“ส.ว.คำนูณ” เชื่อ ประเทศยังมีทางออกหลังนายกฯถอยแล้วสองก้าว แนะแนวทาง “สองปฏิเสธ สามไม่ หนึ่งต้อง” ลดขัดแย้ง ชี้ ไม่ได้มีแต่แนวคิดสุดขั้วทั้งสองฝั่ง
วันนี้ (26 ต.ค.) เวลา 18.00 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายว่า ตนเห็นรัฐบาลถอยแล้วสองก้าว ก้าวแรกคือ การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ก้าวที่สอง เป็นผู้ริเริ่มเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ส่วนก้าวต่อไป คือ ก้าวที่สาม มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ การประกาศท่าทีอย่างชัดเจนที่สุด โดยนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และการชี้แจงของประธานรัฐสภา ที่สรุปได้ว่า รัฐบาลสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และได้เตรียมเวลาการทำงานไว้แล้ว รวมถึงกำลังหาวิธีการที่จะลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังมีก้าวที่สี่ในประเด็นอื่นที่อาจจะมีปัญหาอยู่ ท่านอาจปรึกษาสมาชิกรัฐสภาว่า รัฐบาลพร้อมที่จะให้มีการถามพี่น้องประชาชาชนโดยตรง โดยจัดให้มีการลงประชามติจะหนึ่งคำถามหรือมากว่านั้นก็ได้ แต่กำลังมีปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166 เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องสถานภาพของบุคคล ที่สำคัญอีกอย่างคือ รองนายกฯ ระบุว่า ถ้ามีกลไกในการตั้งคำถามที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้รัฐบาลก็พร้อมพิจารณา ซึ่งตนเห็นว่าเป็นประเด็นใหม่ที่สมาขิกรัฐสภาควรให้คำปรึกษาในประเด็นนี้ด้วย และตนคิดว่าทุกก้าวเดินหน้าไปได้
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า การกล่าวกับประชาชนในวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมาของนายกฯ ตนคิดว่า ประเทศยังมีทางออก และคิดว่ากุญแจของคำกล่าวของนายกฯในวันนั้น มี 4 ประการ คือ 1. ท่านปฏิเสธวิธีการสุดขั้วทั้งสองฝ่าย เพราะไม่ว่าขั้วใดขั้วหนึ่งชนะไปก็ไม่ยั่งยืน 2. หน้าที่ของผู้นำ คือ รักษาความสมดุลความต้องการของคนทุกกลุ่มในสังคม เพราะความต้องการของประชาชนในขณะนี้ไม่ได้มีเฉพาะความต้องการของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น 3. นายกฯแสดงความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา และ 4. รัฐบาลถอยแล้ว ขอให้ผู้ชุมนุมถอยด้วย ซึ่งตนขอสนับสนุนทั้ง 4 ประการนี้
“ผมขอเสนอแนวทาง 2 ปฏิเสธ 3 ไม่ และ 1 ต้อง คือ ปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ และปฏิเสธแนวคิดสองขั้ว ส่วน 3 ไม่ คือ ไม่เหมารวมว่าคนที่คิดต่างเป็นฝ่ายตรงข้าม ไม่กดดันให้ทุกคนต้องแสดงจุดยืนว่าคิดเหมือนเราเท่านั้น และไม่ไล่คนที่คิดต่างกับเราออกไปอยู่สุดขั้ว เพราะสังคมจะเดินหน้าไปได้เราต้องยอมรับว่าไม่ได้มีแต่แนวคิดปลายขั้วของทั้งสองฟาก แต่มีคนจำนวนมากอยู่ตรงกลางขั้ว สังคมจะเดินได้ต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ส่วน 1 ต้อง คือ ต้องยอมรับพื้นที่ยืนของทุกฝ่าย โดยต้องแก้ปัญหาผ่านกลไกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ