รองนายกฯ โยน กกต.วางบรรทัดฐานนักการเมืองยุ่งเลือกท้องถิ่นได้หรือไม่ บอกเป็นอำนาจ ปธ.สภาฯ ตั้ง คกก.ปรองดอง แต่ไม่มั่นใจสำเร็จหรือไม่ ออกตัวคำถามนายกฯ อยู่ต่อหรือไม่ ควรให้ คกก.ปรองดองคิดจนสะเด็ดน้ำ ยันรัฐบาลไม่แทรกแซง
วันนี้ (29 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีรายงานต่อคณะรัฐมนตรีว่า ส.ส.และนักการเมืองอาจไม่สามารถช่วยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น จะรวมไปถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ด้วยหรือไม่ว่า น่าจะเป็นบรรทัดฐาน แต่ตนไม่ทราบเพราะสุดท้ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นผู้ชี้ขาด เนื่องจากตนได้ทราบจากฝ่ายกฎหมายของ กกต.ว่าเสนอไป แต่ต้องรอให้ กกต.ชุดใหญ่เป็นคนชี้และออกคำแนะนำอีกทีหนึ่ง เมื่อชี้อย่างไรก็จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นต่อไป ส่วนจะถูกหรือผิด ไม่รู้ไม่ทราบ แต่ กกต.มีอำนาจที่จะชี้ ทราบว่าวันที่ 2 พ.ย. กกต.จะมีการประชุมในเรื่องนี้
นายวิษณุยังกล่าวถึงข้อเสนอการตั้งกรรมการปรองดองสมานฉันท์เพื่อหาทางออกร่วมกันผ่านกลไกรัฐสภาว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ เป็นเรื่องของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ส่วนการเสนอให้สถาบันพระปกเกล้าเข้ามาเป็นตัวกลางและจะให้ตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าร่วมด้วยหรือไม่นั้น อยู่ที่นายชวนจะเป็นผู้กำหนดรายละเอียด เรื่องเหล่านี้จะต้องมาจากข้อเสนอแนะของ ส.ส.และ ส.ว. และเห็นพ้องกันทุกฝ่าย ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการโยนให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ดำเนินการ แต่เป็นอำนาจของประธานรัฐสภาที่จะดำเนินการ เพราะถ้าคนอื่นไปตั้งก็ไม่มีอำนาจ และจะไม่มีคนเอาด้วย แต่ประธานรัฐสภาสามารถดำเนินการได้เนื่องจากเคยทำมาแล้วสมัยนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานรัฐสภา และตั้งนายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี เคยเป็นประธานมาแล้ว เมื่อถามว่าแนวทางนี้จะเป็นทางออกหรือ เพราะสมัยนายดิเรกก็ไม่สำเร็จ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ไม่มีวิธีอื่น จะไปตั้งเป็นกรรมาธิการ ข้อบังคับก็ไม่ได้เปิดช่องไว้ แต่ถ้าใช้อำนาจของประธานรัฐสภาตามข้อ 5 (6) ของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาก็จะไปได้ เมื่อถามว่าถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เข้าร่วม การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวควรยุติหรือเดินหน้าต่อไป นายวิษณุตอบว่า ไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการจะสามารถหาข้อยุติได้หรือไม่ แต่จะหาทางออกให้ปฏิบัติ เช่น สมัยนายชัยก็ได้ทางออกแต่ก็ไม่สำเร็จ เมื่อถามว่าหากมีการตั้งกรรมการขึ้นมา ตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลจะต้องเป็นรัฐมนตรีเลยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้คิดเรื่องดังกล่าวเพราะยังไม่รู้องค์ประกอบของกรรมการคืออะไร แต่หากรู้ว่าคืออะไรจะได้พิจารณากันต่อไป
เมื่อถามถึงกรณีที่ระบุในที่ประชุมรัฐสภาว่านายกฯ ปรึกษารองนายกฯ เกี่ยวกับการทำประชามติว่าควรอยู่ต่อหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า คำถามดังกล่าวอาจเป็นคำถามพ่วงก็ได้ ที่ใช้คำว่าพ่วงเพราะหากทำพร้อมกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเราก็เรียกคำถามพ่วง แต่ถ้าไปตั้งเอกเทศก็ไม่ใช่คำถามพ่วง แต่ยอมรับว่าคำถามตั้งยากที่จะถามในเรื่องตัวบุคคล เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 116 ห้ามไว้ ดังนั้นก็อาจจะให้คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์เป็นคนไปคิดคำถาม แต่ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวจะสามารถทำได้ต้องรอให้กฎหมายประชามติผ่านรัฐสภาเสียก่อน แต่ก็มีผู้เสนอในสภาว่า หากต้องการทำแบบเร่งด่วนก็สามารถออกเป็น พ.ร.ก.ประชามติได้แบบใช้ครั้งเดียวเลิก ส่วนรัฐบาลจะเห็นด้วยหรือไม่ ตนไม่ขอตอบคำถามเพราะเป็นแนวคิดของสภา ซึ่งนายกฯ เพียงแต่รับฟัง แต่ไม่ได้มีความเห็น เมื่อถามว่าหากจะถามเรื่องตัวบุคคลแล้วต้องตั้งคำถามแบบแยบคายจะตั้งอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ก็บอกไม่ถูก เพราะหากบอกทุกอย่างไปก็จะถูกกล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นคนชงเรื่อง ควรให้เป็นเรื่องของกรรมการสมานฉันท์เป็นคนคิดให้ทะลุปรุโปร่ง