รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยรัฐบาลสนับสนุนอาเซียนผนึกกำลังเปลี่ยนพลังงานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นพลังงานสะอาด ปี 65 ขายไฟฟ้าข้ามพรหมแดนแบบพหุภาคี ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์
วันนี้ (18 พ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (17 พ.ย.) ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 38 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 พ.ย.นี้ ผ่านระบบทางไกลซึ่งประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ ในการนี้มีเอกสาร 4 เรื่อง ประกอบด้วย
1. ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิกในการบรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียน พ.ศ. 2559-2568 ซึ่งให้ความสำคัญในการลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานในอาเซียน และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในภาพรวมการใช้พลังงานของอาเซียนให้ได้ร้อยละ 23 ภายในปี 2568 และยืนยันความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน
2. ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน +3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ครั้งที่ 17 ให้ความสำคัญของความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียน +3 เพื่อไปสู่ความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาค เปิดเวทีการเจรจาธุรกิจตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พลังงานใหม่ พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด
3. ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเซียตะวันออก ครั้งที่ 14 เน้นเรื่องการตอบสนองของภาคพลังงานต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงในการจัดหาพลังงานสะอาด ส่งเสริมการเป็นสังคมแห่งไฮโดรเจน ก๊าซธรรมชาติ และการจำกัดการใช้และการจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
4. ถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่างลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ (The Lao PDR - Thailand - Malaysia - Singapore - Power Integration Project : LTMS - PIP) ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการค้าพลังงานข้ามพรมแดนแบบพหุภาคี โดยทั้งสี่ประเทศจะดำเนินการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการดังกล่าวโดยส่งผ่านระบบสายส่งไฟฟ้าของไทยและมาเลเซียในระยะเวลาสองปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ถึง 2566
น.ส.รัชดากล่าวสรุปว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญที่อาเซียนและประเทศภาคีจะได้แสดงความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายเปลี่ยนพลังงานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมถ่านหินและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ไฟฟ้า ปิโตรเลียม ประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน นโยบายและแผนพลังงานของภูมิภาคอาเซียน พลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน และเครือข่ายความร่วมมือการกำกับกิจการพลังงานของอาเซียน โดยสอดคล้องกับแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ. 2568 (AEC Blueprint 2025) และหนึ่งในเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จ คือ อาเซียนมีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในภาพรวมการใช้พลังงานของอาเซียนให้ได้ร้อยละ 23 ภายในปี 2568