รองนายกฯ เผย “ประยุทธ์” รับทราบปรับปรุงหลักสูตรการเรียนประวัติศาสตร์ ให้ผู้รู้ตั้งเวทีคุย แนะเน้นท้องถิ่น-ร่วมสมัย ยกคำ “ส.ศิวรักษ์” ต้นไม้จะตั้งมั่น รากต้องยาว ไม่พูดถึงรากจะหมดความภูมิใจในชาติ
วันนี้ (29 ต.ค.) เมื่อเวลา 15.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการปรับปรุงหลักสูตรวิชาการประวัติศาสตร์ ว่าเบื้องต้นได้มีการประชุมกันไปแล้วระยะหนึ่ง และได้ให้การบ้านไป ทางคณะกรรมการก็ทยอยส่งมาแล้ว ทั้งหลักสูตรหน้าที่พลเมือง หลักสูตรศีลธรรม หลักสูตรประวัติศาสตร์ และเห็นตรงกันว่าควรต้องมีการปรับปรุง ทั้งนี้ แบบเรียนเหล่านี้ได้มีการปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยตนได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบไปแล้วซึ่งอาจจะต้องมีการเสนอสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่านั้น สำหรับตนอาจจะทำอะไรไม่ได้ ต้องไปให้ผู้รู้ได้ตั้งเวทีพูดคุยกัน
นายวิษณุกล่าวต่อว่า ความจริงเรื่องของประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการเรียนการสอน เพราะยังคงมีการเรียนกันอยู่ เพียงแต่ไม่เป็นเอกเทศไม่ใช่วิชาบังคับเหมือนที่ผ่านมา แต่นำไปบูรณาการรวมกันในวิชาสังคม และแต่ละโรงเรียนก็ออกแบบกันเอง ซึ่งตรงนี้แหละที่ต้องนำกลับมาคิดกันใหม่ ว่า สมควรที่จะนำมาแยกออกมาเป็นวิชาต่างหากหรือไม่
ทั้งนี้ เวลาพูดถึงประวัติศาสตร์ก็ควรจะเน้นถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และประวัติศาสตร์ร่วมสมัยด้วย ไม่ใช่พูดถึงแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้าง เพราะหลัง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ประวัติศาสตร์เรามีการพัฒนาไปอีกหลายเรื่อง สิ่งเหล่านี้ก็ควรจะอยู่ในหลักสูตรด้วย ดังนั้น ก็อาจจะแยกออกมาให้เป็นวิชาหลักหรือวิชาบังคับเหมือนในอดีต
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการปรับปรุงหลักสูตรแล้วเยาวชนจะคัดค้านและไม่ยอมรับเนื้อหาอีกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ผมถึงบอกว่า ให้ไปตั้งเวทีพูดกันผมไม่มีปัญญาทำเรื่องนี้ ทำไม่เป็น ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ทุกวันนี้เขาก็บอกว่า เขาก็สอนอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์ชาติไทยเราก็ต้องเรียน เพื่อให้รู้ความเป็นมาประวัติศาสตร์ของบ้านเราเหมือนที่ ส.ศิวรักษ์ พูดไว้ว่าต้นไม้จะใหญ่และมั่นคงได้รากมันต้องยาว ซึ่งประเทศไทยเรามีรากยาว แต่เราไม่เอาเรื่องรากมาพูด เราพูดแต่ต้น กิ่ง และใบ ทุกคนก็นึกว่าต้นไม้มีอยู่แค่นี้ ถ้าไม่พูดถึงรากก็จะทำให้หมดความภาคภูมิใจในประเทศ หมดความรักชาติ”