กมธ.การเมือง สอบถาม กกต.-มท.ปมขัดขวาง “ธนาธร” ลงพื้นที่หาเสียง อบจ.เมืองคอน เดือดดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประเด็นโจมตีฝ่ายตรงข้าม ห่วง ม.34 กม.เลือกตั้งท้องถิ่นขัดแย้งในทางปฏิบัติ
วันนี้ (12 พ.ย.) คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เชิญตัวแทนจากสำนักงาน กกต. และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อสอบถามความคืบหน้าการเตรียมการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. ที่เกิดขึ้นวันที่ 20 ธ.ค.นี้ รวมถึงถึงเหตุการณ์ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า ถูกต่อต้านระหว่างลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ.นครศรีธรรมราช
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ตั้งข้อสังเกตถึงการนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาโจมตีอีกฝ่าย เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ และควรกำกับดูแลให้เกิดความเรียบร้อย สร้างบรรยากาศที่ดีในการรณรงค์หาเสียง ส่วนนางอมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ก็สอบถามถึงกลุ่มมวลชนใส่เสื้อสีเหลือง กล่าวหานายธนาธรว่าล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความผิดที่กล่าวหาคนอื่น จึงสอบถามไปถึง กกต.ถึงการดำเนินการและการสอบสวนหากเชื่อมโยงกับผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม
ขณะที่ภาคประชาชน นายเรืองฤทธิ์ โพธิพรหม ผู้ประสานงานกลุ่ม WE Watch ก็สอบถามถึงมาตรการกรณีบุคคลเข้าไปห้ามหรือขัดขวางการหาเสียง ที่ควรสร้างบรรยากาศให้ทุกฝ่ายสามารถหาเสียงได้อย่างเสรี โดยแต่ละฝ่ายไม่ไปก้าวก่ายหรือขัดขวาง ส่วนนายพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ผู้ประสานงานมูลนิธิ Anfrel ก็สอบถามความชัดเจนว่าบุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองสามารถช่วยหาเสียงได้หรือไม่
ส่วนนายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชี้แจงว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำงานอย่างเป็นกลาง มีความโปร่งใสแต่แน่นอน ส่วนการขัดขวางการหาเสียงและการนำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้อง หากเป็นการทำนอกกรอบกฎหมาย ก็ต้องดำเนินการ ทั้งนี้ กรรมาธิการหลายคนได้สอบถามถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มาตรา 34 ที่ห้ามข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ดำเนินการเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด ซึ่งมีปัญหาขัดแย้งกันในทางปฏิบัติ เนื่องจากเปิดทางให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครได้ อีกทั้งพฤติกรรมหลายอย่างในทางปฏิบัติ แม้ไม่ได้มีเจตนา แต่อาจถูกตีความว่ากระทำขัดต่อกฎหมาย เช่น ทักทาย ให้กำลังใจ ตลอดจากการกดไลค์ในโซเชียลมีเดีย รวมถึงความชัดเจนเกี่ยวกับบทลงโทษ
นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รักษาการรองเลขาธิการ กกต.ชี้แจงว่า การขัดขวางการหาเสียงเลือกตั้ง หรือการทำความเข้าใจกติกา จะมีการประชุมผู้สมัครของแต่ละจังหวัดร่วมกับ กกต.จังหวัด เพื่อทำความเข้าใจว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ ส่วนการชี้แจงผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ยอมรับว่ากฎหมายกำหนดไว้เข้มงวด แต่การพิจารณาการกระทำผิดก็จะมีการลงลึกถึงรายละเอียดว่ามีเจตนาใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ด้วย เบื้องต้นกฎหมายไม่ได้ระบุบทลงโทษไว้ เพียงแต่ให้ระงับยับยั้งการกระทำที่เกิดขึ้น
รักษาการรองเลขาธิการ กกต.ยังชี้แจงถึงความคืบหน้าการเลือกตั้ง อบจ. ว่าผู้สมัครผู้บริหารและสมาชิกสภา อบจ.รวมทั้งหมด 8,521 คน อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดและประกาศรายชื่อวันพรุ่งนี้ (13 พ.ย. 63) ขั้นตอนขณะนี้ดำเนินไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยจะประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งภายในวันที่ 24 พ.ย.และต้องทำประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งต่อเจ้าบ้าน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 ธ.ค.ส่วนการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เบื้องต้นยังไม่มีกฎหมายรองรับให้องค์กรร่วมสังเกตการณ์ได้ แต่สามารถดำเนินการในฐานะประชาชนได้ แต่ไม่ให้เข้าบริเวณพื้นที่เลือกตั้ง