตั้งความหวังกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็น “หัวหน้า คสช.” ที่มีอำนาจเต็ม ก็ทำได้เพียงแค่การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาแบบ “ซื้อเวลา” เท่านั้น แม้กระทั่งล่าสุดก่อนที่จะมีการเลือกตั้งก็มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน มีการยกร่างกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของสังคมแบบเต็มร้อย แต่ก็ถือว่า “ใช้ได้” แต่ในที่สุดก็ “แท้ง” จนได้ และไม่มีการเคลื่อนไหวมาจนบัดนี้
จนกระทั่งเกิดเรื่อง “บ่อนระยอง” ที่เป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดอยู่ในเวลานี้ เกิดเป็นกระแสให้มีการปฏิรูปตำรวจ และล่าสุด พ่วงด้วยการปฏิรูปอัยการ จากกรณีการเสนอชื่อคนที่ถือว่า “มีมลทิน” ขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญ ขึ้นทูลเกล้าฯจนถึงตีกลับไปพร้อมกัน แต่ขณะเดียวกัน ก็ถูกกระแสความหวาดกลัวของโรคระบาดกลบเรื่องราวเสียมิดไปเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่า หลังจากนี้ เสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจและอัยการ จะต้องดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องดำเนินการให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียที ไม่ใช่ซื้อเวลาด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาอีก หรือโยนให้เป็นเรื่องของสภา แต่หากพิจารณาจากไทม์ไลน์ที่ผ่านมาแล้วมองเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า เขา “ไม่กล้าแตะ” อาจเกรงจะเกิดการกระเพื่อม หรือยังต้องการใช้งานในระบบแบบเดิมอยู่ก็เป็นได้ !!