อึ้ง ทึ่ง เด็กน้อยวัย 11 ขวบ ช่างซ่อมนาฬิกาโบราณ นาฬิกาสมัยใหม่ ประดิษฐ์ของใช้อิเล็กทรอนิกส์ ฝึกปรือฝีมือมาสิบปี ตั้งแต่ 2 ขวบ อัจฉริยะ ความคิดความอ่านราวผู้ใหญ่ เปิดโปงวงการนาฬิการาคาแสนแพงยัดไส้เครื่องราคาถูก
วัย 2 ขวบ จุดเริ่มต้นช่างอัจฉริยะตัวจิ๋ว!
"แต่ก่อนคุณปู่เลี้ยงผมมา ไม่มีของให้เล่นเลย ปู่เป็นช่างไฟฟ้า ก็เลยเอาถ่านก้อนเดียวกับมอเตอร์เล็กๆ ตัวเดียว มาต่อสายไฟกับถ่านมาให้เล่น พอหลุดก็เอามาต่อใหม่ เอง คือไม่ได้สอนแต่ต่อเองได้
รู้สึกว่าไม่ชอบของเล่นอย่างอื่นเลย ไม่รู้ว่าทำไม ไม่ชอบของเล่นอย่างอื่นเลยสักอย่าง แต่ถ้าเกิดเจอของเล่นที่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า ก็จะรื้อเอาข้างในมาทำอย่างอื่นหมดเลย
เคยซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องเก่าๆสองสามร้อย มาซ่อมใช้ได้เหมือนเดิม เกมออนไลน์อะไรก็ไม่ชอบเล่น แต่ชอบแงะออกมาเล่น”
ปัจจุบัน น้องพุทธ - พุทธคุณ ไพรวัลย์ เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บุคลิกนิ่ง สุขุม พูดจาคล้ายผู้ใหญ่
“ประมาณอนุบาล 1 เจอพัดลมในบ้าน 6 ตัว แล้วตอนเด็กๆผมก็ยังไม่รู้เรื่องอะไรมาก ก็เอาตะปูหยอดไปในเครื่องจนพังเละเทะหมด พอเริ่มรื้อเล่นจนรู้ไปเรื่อยๆ ในทุกวันก็จะต้องไปเปิดคอมพ์เปิดคลิปดู แต่เป็นภาษาอังกฤษหมดเลย เป็นคลิปแบบรุ่นเก่าๆไม่ใช่รุ่นใหม่เลย ผมชอบทำอะไรเก่าๆทุกอย่างเลย
มาซ่อมนาฬิกาจริงจัง เริ่มแรกตอนปี 60 เพราะดูคลิปผิด ตอนแรกจะดูคลิปพัดลม แต่ไปเป็นใบพัดในระบบนาฬิกา พอผิดก็ดูไปเรื่อย จากหอนาฬิกาก็เริ่มเป็นนาฬิกาเล็กๆลงไปเรื่อยๆ
นาฬิกาเรือนแรกที่มีคนนำมาซ่อมแล้วได้เงิน คือ นาฬิกาข้อมือของคุณสนธยา ประมาณ 400 บาท คือเขาโดนเหมือนช่างเก่าทำมาเละเทะ ยี่ห้อฟอสซิล คือเครื่องเสียหมดเลย ต้องไปซื้อเครื่องมาจากร้านเหรียญทอง พอส่งไปก็เสียอีก เพราะเข็มติด อาจจะเกิดจากการขนส่งมีการโยนด้วยหรือไม่ ผมก็ไม่แน่ใจ แต่ว่าอาการคล้ายๆอย่างนั้นอยู่ ก็เลยเอากลับมาซ่อมให้ใหม่ โดยไม่คิดเงินเพิ่ม เพราะหากเกิดเสียอีกรอบหลังซ่อมไป ผมจะไม่คิดเงินเลย
เพราะผมอยากจะช่วยเขา เขาโดนหลอกมาก่อนหน้านี้แล้ว เสียตังค์ไปแพงๆ ถ้าเกิดเขาจะต้องมาเสียตังค์แพงอีกก็ไม่ดี ก็ช่วยเขาครับ
คุณแม่รำพึง ล้านเหรียญทอง เล่าเสริมว่า ราคา 400 บาท ถูกมาก เพราะเปลี่ยนทั้งเครื่องและถ่าน เพราะปกติหากนาฬิกาเสียส่วนใหญ่จะไปซ่อมตามศูนย์ของยี่ห้อนั้นๆ หากยี่ห้อดังก็จะแพงตามราคา นอกจากนี้ น้องพุทธ ยังมีบริการหลังการขาย หากมีปัญหาส่งกลับมาซ่อมได้ใหม่ไม่คิดเงินเพิ่ม
น้องพุทธ เล่าว่า นาฬิกาบางยี่ห้อราคาแพงมากเครื่องแท้เลยแต่เครื่องข้างในไส้แค่ 50 บาท มีเยอะมาก
ความภูมิใจสำคัญกว่าเงิน
“ผมก็รู้สึกดี และภูมิใจ บางทีลูกค้านำนาฬิกาที่ซ่อมจากร้านอื่นไม่ได้ หาไปทั่วเมือง จนไปถึงประเทศอื่นแล้ว ยังซ่อมไม่ได้ แต่ผมหาซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนให้เขาได้
ปัญหาคือเครื่องเสีย ไม่มีอะไหล่เปลี่ยน แต่ผมดัดแปลงไปซื้อเครื่องที่ใกล้เคียงที่สุด ซึ่งตอนนี้ยังเป็นเครื่องที่ยังผลิตอยู่ พยายามยัดลงไป ตัดเปลี่ยนแกนอะไรใหม่หมดเลย และใช้ได้เหมือนเดิม เครื่องก็คุณภาพดีกว่าเดิมด้วย ใช้เวลาซ่อมประมาณเกือบ 2 อาทิตย์” น้องพุทธเผยความรู้สึกของเด็กน้อย
นอกจากนี้ คุณแม่ ยังเล่าว่า สำหรับรายได้ในการซ่อมนาฬิกาของน้องพุทธนั้น ในแต่ละเดือนจะได้หลักหมื่น แต่ด้วยความที่คุณแม่ไม่อยากให้น้องพุทธหมกมุ่นในการซ่อมนาฬิกามาก เพราะอะไหล่มันชิ้นเล็กๆ เขาจะมีช่วงซ่อมแค่ตอนเลิกเรียนมา เพราะต้องอาศัยแสงสว่าง ถ้ามืดแล้วแม่จะไม่ให้เขาทำมาก
เพราะถ้าคิดราคาตามน้องพุทธยังไงก็ไม่รวย แถมเราต้องซัพพอร์ตให้เขาทุกอย่าง เพราะเขาจะกำหนดราคาค่าซ่อมเอง จะไม่ให้เรากำหนด อย่างล้างเครื่องนาฬิกาคิดแค่ 200 บาท ในขณะที่ตามร้านอื่นอาจจะเป็นพัน แค่ค่าน้ำมันไปตระเวนซื้อของก็ไม่คุ้มแล้ว แต่ว่า เขามีความสุขตรงนั้น อย่างที่เขาบอกว่า อยากช่วยเหลือ
คุณแม่เพียงแค่อยากจะซัพพอร์ตเขาในสิ่งที่เขาชอบ ไม่ได้หวังรายได้ตรงนี้เลย เรารู้สึกภูมิใจมากที่ลูกมีความสามารถ แต่สิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดคือความคิดของเขา ในการอยากช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเหลือสังคม คุณแม่รู้สึกว่าตรงนี้มันยิ่งใหญ่กว่าคำว่า “เงิน”
น้องพุทธมักจะบอกว่า ทำไมต้องคิดถึงแต่เรื่องเงิน เขากลับมาย้อนถามว่า ตอนเราบอกว่า คิดราคาเพิ่มได้มั้ย เขาบอกเราว่า จะเอาไปทำอะไรหนักหนาเงิน
เขาให้ข้อคิดเราว่า “ความสุขสำคัญกว่าเงิน” เราก็เลยยอมทำตามเขา ไม่คิดเงินเพิ่ม เหมือนเขาฝึกความคิดเรา
เปิดโปง ช่างซ่อมย้อมแมว
“อันดับแรกเวลาผมจะเช็กอาการนาฬิกาเสียต้องลองใส่ถ่านแล้วตั้งทิ้งไว้ ย้อมแมวก็มีครับ เอาง่ายๆ ขนาดแค่เปลี่ยนถ่าน เขาจะเอาถ่านเก่าๆมาวัดไฟ ถ้าเกิดมีไฟเกินประมาณ 1 ขึ้นไป พอทำให้เครื่องเดินอยู่ได้ 2-3 วัน เขาก็ใส่ให้เลย แล้วคิดตังค์แพงๆแบบปกติไปเลย จะมีแบบนี้บ่อยมาก หรือบางทีช่างก็แอบเอาอะไหล่ปลอมมาใส่ให้ เอาเครื่องเดิมเอากลับไปใช้เองก็มี
ผมจะบอกต้นทุนหมดเลย ราคาเท่าไหร่ เอากำไรนิดเดียว ดังนั้น พอเรามีชื่อเสียงก็จะมาคิดราคาเพิ่มก็ไม่ได้ครับ เคยคิดเท่าไหร่ก็เท่านั้น ค่าแรงแล้วแต่เขาจะให้เพิ่ม บอกราคาเขาไว้เท่าไหร่ ก็ต้องคงไว้ราคานั้น ไม่ควรเก็บเพิ่มขึ้น
ถ้ามีลูกค้าส่งมาให้ซ่อมเยอะก็เราก็จะได้เงินเยอะเอง ไม่ต้องไปคิดราคาแพงในนาฬิกาเรือนเดียว
ผมไม่เคยอยากไปไหนเลย อยากไปแต่ที่เก่าๆอย่างเดียว อยากประดิษฐ์ หรือทำเว็บความรู้บอกเรื่องของเก่า หรือของประดิษฐ์ต่างๆไม่ได้อยากร่ำรวยเลย อนาคตอยากเขียนโปรแกรม ควบคุมอัตโนมัติทั้งบ้าน เช่น เข้าบ้านมาสั่งการจากมือถือได้เลย หรืออุปกรณ์ที่ช่วยตามหาของได้มากขึ้น”
กลับชาติมาเกิด
“เขาจะรู้สึกตัวเองตั้งแต่ตอนอยู่อนุบาลแล้วว่า ไม่ใช่เด็ก คำพูดคำจาเขาก็จะไม่ใช่เด็กปกติทั่วไป เขาจะพูดเหมือนผู้ใหญ่พูดกับเรา” คุณแม่เล่าย้อนอดีตครั้งน้องพุทธอายุ 2 ขวบ แต่ความคิดไม่เหมือนเด็ก
เขาจะมีพัฒนากันที่ดีมากตั้งแต่เด็ก พวกยี่ห้อรถภาษาอังกฤษ จะจำได้หมดเลย แม่เคยไปโชว์รูมรถ เขาจะบอกเลยว่า เนี้ย เขียนภาษาอังกฤษผิด เราก็ตกใจ สรุปก็ผิดจริงๆ เขาบอกเราตั้งแต่ยังไม่เข้าอนุบาล ประมาณสองขวบกว่า เหมือนเขาจะเรียนรู้เอง
พอเข้าอนุบาล แม่ก็ซื้อของเล่นให้ เขาจะบอกเราว่า ฉันไม่เล่นของเล่นนะ ฉันเล่นของจริง ของฉันน่ะของจริงทุกอัน แล้วเขาจะชอบเรียกเราว่า พวกมนุษย์ ไม่ใช่คนนะ คนมันต้องใช้คนกับข้าว เขาจะมีศัพท์แปลกๆ จนหลายคนมองว่า เป็นเด็กกลับชาติมาเกิด แต่เราพยายามไม่คิดตรงนั้น เราก็ต้องเลี้ยงเขาเพราะเขาเป็นลูกเรา
พอเริ่มพูดได้ก็จะเริ่มเห็นความแตกต่าง เราก็ไม่คิดอะไรมาก อาจจะเป็นเพราะชอบเปิดวิดีโอภาษาอังกฤษให้ลูก ทำให้เกิดการจดจำก็เป็นไปได้ แต่พอโตขึ้นก็จะเริ่มโดดเด่นขึ้นมา
อย่างเรื่องอิเล็กทรอนิกส์เขาจะชอบมาตั้งแต่ก่อนเข้าอนุบาล ตอนเด็กๆก็จะชอบพัดลม น้องซ่อมพัดลมโบราณเก่งมาก เริ่มต้นก่อนนาฬิกาอีก จะชอบศึกษาพัดลมโบราณที่เป็นใบพัดเหล็ก ว่าผลิตปีไหน ที่ประเทศไหน สะสมไว้เยอะมากที่บ้านมีอยู่ร้อยกว่าตัว
น้องพุทธจะไม่ค่อยเล่นกับเด็ก เขาจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ เขาเคยพูดกับแม่ตอนเด็กๆว่า เขาไม่ใช่เด็กๆแล้วนะ ฉัน 40 แล้วนะ “เจี๊ยบๆ(ชื่อเล่นคุณแม่) ฉันขอจ้างถอนผมหงอกหน่อย” ก็จะเป็นเรื่องขำๆในครอบครัว เขาจะชอบเรียกแทนตัวเองว่า “ฉัน”
นาฬิกา เวลา ความทรงจำ
"นาฬิกาโบราณ ช่างไม่ค่อยมีใครซ่อมกัน อาจเพราะราคาแพง และนาฬิกาก็อยู่ที่บ้าน การขนส่งเพื่อเอาไปที่ร้านก็จะลำบาก จึงกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับบ้านไปแล้ว ก็ตั้งไว้อยู่แบบนั้นนาฬิกาไม่เดิน ทำให้ช่างหายไป เพราะไม่ได้ฝึกฝีมือ อย่างน้องพุทธ แม่จะเดลิเวอร์รีให้ เพราะที่บ้านแม่ไม่ได้เปิดเป็นร้าน
จริงๆบ้านแม่ไม่มีนาฬิกาพวกนี้เลย น้องจะศึกษาเอง แต่อยากให้ลูกฝึกฝีมือ ก็เลยต้องพาออกไปทำตามบ้าน ได้ฝึกจากของจริง เพราะว่าตามบ้านเราไม่มี" คุณแม่น้องพุทธ เล่า
น้องพุทธรับซ่อมนาฬิกาจากทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันนี้ซ่อมไปแล้วหลายร้อยเรือนแล้ว ส่วนใหญ่นาฬิกาโบราณที่มาซ่อมจะเป็นของมีมูลค่าทางจิตใจ เช่น คุณพ่อที่เสียชีวิตทิ้งไว้ให้ สามีทิ้งไว้ให้เป็นมรดก”
สัมภาษณ์โดย :รายการพระอาทิตย์ Live
เรียบเรียง : สวิชญา ชมพูพัชร
ขอบคุณภาพ: จากรายการคนค้นคน , เฟซบุ๊ก Puthakhun Praiwal , Jays Jeab
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **