“พุทธิพงษ์” เปิดสัมมนารู้เท่าทันข่าวปลอมพังงา เผยให้เวลาเจ้าหน้าที่รวบรวมหลักฐานส่งฟ้องศาลใน 48 ชม. เผย รมต.อาเซียน รุมซักวิธีฟ้องเฟซบุ๊ก ยันฟันตามกฎหมาย อยู่ในไทยต้องเคารพ กม.ไทย ถ้าถูกฟ้องกลับก็ต้องสู้ บอกยูทูปยอมลบตามคำสั่งศาลเกือบ 100% รับห่วงผู้สูงอายุแชร์ข่าวผิด
เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา สร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ครั้งที่ 3 ณ รร.เอราวัณพังงา อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ที่จัดขึ้นเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน เกิดความเข้าใจในกระบวนการตรวจสอบข่าวปลอม โดยมี นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พร้อมด้วย น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัล และคณะผู้บริหารระดับร่วมฟังบรรยาย
โดยนายพุทธิพงษ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ส่วนการเปิดช่องทางให้เครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กแฟนเพจ อาสาจับตาออนไลน์ ให้ประชาชนส่งข้อมูลก็เพราะประชาชนขอมาเนื่องจากการโทร.แจ้งยากลำบาก แต่ช่องทางนี้เมื่อเห็นสิ่งผิดกฎหมาย, หมิ่นสถาบัน, หลอกลวง, ขายของไม่น่าเชื่อถือ ก็ส่งมาทางกล่องข้อความได้ อย่างปลอดภัยโดยไม่มีใครรู้ นอกจากนี้ เมื่อได้หลักฐานแล้ว ข้อมูลเป็นจริง ตนให้เวลาเจ้าหน้าที่ 48 ชม.ในการรวบรวมหลักฐานส่งฟ้องศาลทันที โดยคาดว่าจะใช้เวลาอนุมัติคำสั่งดำเนินคดีภายใน 2-3 วัน เพื่อส่งต่อไปยังผู้ให้บริการเว็บไซต์ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ยูทูป ทวิตเตอร์ เพื่อนำข้อความที่ไม่เหมาะสมออกจากแพลทฟอร์ต
ทั้งนี้ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยอมรับว่า เว็บไซต์ต่างประเทศยังไม่ค่อยปฏิบัติตามคำสั่งเท่าไหร่ แต่ดีกว่าแต่ก่อนที่ใช้เพียงจดหมายจากกระทรวง ซึ่งทางเว็บไซต์นั้นก็เพียงแค่รับทราบ แต่ไม่ดำเนินการ หรือดำเนินการช้า ตนจึงใช้ ม.27 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คือ เมื่อมีคำสั่งศาลให้ลบข้อความแล้วเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มนั้นไม่ลบภายใน 15 วัน ทางภาครัฐสามารถดำเนินคดีได้เลย จนเป็นข่าวที่ตนฟ้องเฟซบุ๊ก และทำให้รัฐมนตรีในอาเซียนต่างให้ความสนใจว่าทำอย่างไรถึงฟ้องได้ ซึ่งตนและปลัดกระทรวงไม่ได้ใช้ความคิดส่วนตัวจะไปรังแกใคร ถ้าผิดกฏหมายก็ดำเนินการ ถ้าเขาจะฟ้องกลับเราก็ต้องสู้
“ไม่ว่าจะคนไทยหรือคนต่างประเทศ ถ้าทำธุรกิจในเมืองไทย ต้องเคารพกฎหมายไทย ถ้ามาทำงานในไทยแล้วไม่เคารพกฎหมายไทย บอกต้องใช้กฎหมายฝรั่งอย่างนี้เรารับไม่ได้ ซึ่งเขาคิดอย่างนั้น คิดว่าเป็นประเทศมหาอำนาจ เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ เขาเข้ามาก็ต้องทำตามกฏของบริษัทเขา ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ผมยืนยันที่จะฟ้องกับเขาเพราะผมเชื่อว่าเราทุกคนใครทำผิดก็ต้องรับผิดตามกฏหมายไทย นั่นคือเหตุผลนึงที่ผมฟ้องเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่ไม่ให้ความร่วมมือ” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนแพลตฟอร์มอื่นก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะยูทูปที่ยินยอมลบให้ตามคำสั่งศาลเกือบ 100% เพราะเขาพร้อมที่จะทำงานกับคนไทย นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงกลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ กลุ่มเด็ก นักเรียน และ กลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอายุ 60 ปีขึ้นไป จะติดโซเชียลมีเดียมาก และเป็นกลุ่มคนที่ปล่อยข่าวปลอมมากที่สุดในไทย เพราะใครส่งอะไรให้ก็แชร์ตลอด ด้วยความเป็นห่วง
ทั้งนี้ งานสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้โครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม เพื่อให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการตรวจสอบข่าวปลอมได้ด้วยตนเอง ทั้งวิธีเช็กแหล่งที่มา, สังเกตหัวข้อพาดหัวข่าว และได้ทราบถึงการแจ้งเบาะแสให้กับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดยตั้งแต่ 1 พ.ย. 62 - 28 ต.ค. 63 พบจำนวนข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 25,835,350 ข้อความ แต่ที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 19,466 ข้อความ มีที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 6,826 เรื่อง 56% เป็นข่าวหมวดสุขภาพ ตามมาด้วยหมวดนโยบายรัฐ, หมวดเศรษฐกิจ และหมวดภัยพิบัติ