วันนี้ (9 ม.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเป็นอย่างมาก เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากจะช่วยลดผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อย และในระยะถัดไป จะช่วยให้มีสถานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากรอีกด้วย
โดยที่เมื่อวานนี้ (8 ม.ค.) มีการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน อนึ่ง ที่ประชุมได้พิจารณาแผนงาน/โครงการที่จะต้องดำเนินการร่วมกันระหว่าง 8 กระทรวง 50 หน่วยงาน 1 รัฐวิสาหกิจ เบื้องต้นจะเสนอกรอบวงเงินให้สำนักงบประมาณพิจารณา จำนวน 6.3 พันล้าน ซึ่งจะเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาร่วมกับแผนงานด้านอื่นๆ จากกระทรวงต่างๆ ก่อนเสนอ ครม. ลำดับต่อไป
สำหรับแผนบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ประจำปี 2565 ได้ตั้งกลุ่มเป้าหมายที่ 1) ประชาชนผู้มีรายได้น้อย 2) เกษตรกรรายย่อย 3) สถาบันเกษตรกร 4) วิสาหกิจชุมชน 5) ผู้ประกอบการชุมชน ครอบคลุม 7,255 ตำบลทั่วประเทศ ประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ 1) การสนับสนับสนุนการเข้าถึงปัจจัยการผลิต และการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ 2) การพัฒนาความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 3) การพัฒนาการบริหารจัดการการตลาด ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้น คือ ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการจะต้อง 1) เข้าถึงแหล่งทุนและที่ดินทำกินไม่น้อยกว่า 4.5 แสนราย 2) ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพไม่น้อยกว่า 2.5 แสนราย 3) ผลิตภัณฑ์ชาวบ้านได้รับการพัฒนาไม่น้อยกว่า 9,700 ผลิตภัณฑ์ 4) รายได้จากการจำหน่ายสินค้าชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เป็นต้น
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวด้วยว่า โครงการต่างๆ ภายใต้แผนงานการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากนี้ เป็นการทำงานและรับผิดชอบร่วมกันระหว่างกระทรวง โดยที่มีแนวทางและเป้าหมายสอดคล้องเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางของการส่งเสริมอาชีพ การเพิ่มรายได้ ภายใต้แนวคิด “การตลาดนำการผลิต” อีกทั้งยังเป็นแผนงาน/โครงการต่อเนื่อง 3-5 ปี