xs
xsm
sm
md
lg

เจาะวิวาทะ 2 ฟาก “เสรีภาพชุดนักเรียน” วัยคอซอง ขอเรียนอย่างเป็นสุข อาจารย์สงสัย หรือประท้วงแค่เอาสะใจ!?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดความคิดเห็น 2 ฟากนักเรียนเรียกร้องเสรีภาพชุดนักเรียน สะท้อนประเด็นร้อน กับ#1 ธันวาคมบอกลาเครื่องแบบ ที่ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่อง ฝ่ายคัดค้านให้แก้ผ้าไปเรียน ด้านนักวิชาการในแวดวงการศึกษาแนะไม่มีสิทธิลงโทษเด็ก ความสำคัญของเครื่องแบบขึ้นอยู่กับหลายบริบท หลายประเทศก็ยังมีอยู่

เปิดปากวัยคอซอง ร้องยุติ “เครื่องแบบนักเรียน”

เป็นประเด็นร้อนเมื่อ #1 ธันวาคมบอกลาเครื่องแบบ ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่อง หลังเปิดเทอมวันแรก ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มีเด็กนักเรียนหลายโรงเรียนทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงในต่างจังหวัด พร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดไพรเวต

จึงกลายเป็นประเด็นดราม เนื่องจากมีการแชร์ภาพนักเรียนในหลายโรงเรียนถูกเรียกเข้าห้องปกครอง เนื่องจากการไม่แต่งตัวชุดนักเรียนเข้าเรียน โดนจับเข้าห้องปกครอง ถูกหักคะแนน เชิญผู้ปกครองเข้าพบ บางรายโรงเรียนถึงขั้นไม่ให้เข้าไปภายในโรงเรียนด้วยซ้ำ

มีโรงเรียนมากกว่า 23 สถาบันที่ได้ออกมาประกาศเชิญชวนด้วยการแต่งกายด้วยชุดไพรเวต ล่าสุด หลายโรงเรียนได้ออกประกาศเตือน หากพบนักเรียนแต่งกายไม่เป็นไปตามระเบียบ ข้อตกลงของโรงเรียน ให้พานักเรียนไปที่หอประชุม เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจ แจ้งผู้ปกครอง และเชิญผู้ปกครองมารับทราบ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ

ในกรณีที่นักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบได้จะให้นักเรียนและผู้ปกครองลงชื่อยืนยัน และทางโรงเรียนจะประสานหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมห้ดูแลนักเรียนด้านการเรียนเพื่อให้นักเรียนเรียนจบหลักสูตรต่อไป

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้พูดถึงเรื่องข้อดีของ “เครื่องแบบชุดนักเรียน” ไว้ว่า เครื่องแบบนักเรียนมีวัตถุประสงค์หลายประการ ส่วนหนึ่งคือเครื่องแบบนักเรียนยังช่วยน้องๆ นักเรียนทำให้เป็นที่สังเกตได้ง่าย หากเกิดเหตุอันตรายในที่สาธารณะ นอกจากนี้ ยังสิ้นเปลืองน้อยกว่าการแต่งชุดไพรเวตที่อาจจะต้องมีหลายชุดด้วย


เพื่อให้สะท้อนถึงเรื่องดังกล่าว ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนหอวัง ให้ช่วยมองปรากฏการณ์ในครั้งนี้ จนทำให้เกิด#1 ธันวาคม บอกลาเครื่องแบบขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่อง

ในฐานะนักเรียน มองว่าเรื่องนี้มีการถกเถียงกันมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เด็กอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจึงเกิดเหตุการณ์ในวันนี้ขึ้น

“เรื่องการแต่งกายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานมาก สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้นักเรียนเหมือนเขาพยายามให้ครูหันมามองสักที เขาอยากเปลี่ยนแปลงนะเท่าที่หนูดู เด็กก็อยากก็ให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วจริงๆ ไม่ใช่ถกเถียงกันไปมาแล้วเรื่องก็เงียบหายไปเรื่อยๆ

จริงๆ มันก็ควรมีสิทธิมีเสียงในการแต่งตัวได้มากกว่านี้ แต่ไม่ได้มองว่าเรามีอิสรภาพแล้วเราจะแต่งเลยตอนนี้ ไม่สน หนูก็เข้าใจว่ามันมีกฎระเบียบของรัฐบาล กระทรวงการศึกษาธิการ คิดว่าควรจะมาตกลงกันใหม่ ให้ทั้งสองฝ่ายแฮปปี้มากกว่าที่จะมาถกเถียงกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ อิสระที่เด็กเรียกร้องมันก็ไม่ได้มีผลกระทบมากถึงขั้นที่คนอื่นเดือดร้อน”

ขณะที่นักเรียนชั้น ม.5 รายดังกล่าว ในวันนี้ก็ยังไม่ได้แต่งกายด้วยชุดไพรเวตไปโรงเรียน แต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่า การที่ให้สิทธิของเด็กในเรื่องในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ จะสร้างความมั่นใจการการเรียนได้ดี ทำให้มีความมั่นใจกล้าที่จะแสดงออกมากขึ้น

“วันนี้หนูไม่ได้แต่งชุดไพรเวตเลยทีดียวค่ะ หนูแต่งชุดนักเรียนเหมือนเดิม แต่ว่าบางอย่างที่หนูคิดว่ามันไม่ควรมีก็ได้หนูก็ไม่ได้ใส่ไปถูกระเบียบขนาดนั้น อย่างโบมัดผมหนูก็ไม่ค่อยชอบใส่

โดยปกติส่วนตัวหนูเป็นคนที่ไม่ mind กับการแต่งยูนิฟอร์มอยู่แล้ว แค่หนูรู้สึกว่าเขาไม่ควรเคร่งกับกฎอะไรที่มากเกินไป ถ้ามียูนิฟอร์ม ให้แต่งตามความมั่นใจของเด็กๆ

การมียูนิฟอร์ม หนูเข้าใจว่าจะทำให้การแยกคนข้างนอกกับนักเรียนมันง่ายขึ้น แต่ว่าการที่มันใส่กฎระเบียบที่ทำให้เด็กไม่มีความมั่นใจ อย่างเช่นว่า ห้ามใส่ต่างหู ห้ามใส่สร้อยคอ ห้ามใส่รองเท้าแบบนี้ ถุงเท้าแบบนี้ ผมต้องสั้นเท่านี้ อะไรแบบนี้หนูรู้สึกว่ามันทำให้เด็กเสียความมั่นใจ

พอเด็กเสียความมั่นใจ เด็กก็จะไปโฟกัสรูปร่างหน้าตาตัวเองตลอดเวลา เพราะเราไม่มั่นใจ มันก็จะกลายเป็นว่าเด็กไม่สนใจเรียน เพราะว่าเด็กมาโฟกัสที่หน้าตาตัวเองมากกว่าที่เราได้แต่งแบบมั่นใจ และมีความมั่นใจเต็มที่ ที่จะโฟกัสสิ่งอื่น ไม่ต้องมายุ่งกับตัวเองแล้ว มันก็ทำให้เขามั่นใจตัวเองมากขึ้น กล้าออกมาทำอะไรมากขึ้น”

เมื่อให้ประเมินด้วยสายจากจำนวนนักเรียนที่พร้อมใจกันแต่งไพรเวตไปวันนี้ นักเรียนรายเดิมก็บอกอีกว่า ยังมีเพียงส่วนน้อย โดยส่วนตัวแล้วมองว่าอาจจะโดยข้อจำกัดของพ่อแม่ด้วย จึงไม่สามารถที่จะแต่งมาได้

“เด็กใส่ยูนิฟอร์มหนูรู้สึกว่า 40% กว่า ยังเยอะอยู่ ส่วนเด็กไพรเวตก็ประมาณ 10-20% ค่อนข้างน้อยเลยค่ะ ส่วนใหญ่ที่ใส่กันไม่ได้ก็เพราะว่า เรื่องของคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองด้วย เด็กๆ ส่วนใหญ่ก็จะใส่เสื้อกันหนาวทับมาสักประมาณ 30-40%”


ครูแนะปล่อยให้เด็กเรียนรู้เอง ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย

ขณะที่ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Arnond Sakworawich” ว่าให้แก้ผ้าไปโรงเรียน พร้อมแนะให้มีระเบียบกับตัวเอง

“แก้ผ้าไปโรงเรียนเถิดลูก หนูอยากแต่งชุดอะไรก็แต่ง เสรีภาพ ทำลายฝ่าฝืนระเบียบได้ มันเป็นความสะใจของคนวัยนี้ ผมก็เคยเป็นมาก่อน ทำเป็นครั้งเป็นคราว มันแรงได้ใจออกนะลูก เข้าใจหนูปลดแอกอยู่ แต่ทำอะไรต่อต้านสังคมเล็กๆ แล้วกลับมามีระเบียบกับตัวเองด้วยแล้วกัน

ขยันเรียน อ่านหนังสือ สอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือเรียนอะไรก็ได้ ที่ทำให้หนูมีอาชีพสุจริต เลี้ยงดูตัวเองได้นะลูก รักและเป็นห่วงนะลูกนะ”

ส่วนประเด็นที่มีหลายโรงเรียนไล่เด็กกลับบ้าน ไม่ให้เข้าภายในโรงเรียน บางรายถึงมีการเชิญผู้ปกครองมาเข้าพบ นักเรียนรายดังกล่าวก็มองว่า เป็นการกระทำที่ค่อนข้างรุนแรง และเกินขอบเขต เพราะเด็กทุกคนควรได้เข้าในพื้นที่ของโรงเรียนที่ตนสังกัดอยู่

“มันเป็นการกระทำที่ค่อนข้างรุนแรง หนูรู้สึกว่ามันเกินเหตุไปสักนิดนึง เด็กทุกคนต้องควรได้เข้ามาเรียนโดยเรียนนี้ โรงเรียนที่เขาอยู่ เขาแค่ใส่ชุดไพรเวตมา เขาไม่ได้ทำอะไรผิดร้ายแรงถึงขั้นที่จะย้ายโรงเรียน เปลี่ยนโรงเรียน หรือถูกไล่กลับบ้าน

หนูเข้าใจว่าตอนนี้เขาทำมาให้ชัดเจน แต่เขาต้องรู้ด้วยว่าขอบเขตที่เขาสร้างมามันทำให้เด็กไม่มีความสุข อยากให้ผู้ใหญ่ลองรับฟังดูบ้าง ว่าการเปลี่ยนกฎมันก็ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นทุกคนแต่งตัวไม่ดี ทุกคนจะไม่สนใจเรียนอีกต่อไป หรือแต่งตัวมาโรงเรียนเละเทะ มันก็ไม่ใช่แบบนั้น อยากให้ฟังกัน ตกลงกัน ให้มันมีจุดตรงกลางที่ดีมากกว่า”


ไม่เพียงเท่านี้ ยังได้ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์วิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่คลุกคลีในวงแวดวงการศึกษามายาวนานให้ช่วยสะท้อนถึงเรื่องดังกล่าวอีกว่าเป็นเรื่องที่ทางโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง สามารถหาทางออกร่วมกันได้

“จริงๆ เรื่องนี้เราพูดกันมาตลอด แต่มันก็เป็นประเด็นเดิม การแต่งกายตอนนี้มันก็คงจะต้องให้เป็นเรื่องที่ตัดสินใจกันที่โรงเรียน เพราะโรงเรียน 30,000 กว่าโรง เอาเข้าจริงๆ เด็กที่มาจากโรงเรียนขนาดเล็กประมาณเกือบ 20,000 โรง โรงเรียนพวกนี้เขาไมได้แต่งชุดนักเรียนไปโรงเรียนทุกวัน เขามาจากครอบครัวที่ไม่พร้อม ที่เป็นประเด็นดรามากันมากๆ คือเป็นโรงเรียนของชนชั้นกลางในเมืองต่างหาก

ปฏิเสธไม่ได้ชื่อโรงเรียนมันบ่งบอกสถานะทางสังคม เขาก็จะภูมิใจในความเป็นเครื่องแบบโรงเรียน เพราฉะนั้นการที่ผู้ใหญ่ให้คุณค่ากับเรื่องเครื่องแบบที่มันบอกไปในฐานะทางสังคมอะไรต่างๆ มันก็เป็นอีกชุดคุณค่าหนึ่ง

ซึ่งประเด็นที่เด็กๆ เขาเรียกร้องตอนนี้ ที่ออกมาเคลื่อนไหวก็คือ ทำไมต้องบังคับใส่ทุกวัน จริงๆ แล้วมันควรที่จะต้องให้เด็กมันมีส่วนร่วม ซึ่งในที่ประชุมคณะทำงานที่รับเรื่องร้องเรียนกันมาคุย ก็คุยกันว่าจริงๆ มันเป็นโจทย์ที่โรงเรียนคุยกันได้ เด็ก ผู้ปกครอง คุณครูที่โรงเรียนคุยกัน

แต่ละโรงเรียนไม่ต้องมีแนวปฏิบัติเหมือนกัน 100% ซึ่งมันผิดธรรมชาติโรงเรียน แล้วก็ให้มันเป็นเรื่องของประชาธิปไตยในการทำงานไป

ชุดนักเรียนบ้านเรามันเกิดขึ้นมาจากสมัยก่อน ก็มีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไมได้ไปโรงเรียน เขาถึงพยายามจะใช้เรื่องเครื่องแบบมาใช้ในการตามดูว่า การศึกษาภาคบังคับ เด็กได้ไปโรงเรียนหรือเปล่า หรือมีเด็กโดดเรียนไหม โดดเรียนก็มีสารวัตรนักเรียนไปตามจับ อันนี้มันคือที่มาของเครื่องแบบบ้านเรา”

[ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล]
ส่วนประเด็นที่ครูลงโทษนักเรียนด้วยการเชิญผู้ปกครอง หรือไม่ให้เข้าเรียนนั้น ก็ยังมองว่าไม่สามารถที่จะทำได้ อยากให้มีความเคารพซึ่งกัน ยิ่งล้ำเส้นกันยิ่งโดนโจมตีหนัก เพราะฉะนั้นควรหาทางออกร่วมกัน

“ลงโทษยังไงก็ทำไม่ได้ ยังไงโรงเรียนก็ต้องไม่เมาหมัด คุณครูก็ต้องไม่เบลอตีมึนใส่ เพราะว่าเรื่องการลงโทษมีขั้นตอนชัดเจน การที่ไม่ให้เด็กเข้าโรงเรียนก็ทำไม่ได้ คุณไม่มีสิทธิไม่ให้เด็กเข้าเรียน ตอนนี้คุณอย่าล้ำเส้นให้เด็กเห็น ถ้าคุณล้ำเส้นไปคุณก็ยิ่งถูกเขาโจมตีหนัก

หลายโรงเรียนวันนี้ ถ้า ผอ. ลุแก่อำนาจตัวเอง คุณครูยอมทำตามที่ ผอ.สั่ง คุณก็จะตกเป็นจำเลยของสังคมกันหมด เพราะจริงๆ แล้วเด็กเขารู้ในสิ่งที่เราสามารถชวนเด็กตั้งคำถามได้ คุณทำอย่างนี้ทำไมยังไง

เคารพเด็กให้มากขึ้น ตอนนี้เรามองเด็กที่เป็นเด็กที่แบบเหมือนเราเป็นนักเรียนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราพยายามจะให้เขาเป็นเหมือนเรา ต้องยอมรับ เพราะว่าตอนนี้การป้องกันการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของเด็ก เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ชอบธรรม ผู้ใหญ่ไม่ควรจะบอกเขาด้วยวาทกรรม กับคำที่ว่าทำหน้าที่ไปก่อน มาเรียกร้องสิทธิทำไม เพราะสิทธิและหน้าที่เป็นของมาคู่กัน”

นอกจากนี้ ยังมองว่า เครื่องแบบไม่ใช่ตัวชี้วัดถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะสังคมยังคงมีการเหลื่อมล้ำอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ทั้งนี้เองความสำคัญของเครื่องแบบนักเรียน ก็ขึ้นอยู่กับหลายบริบท

“วาทกรรมที่ว่ามาลดความเหลื่อมล้ำมันคนละเรื่องกันเลย ความเหลื่อมล้ำมันยังคงมีอยู่ตลอดเวลา เครื่องแบบมันไมได้ไปลดความเหลื่อมล้ำอะไรทั้งสิ้น มันก็แค่บอกว่าเราเป็นนักเรียนในโรงเรียนเดียวกัน มันอาจจะเหมาะกับหลายบริบท หลายประเทศเขาก็ยังมีเครื่องแบบอยู่ แต่มันก็มาจากการตกลงร่วมกัน

การแต่งกายก็ดี ทรงผมก็ดี ก็เคารพเรื่อง gender อันนี้มันก็เป็นเรื่องสิทธิของเด็กๆ ที่เป็น LGBTQ ด้วย แล้วก็อย่าไป stick เยอะ ยิ่งคุณเขียนอะไรไป คุณไปบังคับโรงเรียน 30,000 กว่าโรง ซึ่งมันไม่เหมือนกัน พยายามจะให้เหมือนกัน ซึ่งความจริงมันไม่มีทางเหมือนกัน เพราะบริบทเด็กเขาไม่เหมือนกัน เขาก็มีความเป็นวัยรุ่น แล้วเขาก็โตพอจะแยกแยะอะไรได้

เสื้อผ้าจริงๆ มันก็คือการแสดงออกถึงความเป็นตัวตนเขา เราก็ต้องให้เขาได้ลอง เพราะบางทีเด็กๆ เขาก็ไม่มีประสบการณ์พวกนี้ อยู่ในโรงเรียนก็มีการบังคับกฎเกณฑ์วันนี้ใส่ชุดกีฬาสี ใส่ชุดพละ ชุดลูกเสือ ชุดนักเรียน พอให้เริ่มแต่งเองตอนมาเป็นเด็กมหาวิทยาลัยมันก็เชย ไม่รู้ว่าตัวเองจะเหมาะกับอะไร มันเป็นโอกาสที่เราจะให้เด็กๆ เขาได้รับ ก็ให้วัฒนธรรมในโรงเรียนขัดเกลากันไป แต่งตัวไม่เหมาะสมมาคุณครูก็จะทักท้วงกันได้”

ข่าว : MGR Live


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น