xs
xsm
sm
md
lg

“ร่างไอลอว์” ที่มี “อีแอบ” อยู่เบื้องหลัง เป้าหมายล้มล้างสถาบันฯ นิรโทษนักการเมืองทุจริต จะถูกคว่ำหรือไม่ !! ** ไฟเขียวโรงไฟฟ้าชุมชน จุดเปลี่ยนพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก “สนธิรัตน์” คิด “สุพัฒนพงษ์” ทำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

** “ร่างไอลอว์” ที่มี “อีแอบ” อยู่เบื้องหลัง เป้าหมายล้มล้างสถาบันฯ นิรโทษนักการเมืองทุจริต จะถูกคว่ำหรือไม่ !!

ประเด็นร้อนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีความคืบหน้าแค่ไหน อย่างไร ร่างไหนจะผ่าน ร่างไหนจะถูกตีตก ต้องจับตาการประชุมรัฐสภาในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ โดยในวันที่ 17 พ.ย. จะมีการพิจารณาทั้ง 7 ร่างไปพร้อมกัน และจะโหวตในวาระรับหลักการในวันที่ 18 พ.ย.

ร่างที่ 1 เสนอโดยฝ่ายค้าน และร่างที่ 2 เสนอโดยฝ่ายรัฐบาล มีหลักการคล้ายกันคือ ให้แก้ มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.มายกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 แต่จะต่างกันที่ ที่มาของ ส.ส.ร. โดยของฝ่ายค้านให้มี ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด... ส่วนร่างของรัฐบาลให้มี ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน 150 คน อีก 50 คนที่เหลือมาจากการเลือกโดยอ้อม ของรัฐสภา 20 คน จากที่ประชุมอธิการบดี 20 คน และจาก นักเรียน นิสิต นักศึกษา10 คน
ส่วนร่างที่ 3-6 เสนอโดยฝ่ายค้าน เป็นการแก้รายมาตรา โดยร่างที่ 3 ให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการปฏิรูปประเทศ ร่างที่ 4 เลิกอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ร่างที่ 5 เลิกประกาศ คำสั่งอันเป็นผลสืบเนื่องจาก คำสั่งหัวหน้าคสช. และ ร่างที่ 6 ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
สำหรับร่างที่ 7เป็น “ร่างไอลอว์” ที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอ
ทิศทางการโหวตทั้ง 7 ร่างนี้ ฝ่ายรัฐบาลประกาศออกมาแล้วว่า จะโหวตรับร่างที่ 1 และ 2 ส่วนร่างที่ 3-6 จะงดออกเสียง ส่วน ร่างไอลอว์ จะขอฟังการอภิปรายก่อน ...ซึ่งตีความได้ว่า “ไม่รับ”

จอน อึ้งภากรณ์ - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะรับโหวตรับทั้ง 7 ร่าง โดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่า ถ้าผ่านจะใช้ “ร่างไอลอว์” เป็นหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ โดยอ้างว่าเป็น “ร่างที่มาจากประชาชน”
ไฮไลต์การแก้ รธน.ครั้งนี้จึงอยู่ที่ “ร่างไอลอว์” ซึ่งฝ่ายค้านโดยเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร ให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการ “ตีตก”
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจถึงที่มาของ “ร่างไอลอว์” กันก่อน ... โดยร่างนี้ “จอน อึ้งภากรณ์” ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ “ไอลอว์” ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ที่รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ มาเคลื่อนไหวในประเทศไทย โดยที่ผ่านมานั้น กิจกรรมที่เคลื่อนไหว มักเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การศึกษา
แต่คราวนี้ “ไอลอว์” เป็นเจ้าภาพ “หัวเรือใหญ่” ในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และล่ารายชื่อประชาชน มาให้การสนับสนุน กว่า 1 แสนรายชื่อ ซึ่งการเสนอกฎหมายของภาคประชาชนนั้น กำหนดไว้ที่ 5 หมื่นรายชื่อ แต่ “จอน” ใช้ถึง 1 แสนรายชื่อ เพื่อสร้างภาพว่า ประชาชนให้การสนับสนุน “ร่างไอลอว์” กันล้นหลาม!!
“จอน” ไม่ปฏิเสธเรื่องรับเงินจากต่างชาติมาเคลื่อนไหวในไทย โดยมีผู้สนับสนุน อาทิ มูลนิธิ Open Society Foundation ของ “จอร์จ โซรอส” ผู้ที่เคยเข้ามาโจมตีค่าเงินบาทของประเทศไทย เมื่อปี 2540 ทำให้เกิดวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ จนประเทศแทบล้มละลาย นอกจากนี้ ยังมี “มูลนิธิไฮน์ริก เบิลล์” จากเยอรมนี รวมทั้ง “กูเกิล” ก็เคยให้การสนับสนุน
ซึ่งองค์กรหรือมูลนิธิดังกล่าว ที่ให้เงินสนับสนุนแก่องค์กรเอกชนในต่างประเทศ ก็เพื่อใช้เป็นทุนในการเคลื่อนไหว เพื่อเผยแพร่ ปรัชญา แนวคิด การเมือง การปกครอง ตามทิศทางที่ชาติตะวันตกต้องการ ...
จึงไม่เกินไปจากความเป็นจริง หากจะบอกว่า องค์กรเอกชนจากต่างประเทศเหล่านี้ ใช้ “ไอลอว์” มาเคลื่อนไหวในไทย เพื่อแทรกแซง เปลี่ยนแปลงการเมือง การปกครอง ค่านิยม วิถีชีวิตของคนไทย ประเทศไทย ผ่านทางรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ทักษิณ ชินวัตร - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
หลักการ และเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม “ฉบับไอลอว์” นั้น มีลักษณะผสมผสาน คือ ยกร่างใหม่ และแก้รายมาตรา ... โดยให้มี ส.ส.ร. 200 คน เป็นรายบุคคล หรือเป็นตัวแทนกลุ่มก็ได้ ประชาชน 1 คน เลือก ส.ส.ร. ได้เพียง 1 คน หรือ 1 กลุ่ม โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ส.ส.ร. ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน
กรอบของ “ร่างไอลอว์” ยึดสโลแกน “5 ยกเลิก 5 แก้ไข” ...คือ “รื้อระบบอำนาจ คสช. สร้างหนทางกลับสู่ประชาธิปไตย”
“รื้อระบบอำนาจ คสช.” นั้นชัดเจนว่า อะไรที่เป็น “มรดก” ของ คสช. จะถูกยกเลิกไป ไม่ว่าจะเป็นนายกฯคนนอก.. ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ ...ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฯลฯ
ส่วน “สร้างหนทางกลับสู่ประชาธิปไตย” ก็คือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ตามที่ต่างชาติ และคนกลุ่มนี้ต้องการ
เห็นได้ชัดว่า “ไอลอว์” นั้นเงื้อง่ามาแต่ไกลว่า จะต้องแก้ หมวด 1 ราชอาณาจักรไทย และหมวด 2 ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์
ยังมี วาระแอบแฝง ที่กูรูด้านกฎหมาย เห็นแล้วก็รู้เจตนาทันทีว่าต้องการ “นิรโทษคดีทุจริต” ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้วยการบัญญัติให้ พ.ร.ป. รวม 7 ฉบับ สิ้นผลไป คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว., พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาล รธน., พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต., พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน, พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต, พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน, พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ให้ตุลาการศาล รธน. และกรรมการองค์กรอิสระทุกองค์กรชุดปัจจุบัน พ้นจากตำแหน่ง
ผู้ที่จะได้รนับอานิสงส์ จากการนี้ อาทิ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และเครือข่ายที่ต้องคดีทุจริตจนต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศก็จะสามารถกลับไทยได้อย่างเท่ๆ .... ยังมี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล-พรรณิการ์ วานิช” รวมทั้ง อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จากกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ ก็จะได้กลับมาโลดแล่นในเวทีการเมืองอีกครั้ง
เห็นชัดว่า “ร่างไอลอว์” นอกจากได้รับการทุนจากต่างประเทศแล้วยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองในประเทศด้วย จึงต้องระดมมวลชนมากดดันที่หน้ารัฐสภา ทั้ง “ทางบก-น้ำ-อากาศ” ให้ “ร่างไอลอว์” ผ่านขั้นรับหลักการให้ได้
ต้องติดตามกันว่า 18 พ.ย. นี้ ร่างไอลอว์ จะผ่านวาระ 1 หรือไม่ ...ถ้าถูกคว่ำ จะมีเหตุการณ์อะไรตามมา !!



** ไฟเขียวโรงไฟฟ้าชุมชน จุดเปลี่ยนพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก “สนธิรัตน์” คิด “สุพัฒนพงษ์” ทำ

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ - สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
มีความเคลื่อนไหวในแวดวงพลังงานที่ต้องพูดถึงกัน เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 150 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed-in Tariff (FiT)โดยการแข่งขันด้านเงินลงทุนไฟฟ้าไม่รวมค่าเชื้อเพลิง คาดกันว่า จะประกาศหลักเกณฑ์เพื่อขายซองประกวดราคาภายใน ม.ค. 64 จากนั้น ก.พ. 64 จะให้เอกชนยื่นข้อเสนอและคัดเลือกโครงการในเดือน มี.ค. 64
งานนี้ก็ต้องบอกว่า โรงไฟฟ้าชุมชน เป็นนโยบาย “พลังงานสร้างไทย” ที่ต้องให้เครดิตกับทีมเศรษฐกิจ “4 กุมาร” โดย “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” อดีต รมว.พลังงาน ผู้ริเริ่ม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก คาดหวังว่า โรงไฟฟ้าชุมชนจะตอบโจทย์ ให้ประโยชน์ตกกับเกษตรกร ช่วยเพิ่มการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน
แม้ต่อมาโรงไฟฟ้าชุมชนจะสะดุดไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในของพรรคพลังประชารัฐ ตำแหน่ง รมว.พลังงาน มาถึงยุค “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน คนปัจจุบัน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ และลดปริมาณการรับซื้อ เป็น “โครงการนำร่อง” แต่ก็ถือว่า การผลักดันเรื่องนี้เดินหน้าก็จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการใช้พลังงานมากระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
“สุพัฒน์พงศ์” เป็นคนในแวดวงพลังงาน และ เป็นมือไม้ให้ “ลุงตู่” ในเรื่องเศรษฐกิจชุมชน เห็นว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งแรก ที่วิสาหกิจชุมชน และ เกษตรกร จะได้รับประโยชน์ที่แท้จริง หลังจากทำชีวมวลมาหลายปี แต่ไม่เคยไล่ต้นตอวัตถุดิบที่มาเป็นเชื้อเพลิงจริงๆ จังๆ เสียที
ขณะเดียวกัน หากโครงการนำร่องพิสูจน์ได้ว่า การเกษตรในเรื่อง “พืชพลังงาน” ได้ผลก็จะพัฒนานำไปสู่ประเทศในด้านผู้นำพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาด ซึ่งก็หมายถึงรัฐบาลจะเดินหน้ารับซื้อเพิ่มต่อไป
สำหรับกำลังผลิต 150 เมกะวัตต์ จะแบ่งเป็นการรับซื้อจากเชื้อเพลิง (ชีวมวล 75 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์ โดยใช้ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ หรือ พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย ≤ 25% แบ่งเป็นชีวมวล มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ และก๊าซชีวภาพไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ... ทั้งนี้ มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาฯ
ส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ เช่น การให้หุ้นบุริมสิทธิ 10% แก่วิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า การให้ผลประโยชน์อื่นๆ ให้โรงไฟฟ้าและชุมชนทำความตกลงกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม
สำหรับ อัตรา FiT ชีวมวลมากกว่า 3 เมกะวัตต์ 4.26 บาทต่อหน่วย น้อยกว่า 3 เมกะวัตต์ 4.84 บาทต่อหน่วย ส่วนก๊าซชีวภาพ 4.72 บาทต่อหน่วย เป็นสัญญาซื้อขายระยะ 20 ปี
ท่ามกลางการเมืองร้อนระอุ พิษโควิดกระทบต่อเศรษฐกิจ และไม่ว่าจะคิดอย่างไรกับ “รัฐบาลลุงตู่” แต่คงต้องยอมรับแนวคิดในเรื่องของโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีมานานเพียงแต่ว่าขาดผู้มีอำนาจตัดสินใจ เมื่อ “โรงไฟฟ้าชุมชน” ที่ยืดเยื้อมานาน ถูกนับหนึ่งจึงเชื่อกันว่า จะเป็นตัวแปรที่จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากเป็นความหวังให้สังคมได้เป็นรูปธรรม
จาก “สนธิรัตน์” คิดมาถึง “สุพัฒนพงษ์” ทำ จุดเปลี่ยนครั้งนี้ น่าสนใจติดตามเป็นอย่างยิ่ง




กำลังโหลดความคิดเห็น