xs
xsm
sm
md
lg

ส.พระปกเกล้า ชี้แก้ รธน.4 กลุ่มต้องเห็นพ้อง แนะคุยหาทางออก เห็นต่างได้ต้องใช้สติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลขาฯ สถาบันพระปกเกล้า มองชุมนุมเป็นสิทธิแต่ต้องไม่ข้ามเส้นกฎหมาย ระบุแก้ รธน.ไม่ง่าย คน 4 กลุ่มต้องเห็นพ้อง แนะเปิดพื้นที่คุยกันหาทางออก เตือนเห็นต่างได้แต่ต้องใช้สติ ไม่ให้เกิดความรุนแรงในสังคม

วันนี้ (11 ก.ย.) นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมและข้อเรียกร้องที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การเรียกร้อง การชุมนุมโดยสงบ ที่ไม่ไปข้ามเส้นกฎหมายเป็นเรื่องที่สามารถทำได้เป็นสิทธิของนักศึกษา เยาวชนทุกคนที่มีความรักชาติ แต่สิ่งสำคัญต้องพึงระวังไม่ให้เกิดการกระทบความคิดความเห็นที่รุนแรง นำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ เชื่อว่ารัฐบาลก็มีความระมัดระวังในการกำหนดท่าที และการโต้กลับผู้ชุมนุม ขณะเดียวกัน กลุ่มที่มีความเห็นที่แตกต่างก็มีขบวนการของการเคลื่อนไหว คิดว่าเป็นสถานการณ์ที่ความคิดเห็นมีความแตกต่างออกเป็น 2 ขั้ว แต่หลายเรื่องที่เป็นข้อเรียกร้องตนคิดว่าสามารถคลี่คลายได้ในกลไกรัฐสภา เห็นได้จากมีการประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ได้มีการรายงานผลการศึกษาก็มีความเห็นและมีสมาชิกอภิปรายจำนวนมาก รวมทั้งมีการยื่นญัตติของพรรคการเมือง มีแนวโน้มจะมีการเปิดการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ คิดว่าทิศทางการเปิดประชุมสภาเพื่อพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องหนึ่งของข้อเรียกร้องซึ่งถูกหยิบยกขึ้นบนโต๊ะและมีการหารือกัน คิดว่าสิ่งนี้สามารถคลี่คลายได้ในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่เรื่องอื่นๆ ที่มีการเรียกร้องเพิ่มเติม เช่น การให้นายกฯ ลาออก คิดว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมประชาธิปไตยก็เห็นพ้องต้องกันอยู่ว่าไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติรัฐประหาร หวังว่าทุกฝ่ายมีความพยายามที่จะใช้สติในการควบคุมการทำงานที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคมนี้ คิดว่าสังคมมีบทเรียนเรื่องความรุนแรงมาพอสมควรแล้ว

เมื่อถามว่าการเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลยังไม่ตอบโจทย์ผู้ชุมนุม เพราะต้องใช้เวลานานในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวุฒิสารกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกลไกของรัฐธรรมนูญมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน การแก้มาตรา 256 คือวิธีแก้รัฐธรรมนูญซึ่งอยู่ในหมวด 15 ทุกคนก็ทราบดีว่าจะต้องมีการทำประชามติ ซึ่งกระบวนการทำประชามติก็ต้องใช้เวลาจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้วันนี้แล้วพรุ่งนี้เสร็จ เพราะกลไกถูกกำหนดไว้แล้วในรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงกติกานี้ได้ แต่ถ้าแก้รายมาตราที่ไม่เกี่ยวข้องกับหมวด 1 หมวด 2 หรือหมวด15 สามารถแก้ได้เลยโดยรัฐสภา อย่างไรก็ตาม การแก้รัฐธรรมนูญทุกเรื่องมีผู้เล่นอยู่ 4 กลุ่มคือ ประชาชนพรรคการเมือง รัฐบาล และ ส.ว. ฉะนั้น ประเด็นที่จะให้เห็นพ้องต้องกันแล้วเกิดการแก้ไขจึงมีกลุ่มคนเหล่านี้เป็นสำคัญ

“คิดว่ากลไกสำคัญที่เป็นทางออกของความเห็นที่แตกต่างทางประชาธิปไตย คือ การมีพื้นที่ให้พูดคุยและหาทางออกร่วมกันว่าตกลงอะไรที่ทำได้ทันทีในระยะสั้น และอะไรที่ต้องรอในระยะยาว ทั้งนี้ ความต้องการทั้งหมดนี้ไม่สามารถที่จะบรรลุและทำได้ทุกอย่างในเวลาอันสั้น เพราะทุกอย่างมีกลไกและกติกาอยู่แล้ว”

เมื่อถามว่ากลไกการโหวตผ่านวาระแรกต้องมีเสียง ส.ว.84 เสียง ยังไม่มีอะไรการันตีได้ว่าทาง ส.ว.จะเห็นด้วยอาจจะกลายเป็นจุดเดือดทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง นายวุฒิสารกล่าวว่า การใช้ดุลพินิจจะต้องนำสถานการณ์และบรรยากาศมาประกอบ เพราะความเห็นของประชาชนสำคัญมาก ถ้าผู้เล่นกลุ่มนี้สามารถมีข้อยุติเห็นตรงกันได้มากขึ้นก็จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยยึดโยงกับ ส.ว.ซึ่งเราต้องยอมรับและเคารพดุลพินิจของทุกคน และคิดว่า ส.ว.ก็เป็นผู้ใหญ่เหมือนกันก็มีดุลพินิจที่จะคิดเห็นกับบ้านเมืองด้วย ฉะนั้น การใช้ดุลพินิจอย่าเพิ่งไปตัดสินว่าทำไม่ได้ ขึ้นอยู่กับประเด็น ส.ว.เห็นว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน แต่เท่าที่ฟังจากข่าวหลายคนก็มีการแสดงออกที่เห็นด้วยกับการแก้บางประเด็นในรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น