เอาไงกับนักเรียนเลว! “ทอน” ชมกล้าหาญ “ดร.อานนท์” เหน็บ แก้ผ้าไปโรงเรียนเถิดลูก “พุทธะอิสระ” ชี้ ใช้กำลังบีบคนหมู่มากสนองตัณหาตัวเองไม่ถูกต้อง “อดีตรองอธิการ มธ.” ดึงสติ ใช้เสรีภาพอย่างนี้ “สังคมอยู่ยาก”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (1 ธ.ค. 63) กระแสนักเรียนเลวมาแรง จากกรณีที่ภาคีนักเรียน KKC และกลุ่มนักเรียนเลว เชิญชวนนักเรียนไทยให้ใส่ชุดไพรเวตไปเรียนในวันเปิดภาคเรียนวันแรก ปีการศึกษา 2563 (1 ธันวาคม) ซึ่งเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
สำหรับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ @Thanathorn_FWP ระบุว่า
“ชื่นชมในความกล้าหาญของนักเรียนที่ใส่ชุดปกติไปโรงเรียนทุกคนในวันนี้ วัฒนธรรมแห่งการกดขี่กำลังถูกทำลายในทุกที่ ช่วยกันห้ามไม่ให้มีใครถูกดำเนินคดี/ถูกไล่ออก หรือถูกลงโทษ เพียงเพราะยืนหยัดต่อสู้ระบอบอำนาจนิยม”
ขณะเดียวกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ผู้ซึ่งเชือด “รุ้ง” นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มราษฎร เลือดนองเวที “ดีเบต” หัวข้อ “พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2561” ในรายการ “ถามตรงๆ กับจอมขวัญ” ทางไทยรัฐทีวี เมื่อไม่นาน มาแล้ว
โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “แก้ผ้าไปโรงเรียนเถิดลูก หนูอยากแต่งชุดอะไรก็แต่ง เสรีภาพ ทำลายฝ่าฝืนระเบียบได้ มันเป็นความสะใจของคนวัยนี้ ผมก็เคยเป็นมาก่อน ทำเป็นครั้งเป็นคราว มันแรงได้ใจ นะลูก เข้าใจหนูปลดแอกอยู่
แต่ทำอะไรต่อต้านสังคมเล็กๆ แล้วกลับมามีระเบียบกับตัวเองด้วยแล้วกัน
ขยันเรียน อ่านหนังสือ สอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือเรียนอะไรก็ได้ ที่ทำให้หนูมีอาชีพสุจริต เลี้ยงดูตัวเองได้นะลูก”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ “พุทธะอิสระ” อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
“นี่หรือตรรกะของเด็กเลว
ตอนชุมนุม อยากแต่งชุดนักเรียน
แต่เวลาเรียนจะแต่งชุดไพรเวต
ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ชุดนักเรียนที่ทุกคนในประเทศนี้ล้วนผ่านมาทั้งนั้น ไม่เห็นเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาใดๆ เลย
ไม่ว่าประเทศนี้จะมีนายกฯสักกี่คนที่ผ่านมา ก็ล้วนแล้วแต่แต่งชุดนักเรียนเวลาไปโรงเรียนกันทั้งนั้น
แต่ผู้ที่เรียกตนเองว่า เด็กเลว กลับไม่ยอมแต่งชุดนักเรียน
เมื่อสมัครที่จะเป็นเด็กเลว เช่นนั้น ผู้ใหญ่ดีๆ มีจิตกรุณา ควรจักช่วยกัน จัดดัดสันดานให้เด็กเลวได้มีจิตสำนึก ที่จักปรับตัวให้เข้ากับคนหมู่มากในสังคมนี้เสียบ้าง
ไม่ใช่จะใช้กำลังมาบีบบังคับ คนหมู่มากให้เปลี่ยน เพื่อสนองตัณหาของตนเองอย่างที่ทำอยู่
เมื่อกล้าที่จะเรียกตนเองเป็นเด็กเลว
ก็ต้องกล้าที่จะรับทราบข้อกล่าวหาในการเป็นเด็กเลวที่ละเมิดกฎหมาย”
ด้าน เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ของ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“วันนี้เป็นวันที่กลุ่มภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย นัดให้นักเรียนทั่วประเทศ แต่งตัวชุดไพรเวต งดแต่งเครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียน
เห็นด้วยกับนักเรียน ว่า การแต่งเครื่องแบบนักเรียน ไม่ได้เป็นการสร้างระเบียบวินัยให้เกิดขึ้นในชาติแต่อย่างใด เพราะเราแต่งเครื่องแบบนักเรียนกันมาแต่ไหนแต่ไร แต่ระเบียบวินัยของคนไทยเรา เคยหย่อนยานมาอย่างไร ก็ยังคงหย่อนยานอยู่อย่างนั้น และการแต่งเครื่องแบบก็ไม่ได้ทำให้การเรียนการสอนดีขึ้นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การจะเปลี่ยนแปลงอะไร จะต้องมองสภาพความเป็นจริงด้วย
ก่อนที่นักเรียนทุกคนจะตัดสินใจสมัครสอบเข้าเรียนในโรงเรียนที่อยากจะเข้า ทุกคนทราบถึงกฎระเบียบของโรงเรียนแต่ละโรงเรียนเป็นอย่างดี เมื่อตัดสินใจเข้ามาเป็นนักเรียนแล้ว ก็เท่ากับว่า นักเรียนทุกคนยอมรับที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียนนั้นๆ ทุกประการแล้ว
การเรียกร้องให้ยกเลิกกฎระเบียบบางข้อของโรงเรียนที่ไม่เหมาะสม ย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ และควรทำ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิกกฎระเบียบข้อนั้นๆ เราไม่ควรที่จะละเมิดกฎระเบียบโดยอ้างเสรีภาพ
หากสังคมใด คนที่อยู่ในสังคม เอาแต่ละเมิดกฎ กติกา หรือข้อตกลงที่รับรู้ร่วมกัน โดยอ้างเสรีภาพอยู่ร่ำไป สังคมนั้นจะอยู่ยาก
ในประเทศที่ถือว่า มีเสรีภาพมาก เช่น สหรัฐอเมริกา โรงเรียนของรัฐซึ่งเรียนฟรี จะไม่ค่อยมีกฎระเบียบ เช่น ไม่มีเครื่องแบบ หรือไม่บังคับเรื่องทรงผม แต่โรงเรียนเอกชน โดยเฉพาะโรงเรียนที่เรียกว่า preparatory school หรือโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นั่นแหละ จะไม่เหมือนโรงเรียนของรัฐ
โรงเรียนเหล่านี้ มีกฎระเบียบมากมาย บางโรงเรียนบังคับให้แต่งเครื่องแบบ บางโรงเรียน ไม่บังคับ แต่บังคับให้ผูกเนกไท ใส่เสื้อนอก เวลาเข้าเรียนในห้องเรียน มีช่วงเวลาที่บังคับให้นักเรียนประจำทุกคนต้องดูหนังสือ เรียกว่าเวลา study hall บังคับให้นักเรียนทุกคนเลือกเล่นกีฬา 1 ประเภท เวลาอาหาร หากใครขาด ไม่ไปทานอาหารตามเวลา ก็จะมีการลงโทษ ซึ่งไม่ใช่การตี เป็นต้น
โรงเรียนเอกชนเหล่านี้ เก็บค่าเล่าเรียนแพงมาก แต่คนอเมริกันที่มีฐานะที่จะจ่ายได้ ต่างก็อยากให้บุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ เพราะเขาเชื่อว่า บุตรหลานของเขาจะได้รับการศึกษาที่ดี
สำหรับครอบครัวที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้กฎระเบียบมากนัก หรือไม่ต้องการจ่ายค่าเล่าเรียนแพงๆ ก็เลือกที่จะให้บุตรหลานเข้าโรงเรียนของรัฐ ซึ่งไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน
เชื่อว่า ในอนาคต ประเทศไทยเราจะมีโรงเรียนทั้ง 2 แบบมากพอให้เลือกได้ แต่ในขณะที่เรายังไม่มีมากพอ และระเบียบการแต่งกายที่บังคับให้นักเรียนแต่เครื่องแบบยังไม่ได้ยกเลิก และหากเรายังต้องการอยู่ในโรงเรียนต่อไป ก็ควรปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียน
และในขณะเดียวกัน ก็สามารถเรียกร้องให้ยกเลิกระเบียบที่ไม่เหมาะสมกันต่อไป จนกว่าจะสำเร็จ
ต้องไม่ลืมว่า การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างต้องใช้เวลา การดึงดันฝ่าฝืนกฎ ระเบียบที่ยังบังคับใช้ เป็นการสร้างความลำบากใจให้กับคนที่รักเรา เป็นการทำให้สังคมนี้ เป็นสังคมที่อยู่ยาก เราควรรู้จักการอดทน วันหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราต้องการจะเกิดขึ้น อาจไม่เกิดขึ้นในรุ่นเรา แต่จะค่อยๆ เกิดขึ้นในรุ่นต่อๆ ไป แน่นอน”
แน่นอน, ประเด็นที่หลายคนเป็นห่วง ไม่ว่า การประท้วงเรียกร้องของนักเรียน หรือที่เรียกตัวเองว่า ภาคีนักเรียน KKC และกลุ่มนักเรียนเลว อยู่ในเวลานี้ จะเกิดจากความต้องการกระแสปฏิวัติสังคม ผ่านการจัดตั้งนักเรียนหลายแห่งขึ้นมาเป็นหัวหอก คู่ขนานกับ ม็อบเยาวชนปลดแอก หรือไม่ ก็ตาม
แต่ถึงเวลานี้ ดูเหมือนเด็กทั้งหลายเหล่านี้ เดินทางมาไกล จนล้ำเส้นความต้องการเรียกร้องที่เหมาะควรเกินไปแล้ว แถมบางครั้งยังแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักออกมาสู่สายตาสาธารณชน จริงอยู่, หลายคนเห็นเป็นเด็ก เป็นลูกหลาน จึงไม่สนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรง หรือ กฎหมายที่เคร่งครัดในการจัดการ
แต่ยิ่งปล่อยให้มีเสรีภาพในการประท้วงเรียกร้อง ก็ยิ่งเลยเถิดจน “ผู้ใหญ่” หลายคนเริ่มรับไม่ได้ และเรียกร้องให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ รวมถึงผู้บริหารโรงเรียนยื่นมือเข้ามาจัดการ คือ ต้องทำอะไรสักอย่างได้แล้ว ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากอีกฝ่ายที่ถือหางเข้าข้างเด็ก เพราะถือเป็นตัวช่วยหนึ่งในการปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย สั่นสะเทือนรัฐบาล เพียงเพราะต้องการผลประโยชน์ทางการเมือง
อย่างล่าสุด การปลุกกระแสเชิญชวนนักเรียนไทยให้ใส่ชุดไพรเวตไปเรียนในวันเปิดภาคเรียนวันแรก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ขานรับ ทำตาม ก็มีแต่กลุ่มที่เป็นแกนนำไม่กี่คน ในแต่ละโรงเรียนเท่านั้น
นั่นสะท้อนให้เห็นว่า อะไรที่เกินเลยขอบเขตของเสรีภาพในการเรียกร้อง และฝ่าฝืนกฎระเบียบที่ยอมรับร่วมกันมาแต่ต้น นักเรียนส่วนใหญ่เข้าใจ
อีกทั้ง ยังเล็งเห็นด้วยว่า หากกลุ่มนักเรียนเลว ยังคงเรียกร้องอะไรที่ไร้สาระ เอาสะใจ สนองตัณหาตัวเองอยู่อย่างนี้ เป็นไปได้ว่า ในที่สุด ม็อบนักเรียนเลวจะเหลือไม่กี่คน ผู้ปกครอง ผู้บริหารสถานศึกษา จะให้ความรู้ความเข้าใจ ถึงสิทธิเสรีภาพที่เหมาะควรกับสถานะของนักเรียน
แต่ที่เศร้าใจก็คือ ยังมีผู้ใหญ่บางคนที่เอาแต่ผลประโยชน์ตัวเอง ยุยงปลุกปั่น ชื่นชม ยกย่อง แม้ว่าเป็นการกระทำที่สังคมไทยรับไม่ได้ก็ตาม ทั้งทำดื้อตาใส ไม่สนใจว่า ใครจะเดือดร้อน คนพวกนี้ หมายมั่นปั้นมือที่จะเป็นใหญ่ จะด้วยวิธีใดไม่สนใจ นี่คือ ปัญหาที่เป็นอยู่ และคนไทยส่วนใหญ่รู้แล้วว่า พวกเขาเหล่านั้นเป็นใคร และอีกไม่ช้าไม่นาน คนไทยจะช่วยสั่งสอนให้หลาบจำ ไม่เชื่อคอยดู!!