xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ชี้ยังไม่ได้ข้อสรุปแก้ ม.256 ขัด รธน.หรือไม่ สุดท้ายอยู่ที่สมาชิกรัฐสภา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (แฟ้มภาพ)
“ส.ว.คำนูณ” เผย กมธ.พิจารณาร่างแก้ รธน. ไม่ได้ข้อสรุปแก้ ม.256 ขัด รธน.หรือไม่ สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสมาชิกรัฐสภาแต่ละคน ย้ำหนุนตั้ง ส.ส.ร. ประชามติก็อยู่ที่สมาชิก

วันนี้ (14 ต.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ก่อนรับหลักการ รัฐสภา โดยภาพรวมพบปัญหาที่สำคัญ คือ ข้อกฎหมาย ที่อนุกรรมาธิการพิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ในคณะกรรมาธิการคณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเนื่องจากมีความคิดเห็นแตกต่างกันเป็น 2 แนวทาง ในประเด็นการแก้มาตรา 256 ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เชื่อว่าแม้อนุกรรมาธิการจะพิจารณาได้ข้อสรุปเสนอต่อคณะกรรมาธิการก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ สุดท้ายคงขึ้นอยู่กับสมาชิกรัฐสภาแต่ละคน

ส่วนการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. นายคำนูณกล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนให้มีการตั้ง ส.ส.ร. และจะลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขมาตรา 256 ร่าง 1 และ 2 ที่เสนอโดยสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน และร่างแก้ไขรายประเด็นมาตรา 272 ว่าด้วยอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภา รวม 3 ร่าง ส่วนการทำประชามตินั้นมองว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีการบัญญัติไว้แน่นอนว่าการแก้ไขมาตรา 256 เป็น 1 ใน 6 ประเด็นที่จะต้องนำไปทำประชามติ หลังจากผ่านรัฐสภา 3 วาระแล้ว แต่ในประเด็นนี้มีหลายคนเห็นต่าง โดยหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-18/2555 กรณีของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในมาตรา 291 ที่กำหนดให้ใช้เพียงเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาเท่านั้น ไม่ได้กำหนดให้ต้องทำประชามติ ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้นจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันโดยพื้นฐาน จะนำมาเปรียบเทียบกันได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสมาชิกจะพิจารณา

ส่วนข้อเรียกร้องของคณะราษฎร 2563 ที่มีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องนั้น นายคำนูณกล่าวว่า ในฐานะสมาชิกรัฐสภาต้องทำหน้าที่พิจารณาตามญัตติที่มีผู้เสนอเข้ามา ขณะนี้ก็มีทั้งจากสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลด้วย เพราะฉะนั้นในหลักการก็จะพิจารณาตามญัตติที่เข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ส่วนของประชาชนขณะนี้ก็มีร่างแก้ไขของภาคประชาชนที่นำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันทั้งเห็นด้วยกับการแก้ไขและไม่เห็นด้วยซึ่งก็จะต้องไปลงประชามติตามขั้นตอน


กำลังโหลดความคิดเห็น