เงินบริจาคเป็นเหตุ “ปวิน-อั้ม” จวก “PixelHelper” สร้างข่าวปลอมหาประโยชน์ โยง “จรรยา” เพลินจนลืมกลับบ้าน “สุวินัย” อึ้งกับหนังสารคดีที่มี “รุ้ง” เป็นนางเอก เผยให้เห็น “โลกนักปฏิวัติสาว” ที่ถลำลึก แต่แสยะยิ้มสะใจคือ “ปวิน”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (29 ต.ค. 63) เฟซบุ๊ก Pavin Chachavalpongpun ของ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โพสต์ข้อความระบุว่า
“อั้ม ฉีกหน้ากากองค์กร PixelHelper หากินกับผู้บริจาคเงิน แถมเคลมเครดิตในเรื่องที่ตัวเองไม่ได้ทำ คนที่อยู่เยอรมันตัวจริงเค้าทำงาน advocacy อย่างหนัก แต่ไม่เคยเคลม มีองค์กรเหี้..นี่แหละที่เคลม อย่าบริจาคเงินให้มันค่ะ”
ทั้งนี้ ยังแชร์เรื่องราวจาก เฟซบุ๊ก Aum Neko ของ ศรัณย์ ฉุยฉาย หรือ “อั้ม เนโกะ” ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส มาอ้างอิงด้วย ว่า
“PixelHelper จดทะเบียนเป็น “บริษัท” ที่ไม่แสวงหาผลกำไร? ต้องเข้าใจว่า บริษัท กับ องค์กร ที่ไม่แสวงหาผลกำไรนั้นไม่เหมือนกัน การที่องค์กรนี้ที่เคยใช้ข่าวปลอม Fake News โดยอ้างว่า เป็นการเสียดสี หรือ satire แล้วอาจได้ผลประโยชน์จากความไม่ชัดเจนในเรื่องนี้
มิหนำซ้ำ เราค้นพบว่า องค์กรนี้จดทะเบียนในรูปแบบของบริษัท แม้จะเป็นบริษัทมีชื่อว่าไม่แสวงหากำไร แต่มันก็มีเรื่องของกำไร และระบบภาษีที่เป็นแบบกึ่งบริษัท มันทำให้เราผู้สู้เพื่อประชาธิปไตย ต้องตั้งคำถามให้มากถึงความไม่โปร่งใสขององค์กรนี้ โดยเฉพาะการที่องค์กรนี้อ้างว่า เป็นส่วนหนึ่งของ “ฟรีเมสัน” Freimaurer มันยิ่งทำให้เห็นว่า อาจมีบุคคลที่มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังหรือไม่ ? Pixelhelper ต้องออกมาชี้แจง
แล้วการที่องค์กรนี้ถูกโยงเข้ากับองค์กรอย่าง Act4Dem ที่ไม่เคยมีหลักฐานทางการเงินต่อสาธารณที่ชัดเจน นอกจากตารางรายจ่าย excel ที่ผลักดันนโยบายขายฝัน เสนอสิ่งที่เป็นไปได้ยากโดยไม่ชี้แจงความเป็นไปได้ แล้วหาเงินบริจาคจากความเชื่อของนักสู้เพื่อประชาธิปไตย มันยิ่งทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า กลุ่ม Act4Dem (Action for People’s Democracy แอกชันเพื่อประชาธิปไตย) นี้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัท PixelHelper หรือไม่ ???
และที่น่าสนใจคือ กลุ่มสองกลุ่มนี้ใช้ความไม่ชัดเจนทางการเมืองและกฎหมาย ที่อาจทำให้หลายคนอาจเข้าใจได้ว่า กษัตริย์ไทยไม่สามารถกลับเยอรมนีได้ เพราะอาจถูกเยอรมนีไม่อนุญาต หรืออย่างใดก็ตาม โดยพูดลอยๆ อันอาจจะทำให้คนเข้าใจผิดได้ว่าการไม่กลับไทยของ...เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของสององค์กรนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วกลุ่มที่ทำงาน advocacy จริงๆ ทำงานกันสายเหงื่อไหลไม่หยุด แต่ไม่เคยคิดจะใช้ประโยชน์ตรงนี้มาสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน
จากข้อมูลที่ทราบมา ทราบว่า รัฐบาลเยอรมนียังไม่ได้มีนโยบายจะเอาผิด...แต่อย่างไร และยังไม่มีการสื่อสารว่าจะเอาอย่างไร...การเอาขึ้นศาล จึงเป็นแคมเปญขายฝันให้ไพร่บริจาคเงินให้โครงการที่เป็นไปแทบไม่ได้ ไทยไม่เคยเซ็น ICC และขนาดคนสั่งฆ่าเสื้อแดงอย่าง... ยังอยู่สบาย จีนที่มีเรื่องฆ่าอุยกูร์ก็ยังไม่เคยมีใครถูกเอาผิดในระดับนานาชาติ แล้วพวกคุณจะยังเชื่อลมปากของโครงการขายฝันอย่างนี้อยู่หรือ?
ถ้าองค์กรอย่าง Pixel เป็นบริษัท จริง และมีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบภาษีและกำไร พวกคุณที่บริจาคก็อาจถูกมองได้ราวกับเป็นผู้บริโภคที่พึงมีสิทธิที่จะรู้ข้อมูลสำคัญเหล่านี้
ตราบใดที่สององค์กรนี้ ยังไม่สามารถสร้างความโปร่งใสได้อย่างชัดเจน เราไม่ควรที่จะเสียตังค์สักบาทให้คนพวกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเล็กจรรยา ที่ไม่ยอมกลับฟินแลนด์สักที อยากถามว่าไม่อายบ้างหรอที่โทรศัพท์ขอเงินคนทั่วยุโรป นี้ยังไม่รวมเงินบริจาคเข้าบัญชีที่คนทั่วไปไม่รู้หรอก ว่าจริงๆ เข้าไปเท่าไหร่ เพราะไม่เคยเห็นหลักฐาน ถ้าไม่มีเงินจนต้องโทร.ไปขอคนนู้นคนนั้น ขอแนะนำให้เราทำแคมเปญซื่อตั๋วส่งจรรยากลับฟินแลนด์ จะทำอะไรค่อยกลับมาใหม่ จะได้ไม่เปลืองงบประมาณ
ที่น่าสนใจสำหรับ องค์กร PixelHelper เคยมีข่าวกรณี นายจอม เพชรประดับ อดีตผู้สื่อข่าวและพิธีกรชื่อดัง ผู้ต้องหาหลบหนีคดีความมั่นคง ลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา ออกมายอมรับว่า ปลอมพระสุรเสียงพระเจ้าอยู่หัว
จากการที่ กลุ่ม Pixelhelper เผยแพร่ใช้วิดีโอ deepfake ตัดต่อทำคลิปวิดีโอเรื่องสละราชสมบัติ ซึ่งถือว่าเป็นข่าวปลอมและเป็นเรื่องมิบังควรอย่างยิ่ง
แม้ นายจอม จะออกมายอมรับว่า เป็นผู้ปลอมพระสุรเสียงจริง แต่ก็ยังอ้างว่า เป็นการกระทำของกลุ่ม Pixelhelper เพราะถูกหลอกนึกว่า จะทำในลักษณะการล้อเลียน แต่เมื่อเผยแพร่ออกไปกลับมีลักษณะเหมือนจริง ทั้งนี้ นายจอม ได้ทำการปฏิเสธ ไม่รับผิดชอบใดๆ เพราะไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลง แต่ทว่า กลับยังให้การสนับสนุนกลุ่ม Pixelhelper ต่อไป จนถูก “ปวิน” ออกมาจวกว่า “ตอแหล” จนกลายเป็นความขัดแย้งของกลุ่มแดงนอก “ล้มเจ้า” มาก่อนแล้ว
สำหรับกลุ่ม PixelHELPER ประกาศตัวเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินการเพื่อความยุติธรรมระดับโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิมนุษยชนเสรีภาพและความเท่าเทียมและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ก็ได้สร้างเงื่อนไข เพื่อขอรับการบริจาค
ทั้งนี้ PixelHELPER ก่อตั้งโดย “Oliver Bienkowski” และเมื่อสืบค้นต่อไป ปรากฏความเคลื่อนไหวของ จรรยา ยิ้มประเสริฐ หรือ “เล็ก” อดีตเป็น NGOs นักกิจกรรมด้านแรงงานและด้านการเมือง ปัจจุบันเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองร่อนเร่ต่างแดนเช่นกัน ซึ่งเข้าร่วมกองกำลังเคลื่อนไหวใส่ร้ายป้ายสี-บิดเบือนอันเชื่อมโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
สร้างกระบวนการปลุกเร้าสังคม เพื่อนำพาไปสู่ความรุนแรง โดยหยิบฉวยเอาประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์มาขยายความ เช่น การยิงเลเซอร์ข้อความบิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี โจมตีสถาบันฯตามตึกอาคารต่างๆ ในเยอรมนี เป็นต้น
อ้างอิง https://www.thaimoveinstitute.com/20494/
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการสถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หัวข้อ “การเดิมพันของรุ้งกับรอยยิ้มอย่างสะใจของปวิน”
เนื้อหาระบุว่า “ผมเพิ่งได้ดูสารคดี “The student protest leader challenging the Thai King” จบเมื่อครู่นี้เอง มันเป็นสารคดีของ SBS Dateline จากออสเตรเลีย
สารคดีนี้ทำขึ้นอย่างมืออาชีพ วางตัวเป็นกลางอย่างล้วงลึก จนแทบเรียกได้ว่า นำเสนอจากมุมมองของ “ผู้สังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม”
เพราะเข้าไปถ่ายทำแบบสารคดี “คนค้นคน” คือ เป็นงานที่ถ่ายทำกันจริงจังมากๆ จนสามารถเข้าไปถ่ายบ้านพักของกลุ่มคณะราษฎร 63 และรวบรวมเก็บฟุตเทจอย่างละเอียดตั้งแต่ 18 กรกฎาคม จนถึง 20 ตุลาคม 2563
ต้องยอมรับว่า คนทำสารคดีนี้เข้าใจการเมืองไทยเป็นอย่างดี ราวกับมีคนไทยมาช่วยกำกับด้วยตัวเอง
แถมสารคดีนี้ยังถ่อไปสัมภาษณ์ปวินถึงมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นด้วย
สารคดีนี้ เดินเรื่องโดยใช้ รุ้งเป็นคนนำเรื่อง ตั้งแต่ต้นจนเธอถูกจับ
ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวเกี่ยวกับรุ้งในสารคดีนี้ดังต่อไปนี้
(1) ในบ้านเช่าที่แกนนำม็อบคณะราษฎร 63 สุมหัวกันอยู่ด้วยกัน โดยรุ้งเป็นหัวหน้านั้น มี #ลักษณะคล้ายชมรมในมหาวิทยาลัยมากกว่า องค์กรจัดตั้งอย่างจริงจังของนักปฏิวัติมืออาชีพ
#เยาวชนกลุ่มนี้คลั่งไคล้หลงใหลในตำนานการปฏิวัติไทย พวกเขาเล่นกีตาร์ร้องเพลงปฏิวัติไทยที่แต่งโดยนักปฏิวัติไทยรุ่นก่อนเมื่อ 50-60 ปีก่อน
วาทกรรมที่รุ้งใช้ แว่นสีที่รุ้งใช้มองความเป็นจริง เป็นภาษาฝ่ายซ้ายล้วนๆ จนรุ้งและพวกหมกมุ่นความคิดใน “โลกของนักปฏิวัติ” อย่างถลำลึกชนิดถอนตัวไม่ได้แล้ว
(2) ในตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์กับคนทำสารคดีนี้ รุ้งพูดออกมาเองว่า เธอวางเดิมพันชีวิตของเธอไว้ที่ “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” โดยเธอเลือกข้างเดิมพันว่า คนรุ่นเธอสามารถชนะเดิมพันนี้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้สำเร็จ
(3) การเกิดม็อบคณะราษฎร 63 ที่มีผู้มาชุมนุมในช่วงพีกสุดราวๆ สองหมื่นห้าพันคน ...จริงๆ แล้วเกิดจากการทุ่มเทเดิมพันของเหล่าแกนนำคณะราษฎร 63 อย่าง รุ้ง เพนกวิน ไมค์ และทนายอานนท์ นั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่า #พวกเขาประเมินสถานการณ์ผิดพลาดมากๆ
ชัดเจนว่า พวกเขาต้องการ “เปลี่ยนโลก เปลี่ยนความจริงตรงหน้าให้ตามใจพวกตน” ทำได้หรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่อง แต่ที่แน่ๆพวกเขาได้ลงมือทำจริงๆ
(4) แปลกแต่จริง ภาพที่ติดตาผมในสารคดีนี้มากที่สุดกลับไม่ใช่ภาพของรุ้งนะ แต่คือภาพแสยะยิ้ม ของปวินอย่างสะใจ ตอนเขาให้สัมภาษณ์คนทำสารคดีนี้มากกว่า
(5) ถ้าเรามองย้อนเหตุการณ์ลุกฮือ (uprising) ของม็อบคณะราษฎร 63 นี้ ด้วยสายตาที่เยือกเย็นและยาวไกลของนกอินทรีที่มองการก่อความวุ่นวายของผู้คนลงมาจากท้องฟ้า แบบในภาพยนตร์เรื่อง 乱 (ran อ่านว่า รัน ในภาษาญี่ปุ่น) ของผู้กำกับคุโรซะวะ อาคิระ
เราน่าจะได้ข้อสรุปตรงกันว่า ... # การลุกฮือแบบนี้มันไม่คู่ควรและไม่คุ้มค่าที่จะเอาชีวิตทั้งชีวิตของตัวเองไปแลกเลย... โลกมันก็เป็นเช่นนี้ของมันอย่างนี้แหละ
เราเปลี่ยนโลกไม่ได้หรอก เพราะแค่เร่าร้อนที่อยากจะเปลี่ยนโลก ดุจเอาศีรษะไปพุ่งชนกำแพงเหล็ก
#แต่เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้แน่นอน
นี่คือสัจธรรมชีวิตที่คนรุ่นนี้ ควรได้เรียนจากประสบการณ์โดยตรงของพวกเขาเอง”
แน่นอน, การหยิบยกเอาเรื่องราวกลุ่มคน “ล้มเจ้า” ที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศมานำเสนอ ประเด็นสำคัญ เนื่องจากเวลานี้ การยกระดับของม็อบราษฎร 63 ดูเหมือนหวังพึ่งแรงบีบจากต่างประเทศค่อนข้างสูง และอาจรวมถึง “เงิน” สนับสนุนการต่อสู้ด้วย ที่ร้ายไปกว่านั้น พวกเขาอาจไม่เลือกด้วยซ้ำว่า เป็นเงินของใคร ได้มาอย่างไร มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ ขอให้การต่อสู้สำเร็จเท่านั้น
ประการต่อมา เพื่อเป็นการยืนยันว่า การเคลื่อนไหวในต่างประเทศ และการให้การสนับสนุนจากต่างประเทศ มีจริง ส่วนจะทั่วถึงภายในม็อบแค่ไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ประการสุดท้าย แม้แต่กลุ่มคนที่อ้างตัวว่า ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็ยังมีความขัดแย้งแตกแยก ทั้งในวิธีคิด วิธีปฏิบัติ รวมทั้งเกิดความไม่โปร่งใสในการรับเงินบริจาค ซึ่งก็ไม่ต่างจาก “สู้แล้วรวย” อย่างที่เคยได้ยิน แล้วจะเอาอะไรมาการันตีว่า คนเหล่านี้เป็นคนที่มีอุดมการณ์อันแน่วแน่ที่จะนำพาประเทศ เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีได้ เพราะแค่เงินบริจาค ก็ยังมุ่งหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ถ้าเป็นงบประมาณประเทศ ไม่โดดงับเป็นว่าเล่นหรือ???
เหนืออื่นใด กลุ่ม “ล้มเจ้า” ผู้ลี้ภัย คือ คนที่มวลชนในม็อบราษฎร 63 จำนวนมากเชิดชูให้อยู่เหนือหัวเป็น “ศาสดา” เสียด้วย คิดเอาเองว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับคนไทยกันแน่ โดยเฉพาะกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ของพวกเรา