เอาล่ะสิ! “สุวินัย” ชี้ชัด ‘ไอลอว์’ รับเงินต่างชาติ แทรกแซง “อธิปัตย์” รัฐไทย ร่างแก้ไข รธน.มิชอบ? ม็อบกร้าวประกาศล้อมสภาทั้ง “บก-เรือ-อากาศ’ กดดันรับร่าง ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ “สิทธิราษฎร” ชง “ส.ส.ร.” คนกันเอง
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (15 พ.ย. 63) เฟซบุ๊ก Suvinai Pornavalai ของ รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย และอดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์หัวข้อ “ร่างรัฐธรรมนูญของ iLaw ผิดกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ เพราะ iLaw ยอมรับว่ารับเงินต่างชาติ”
โดยระบุว่า “แม้ใน ม.256 จะเปิดช่องทางการยื่นเสนอร่างแก้ รธน.โดยประชาชนเอาไว้ โดย ประชาชน 50,000 ชื่อสามารถเข้าชื่อเพื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญได้ ซึ่ง iLaw ได้ใช้ช่องทางนี้ เสนอร่างแก้ รธน.ของ iLaw ขึ้นมาอีก 1 ร่าง โดยมีผู้รับรองมากกว่า 50,000 รายชื่อถูกต้อง แต่ต่อมา มีการเปิดเผยว่า iLaw เป็นองค์กรที่ได้รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ ซึ่งก็คือ Open Society Foundation ของ George Soros พ่อมดการเงินที่เคยโจมตีค่าเงินบาทของไทยในปี 2540 มาแล้ว ซึ่ง iLaw ก็ยอมรับว่า เป็นความจริง
ประเด็นก็คือ รัฐธรรมนูญไทยถือเป็น กม.สูงสุดของชาติ องค์กรที่รับเงินสนับสนุนจากต่างขาติเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในประเทศไทย สามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในแบบใดแบบหนึ่งได้หรือไม่?
เรื่องนี้มีข้อบัญญัติที่ระบุเอาไว้เรื่องการดำเนินการของพรรคการเมืองที่สามารถเอามาพิจารณาเป็นบรรทัดฐานได้ ตาม พรป.พรรคการเมือง 2560 มาตรา 75 ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ อื่นใดจาก
(1) บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
(2) นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขาอยู่ใน หรือนอกราชอาณาจักร
(3) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรโดยมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้า ในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชนจํากัดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้พิจารณาตามที่ปรากฏในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว หุ้นที่ไม่ปรากฏชื่อผู้ถือหรือถือโดยตัวแทนของบุคคลที่ไม่เปิดเผยชื่อ ให้ถือว่าเป็นหุ้นที่ถือโดยผู้ไม่มีสัญชาติไทย
(4) คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์
ดําเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือซึ่งมีผู้จัดการหรือกรรมการเป็นบุคคล ผู้ไม่มีสัญชาติไทย
ซึ่งชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญมีข้อห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหรือนักการเมืองรับเงินจากต่างชาติอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะผ่านวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะสามารถดำเนินการได้
ด้วยหลักการที่ชัดเจนก็คือ ไม่ให้การดำเนินการทางการเมืองถูกแทรกแซงหรือครอบงำจากต่างชาติ ไม่ว่าจะด้วยตัวบุคคลหรือนิติบุคคลหรือองค์กรหรือตัวแทนใดๆ ได้
แต่ในกรณีของ iLaw ซึ่งไม่ใช่พรรคการเมือง แต่เป็นองค์กรที่รับเงินต่างชาติเข้ามาเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย สมควรจะถูกพิจารณาอย่างไร?
ประเด็นก็คือ หลักใหญ่ใจความของรัฐธรรมนูญต้องการห้ามไม่ให้มีช่องทางแทรกแซงหรือครอบงำทางการเมืองจากต่างชาติ ไม่ว่าในระดับใด ใช่หรือไม่?
การรับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ ถือว่าเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงหรือครอบงำการเมืองได้ใช่หรือไม่?
การเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใช่หรือไม่?
iLaw แม้ไม่ใช่พรรคการเมือง แต่ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใช่หรือไม่?
iLaw รับเงินจากองค์กรของโซรอส ซึ่งเป็นองค์กรต่างชาติ
องค์กรของโซรอส คือ Open Society Foundation คือ องค์กรที่ถูกต่อต้านจากหลายประเทศว่า ให้ทุนสนับสนุนการแทรกแซงทางการเมืองในประเทศต่างๆ โดยเอาข้ออ้างประชาธิปไตยมาบังหน้า การรับเงินจากโซรอสซึ่งเป็นต่างชาติ เพื่อทำกิจกรรมเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ ถือเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติแทรกแซงหรือครอบงำการบัญญัติกฎหมายสูงสุดของประเทศใช่หรือไม่?
การเปิดใช้ต่างชาติแทรกแซงหรือครอบงำการเมืองไทย ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่?
แม้ว่าจะมีรายชื่อครบถ้วนตาม ม.256 ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ แต่องค์กรที่เป็นตัวตั้งตัวตีเสนอร่างคือ iLaw รับเงินจากต่างชาติผิดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
คำถามคือ ระหว่างการดำเนินการเสนอแก้ไข รธน.ถูกตาม ม.256 กับ การเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยการสนับสนุนเงินทุนจากต่างชาติ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังปรากฏชัดใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง อย่างไหนมีน้ำหนักควรแก่การนำมาให้ความสำคัญมากกว่า?
ย่อมต้องเป็นอย่างหลัง ซึ่งแม้พรรคการเมือง ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองที่มีสถานะสูงสุดตามกฎหมายยังไม่สามารถทำได้ องค์กรทางการเมืองอื่นๆ ก็ย่อมต้องปฏิบัติบนบรรทัดฐานเดียวกัน
ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับ องค์อธิปัตย์ของรัฐจะถูกแทรกแซงหรือครอบงำจากต่างชาติในทันที
ด้วยเหตุนี้ ร่างแก้รัฐธรรมนูญของ iLaw จึงเป็นร่างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ และสุ่มเสี่ยงต่อการคุกคามจากต่างชาติต่อองค์อธิปัตย์ของรัฐไทย มาแล้วตั้งแต่ตอนที่ iLaw ยอมรับว่า รับเงินต่างชาติจริง”
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กกลุ่มเยาวชนปลดแอก-Free Youth โพสต์ข้อความ ระบุว่า หลังจากถูกดอง ถูกยื้อมากว่า 1 เดือน! ในที่สุดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ฉบับ iLaw) ก็ได้เข้าสู่สภาแล้ว!
17 พฤศจิกายนนี้ รวมพลังปักหลักชุมนุมใหญ่ราษฎรล้อมสภา! ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ซึ่งวันนั้นจะเป็นวันเดียวกับวันที่เริ่มพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง (รวมไปถึงร่างจากภาคประชาชนซึ่งไม่ปิดกั้นการแก้หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 บทพระมหากษัตริย์ ที่นำไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้กลับมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ)
พร้อมกัน รัฐสภาเกียกกาย! ตั้งแต่ 15.00 น.ยาวไปจนกว่าขี้ข้าเผด็จการจะยอมลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อนำกษัตริย์กลับลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ!
นี่คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของอนาคตประเทศครั้งสำคัญยิ่งอีกครั้ง! ออกมาร่วมกันเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประเทศไทย เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของลูกหลานเราและของพวกเราทุกคน
#ม็อบ 17 พฤศจิกา
#ให้มันจบที่รุ่นเรา”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน วานนี้ (14 พ.ย.) ในที่ชุมนุม Mob Fest บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คณะสิทธิราษฎร (People’s Rights Party) ขึ้นเวทีปราศรัยอ่านแถลงการณ์ 6 ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยมีรายละเอียด ว่า
1. สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตย
2. สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมีอำนาจในการร่างและแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกหมวดทุกมาตรา
3. สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องประกอบด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงทั้งหมด
4. ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่ถูกจำกัดด้วยคุณสมบัติด้านอายุ เพศ การศึกษา ศาสนา ฐานะ ประวัติอาชญากรรม สิทธิทางการเมือง ตลอดจนความคิดเห็นทางการเมือง
5. ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องแถลงนโยบายในการร่างรัฐธรรมนูญต่อสาธารณชน และปฏิบัติหน้าที่โดยสอดคล้องกับนโยบายของตนอย่างเคร่งครัด ปราศจากการแทรกแซงและผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งหมดดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี หลังจากร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้
6. ข้อมูลข่าวสาร บันทึก รายงาน ความคืบหน้าตลอดจนรายละเอียดของกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเผยแพร่ต่อสาธารณชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยทั่วไป และในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง
ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ว่า การโหวตจะเกิดขึ้นในวันที่ 18 พ.ย. ซึ่งสมาชิกมีสิทธิให้ความเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ เท่าที่ฟังเสียงสมาชิกนั้น ร่างที่ 1 และร่างที่ 2 น่าจะได้เสียงสนับสนุนเพียงพอ โดยเฉพาะเสียงของ ส.ว. ส่วนร่างที่เหลือ น่าจะได้เสียงสนับสนุนเห็นชอบไม่เพียงพอ ส่วนตัวมองว่า ร่างที่ 3-6 นั้น ย้อนแย้งกับร่างที่ 1 ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ เพราะเมื่อเสนอว่าจะให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่กลับมาเสนอแก้ไขเป็นรายมาตราอีก มันจึงย้อนแย้งและขัดกัน ถ้ารับร่างที่ 1 ไปแล้วก็ไม่จำเป็นต้องรับร่างที่ 3-6 ทั้งนี้ ส่วนตัวยืนยันว่า จะโหวตรับหลักการเห็นชอบกับร่างที่ 1 และร่างที่ 2 แน่นอน
ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ร่างของไอลอว์ นั้น ก็มีเสียงทักท้วงจำนวนมาก ตั้งแต่หลักการ เนื่องจากไม่ได้มีเหมือนกับร่างที่ 1 และร่างที่ 2 จะมีเหมือนอยู่บ้างในเรื่องการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 แต่ว่าในการแก้ไขจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ก็เขียนให้แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ได้
ส่วนตัวตีความว่า ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 ซึ่งมาตรา 255 ห้ามไว้ตั้งแต่ชั้นทำญัตติ จึงเหมือนญัตติมันต้องห้ามไปแล้ว ซึ่งมันมีอีกหลายเรื่องแต่เรื่องเดียวสำหรับตนมันก็ไปไม่ได้
“ต้องแยกเรื่องผู้ชุมนุมกับเรื่องที่จะใช้ดุลพินิจออกจากกัน การใช้ดุลพินิจต้องดูไปตามกฎหมายและความเหมาะสมส่วนเรื่องผู้ชุมนุม ถ้าจะทำเพื่อเอาใจผู้ชุมนุม มันก็จะลามไปสู่เรื่องปฏิรูปสถาบันได้ สิ่งสำคัญต้องคิดถึงประชาชนที่ออกมาปกป้องสถาบันและคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับของไอลอว์ ซึ่งมีจำนวนมาก ถ้าไปรับแล้วจะตอบคำถามกับประชาชนกลุ่มนั้นได้อย่างไร เรื่องของการชุมนุมจะมาเป็นข้อตัดสินว่าจะรับหรือไม่รับร่างหลักการคงไม่ได้ เพราะต้องใช้หลักของกฎหมายและความเหมาะสมมาตัดสิน”
แน่นอน, สิ่งที่น่าจับตามองอย่างสูงก็คือ พลังกดดันของม็อบที่เคลื่อนไปปิดล้อมสภา ในวันที่ 17 พ.ย. ว่าจะมีผลต่อการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา มากน้อยแค่ไหน
เพราะ ถ้าฟังจาก นายไพบูลย์ และกระแสข่าวก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับ ร่างฉบับไอลอว์ ดูเหมือนมีปัญหาใหญ่อยู่หลายเรื่อง ที่สำคัญคือ เปิดกว้างในการแก้ไขทั้งหมด 1 และหมวด 2 (พระมหากษัตริย์) ที่ถือว่า เอียงข้างม็อบปลดแอก ที่ต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเห็นได้ชัด และม็อบที่ไปปิดล้อมสภา ก็ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะกดดันให้รับร่างนี้ เพื่อที่จะปฏิรูปสถาบันฯนั่นเอง
ยิ่งกว่านั้น เมื่อพิจารณาจากโพสต์ของ ดร.สุวินัย ก็ยิ่งน่าคิดว่า จะปล่อยร่างฉบับไอลอว์ให้ผ่านฉลุยไปได้หรือไม่ เพราะรับเงินต่างชาติ จึงเสมือนเป็นการแทรกแซง “อธิปัตย์” รัฐไทย อันเข้าข่ายขัดกฎหมายและรัฐธรรมนูญด้วย
เหนืออื่นใด ปัญหาก็อาจวนกลับมาที่เดิม คือ ไม่มีทางออกของการต่อสู้เรียกร้องของม็อบ เพราะประเด็นที่เลยธงมาแต่แรก คือ “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ที่เท่ากับเป็นการมัดมือชกคนไทยทั้งประเทศที่รักและเทิดทูนสถาบันฯ
และแม้ต้องใช้องค์กรที่รับเงินจากต่างชาติมาเป็นหัวหอกในการทะลุทะลวง ผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา ซึ่งเป็นการเปิดทางให้ต่างชาติแทรกแซง “อธิปัตย์” รัฐไทย อย่างที่อาจารย์สุวินัยว่า ก็ยอม? นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กแล้ว
อย่างนี้ถ้ารัฐสภา ยอมตามแรงกดดันของม็อบ ระบบรัฐสภา ก็คงไม่ต้องมีกันแล้ว และค่าที่เป็นตัวแทนประชาชนทั้งประเทศ ก็จะหมดศักดิ์ศรีไปทันทีทันควัน เพราะจำนนต่อม็อบ ใครอยากได้อะไร ก็คงออกมาม็อบ และสุดท้าย การเมืองการปกครองไทยจะเหลืออะไร
อย่าบอกว่า ที่เป็นอยู่มันก็ไม่เหลืออะไรแล้ว เพราะนั่นมันความคิดของคนเจ้าคิดเจ้าแค้นทางการเมือง ไม่ยอมรับกติกามารยาททางการเมือง อย่างไม่มีเหตุมีผล และไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ ทั้งสิ้นนั่นเอง