“อนุทิน” หนุนไอเดียดึงอดีตนายกฯ เป็นกรรมการสมานฉันท์ ยันรัฐบาล-สภา พร้อมรับฟังเสียงประชาชนทุกภาคส่วน ย้ำจุดยืนพรรคภูมิใจไทยแก้รัฐธรรมนูญ ม.256 ห้ามเปลี่ยนแปลงหมวดพระมหากษัตริย์
วันนี้ (6พ.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงท่าทีพรรคภูมิใจไทยต่อแนวทางการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า อะไรก็ตามที่ทำแล้วเกิดประโยชน์เกิดความเข้าใจกัน ทำให้ความขัดแย้งหมดไป หรือลดลงไป ทางพรรคภูมิใจไทยสนับสนุนเต็มที่อยู่แล้ว ส่วนรายชื่อคณะกรรมการสมานฉันท์ที่มีทั้งอดีตนายกฯ อดีตประธานรัฐสภานั้น ต้องถือว่ามีวุฒิภาวะ มีความเสียสละ มีประสบการณ์ และมีความหวังดีต่อบ้านเมืองทุกคน มองว่ายิ่งดีถ้าเรามีผู้ที่มากด้วยบารมี มีความเป็นผู้ใหญ่ และเป็นที่เคารพของคนทั่วไปมาร่วม ส่วนประธานคณะกรรมการควรมีคุณสมบัติอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของคณะกรรมการ เราสนับสนุนแนวทางสนับสนุนความคิด และสนับสนุนความพยายามของประธานรัฐสภา ส่วนที่มี ส.ส.รัฐบาลไม่เห็นด้วยกับรูปแบบคณะกรรมการดังกล่าวก็ไม่ใช่พรรคตน ส่วนที่ผู้ชุมนุมปฏิเสธจะเข้าร่วมคณะกรรมการดังกล่าวนั้น ถ้าคนที่บอกว่าหวังดีต่อบ้านเมืองจริงๆ ก็คงต้องการอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข มีความสามัคคี เพราะบ้านเมืองเจริญจะก้าวหน้าได้ต้องมีความสงบสุข
เมื่อถามว่า หวังว่าผู้ชุมนุมจะเข้าร่วมคณะกรรมการดังกล่าวหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ตอนที่เริ่มมาใหม่ๆ ก็มีการพูดกันว่าจะหาวิธีการพูดคุยกันระหว่างทุกฝ่าย คิดว่าทางผู้เกี่ยวข้องก็พยายามจัดให้มีการพบปะกันอยู่แล้ว เรื่องรัฐธรรมนูญรัฐบาลก็ยอมแก้แล้ว ก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลฟังเสียงประชาชนทุกภาคส่วน รัฐสภาก็ฟังเสียงประชาชน
เมื่อถามถึงกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เสนอให้รัฐบาลตรา พ.ร.ก.ในการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ นายอนุทินกล่าวว่า ทุกคนก็เสนอความเห็นได้หมด อะไรที่ทำได้เร็วและมีผลเลยรัฐบาลก็รีบทำ ไม่ใช่เอาความเห็นคนนั้นที คนนี้ทีก็เละกันหมด ดังนั้นเอาสิ่งที่ดีที่สุด แนวทางที่ดีที่สุด ซึ่งต้องให้คนปฏิบัติเขาตัดสินใจ
นายอนุทินยังกล่าวถึงท่าทีของของพรรคภูมิใจไทยต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ว่า ก็เอามาดูกัน แต่รัฐบาลก็มีร่างอยู่แล้ว เราสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยในส่วนของร่างรัฐบาลนั้นก็เป็นความเห็นร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล เราก็ต้องสนับสนุน ส่วนร่างอื่นก็ต้องมาดูกัน แต่พรรคภูมิใจไทยมีจุดยืนชัดเจนแล้วว่ามาตรา 1 มาตรา 2 ห้ามแตะเด็ดขาด หมวดพระมหากษัตริย์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนมาตราอื่นก็เป็นไปตามที่เราได้เสนอไป หากสุดท้ายแล้วมีการรับหลักการแค่ร่างรัฐบาล แต่ร่างฝ่ายค้านและฝ่ายประชาชนไม่ผ่านจะเกิดปัญหาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็เป็นเรื่องเสียงส่วนใหญ่ ยึดหลักประชาธิปไตยเป็นหลัก และอาจจะต้องมีเรื่องประชามติอีก ซึ่งเราก็ต้องเอาความต้องการส่วนใหญ่ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ก็ต้องเคารพกติกาตรงนี้ก่อน จะเอาถูกใจไม่ได้ ต้องถูกต้องด้วย ส่วนการทำประชามติสอบถามประชาชนนั้น เราสนับสนุนเพราะไม่มีอะไรใหญ่กว่าเสียงประชาชนอยู่แล้ว ทำแล้วสบายใจ