ข่าวปนคน คนปนข่าว
**“อาคม” ลงอาคมสะกด “สันติ พร้อมมาก” แบ่งงานให้กำกับแค่ 3 กรมเท่าเดิม งานนี้ “เอาอยู่” มั้ย? เดี๋ยวรู้กัน!
เป็นที่จับตากันมาตลอดว่า ภายหลังการมาของ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” นั่งว่าการกระทรวงการคลัง “สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คลัง ผู้พร้อมมาก จะแสดงอิทธิฤทธิ์ในฐานะนักการเมือง “เก๋าเกม” อยู่เฝ้ากระทรวงการคลังมานาน ผ่าน รมว.คลังคนนอกมาสองคน ทั้ง “อุตตม สาวนายน” และ “ปรีดี ดาวฉาย” ซึ่งรายหลังเจอฤทธิ์ถึงกับต้องไขก๊อกออกจากตำแหน่งในเวลาอันสั้น ท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งปีนเกลียวกับ “รมช.สันติ” ในเรื่องการบริหารจัดการงานของกระทรวงหลายเรื่อง
พอเปลี่ยนตัวขุนคลังมาเป็น “อาคม” จึงมีคำถามว่า งานของกระทรวงจะเป็นอย่างไร ? โดยข่าวล่าสุดแจ้งความเคลื่อนไหวว่า “อาคม” รมว.คลัง ได้ลงนามคำสั่งแบ่งงานให้ “สันติ” รมช.คลัง เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้ สันติ รมช.คลัง กำกับดูแล 3 กรม คือ กรมศุลกากร, กรมธนารักษ์ และกรมบัญชีกลาง ซึ่งเท่ากับสมัยที่ “อุตตม สาวนายน” เป็นรมว.คลัง แบ่งงานให้เดิม
ส่วนกรมสรรพากร, กรมสรรพสามิต, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ นั้น “อาคม” ในฐานะ รมว.คลัง จะกำกับดูแลเอง
ที่น่าสนใจไม่แพ้การดูแลกรมต่างๆ คือ รัฐวิสาหกิจในสังกัดคลังเห็นว่า “อาคม” จะกำกับดูแลธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีดีแบงก์) และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมไปถึงอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ และงานด้านนโยบายต่างๆ อยู่ภายใต้อำนาจของ รมว.คลัง
ส่วน “สันติ” จะกำกับ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
ว่ากันว่า การแบ่งงานครั้งนี้สะท้อนว่า สิ่งที่เคยเป็นปัญหาขัดแย้งที่เกิดกับ “ปรีดี ดาวฉาย” น่าจะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอย ระหว่างรมว.คนนอก กับนักการเมืองระดับแกนนำที่ถือดีว่ามีแบ็ก “ผู้ใหญ่” ในพรรคพลังประชารัฐหนุนหลัง
งานนี้ “อาคม” สามารถร่ายอาคมสะกดข่ม รมช.คลัง เอาไว้ได้ ต้องบอกว่า ได้แบ็กอย่าง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก็คงได้รับบทเรียนมาจาก “อุตตม” และ “ปรีดี” มาแล้วว่า การที่จะปล่อยให้ รมว.คลัง เผชิญชะตากรรมกับ รมช. ที่พร้อมมากโดยลำพังนั้น ก็คงจะไม่ได้ เพราะหัวใจในการขับเคลื่อนมาตรการเศรษฐกิจ และพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากปัญหาโควิด-19 ย่อมต้องอาศัยกระทรวงการคลังเป็นแกนหลักสอดประสานกับ “รัฐราชการ” ที่มีสภาพัฒน์คุมงบประมาณ
ขณะที่ “อาคม” ได้ชื่อว่าเป็นคนทำงานที่นิ่ง ละเอียด ครบถ้วนกระบวนยุทธ์ แถมรู้ใจ “ลุงตู่” มาตั้งแต่สมัยนั่งเลขาสภาพัฒน์ และรมว.คมนาคม เรื่องจะมาเสียเหลี่ยมเสียอำนาจการจัดการบริหารที่คลังให้กับสันติ ดูจากการแบ่งงานคราวนี้ ก็คงพอจะวางใจได้ ... แต่ อาคมและลุงก็ต้องไม่ลืมว่า สันติ ก็คือ สันติ ..คนที่ไม่ธรรมดาคนนี้ พร้อมจะแผลงฤทธิ์ขึ้นมาทุกเมื่อ
อาคมจะต้องร่ายอาคมเป็นระยะๆ ป้องกันคาถาเสื่อมหรือไม่... งานนี้จะ “เอาอยู่” มั้ยเดี๋ยวรู้กัน ก็โปรดติดตามกันอย่ากะพริบตา .
** “ลุงตู่” ถอยพิงกำแพงสีเหลืองตั้งหลักเตรียมรุกกลับ... การเปิดสภาสมัยวิสามัญคงไร้ความหมาย หากฝ่ายค้านถูกรุกไล่จนต้อง “บอยคอต”
หลังจาก “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศไปถึงกล่มผู้ชุมนุม “คณะราษฎร” ขอให้ถอยกันคนละก้าว โดย “ลุงตู่” ได้สั่งยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร พร้อมข้อกําหนด และคําสั่งที่เกี่ยวข้อง มีผลตั้งแต่ วันที่ 22 ต.ค. 63 เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป พร้อมกับยื่นขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อนำปัญหา ข้อขัดแย้ง ข้อเท็จจริง เข้ามาถกกันในวันที่ 26-27 ต.ค.นี้
ขณะที่ “คณะราษฎร” ก็ประกาศหยุดพักการชุมนุม 3 วัน เพื่อรอฟังผลข้อเรียกร้องที่ให้ “ลุงตู่” ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากไม่ลาออกก็จะยกระดับการชุมนุมกดดันขึ้นไปอีก แต่ไม่ระบุว่าจะยกระดับถึงไหน อย่างไร
... แน่นอนว่า ข้อเรียกร้องให้ “ลุงตู่” ลาออก คงไม่ได้รับการตอบสนอง เช่นเดียวกับอีกฝ่ายก็คงไม่หยุดการชุมนุม เพราะจุดหมายอยู่ที่การปฏิรูปสถาบันฯ
ดังนั้น สถานการณ์ในช่วง 2-3 วันนี้ ก็เป็นเพียงการพักรบชั่วคราว เป็นการถอยคนละก้าวเพื่อตั้งหลักเตรียมรุกครั้งใหม่ !!
ที่สำคัญ การถอยของ “ลุงตู่” ครั้งนี้ เป็นการถอยไปพิง “กำแพงสีเหลือง”... ดังจะเห็นได้ว่าในช่วง 2 วันที่ผ่านมานี้ มีประชาชนใส่เสื้อเหลืงออกมาแสดงพลังปกป้องสถาบันฯ กันทั้งในกรุงและต่างจังหวัด...
อย่างเช่น “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา ก็เพิ่งนำคณะ ส.ว. ข้าราชการ และประชาชน ออกมาแสดงจุดยืนในการปกป้องพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์... ขณะที่ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ก็นำ ส.ส. ข้าราชการสภา ใส่เสื้อเหลือง จัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวานนี้... ยังมี “หมอเหรียญทอง” พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ จัดกิจกรรม “รวมพลังพิทักษ์ราชัน” ที่บริเวณหน้าศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ
ขณะที่ “อนุชา นาคาศัย” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ได้สั่งการไปยัง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้วัดทั่วราชอาณาจักร และวัดไทยในต่างประเทศ จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์ และเจริญจิตตภาวนา เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ของรัชกาลที่ 5 พร้อมกัน ในวันที่ 23 ต.ค. 63 เวลา 17.00 น. ทั้งยังกำชับให้ ส.ส.พลังประชารัฐ จัดกิจกรรมในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ เหมือนที่ จ.ชลบุรี นราธิวาส โคราช เพชรบุรี และอีกหลายๆ จังหวัด
... เป็นการแสดงพลัง “วัดปริมาณ” ให้ฝ่าย “ล้มล้างสถาบันฯ” ได้เห็นว่า ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่รัก เทิดทูน และพร้อมจะปกป้องสถาบันฯ !!
ขณะที่การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปตาม มาตรา 165 นั้น ไม่ได้มีการบรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อโหวตวาระรับหลักการ และจะไม่ให้มีการอภิปรายพาดพิงสถาบันฯในทางที่หมิ่นเหม่ จึงถูกฝ่ายตรงข้ามวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเพียงการซื้อเวลา และจะไม่มีผลอะไรที่เป็นทางออกของสังคม
โดยเฉพาะ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ถึงกับออกมาโวยว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยมีท่าทีอย่างไรเลยกับข้อเรียกร้องของ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน การประชุมสภาสมัยวิสามัญ นอกจากจะไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นการคลี่คลายวิกฤต แล้วยังจะเพิ่มวิกฤต เพราะรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภา จะใช้เป็นเวทีในการกล่าวหา นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ว่า “ล้มเจ้า” โดยเฉพาะจากกรณีขวางขบวนเสด็จฯ
...การที่นายกฯ บอกว่ายอมถอยนั้น ความจริงไม่ใช่การถอย แต่เป็นการ “เปลี่ยนวิธีการจัดการกับประชาชน” โดยใช้กลไกรัฐสร้างความเกลียดชังระหว่างประชาชน “ให้ประชาชนปะทะกันเอง” แทนที่จะเป็นการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ !!
หรืออย่าง “สุทิน คลังแสง” ส.ส.เพื่อไทย และประธานวิปรัฐบาล ถึงกับออกปากว่า ผิดหวังกับญัตติที่รัฐบาลเสนอ เพราะไม่มีการเอาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเข้ามาหารือกัน... ซ้ำยังเอาเรื่องการ “ขวางขบวนเสด็จ” มาพุดคุย พูดซ้ำ จะยิ่งกลายเป็นการขยายความขัดแย้งขึ้นไปอีก สะท้อนถึงการเตรียมกล่าวหาผู้ชุมนุม... ฝ่ายค้านจึงจำเป็นต้องเข้าร่วมประชุมเพื่ออธิบายข้อเท็จจริงที่ประชาชนถูกกล่าวหา แต่ถ้าถูกขัดขวางไม่ให้พูดความจริง ฝ่ายค้านอาจจะ “บอยคอต” ก็ได้
พิจารณาจากบริบทที่กล่าวมา แนวโน้มการเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อหาทางประนีประนอมตามระบบที่ควรจะเป็นก็คงไม่บรรลุผล หากทั้งสองฝ่ายยังคงตั้งประจัน โดยไม่ลดราวาศอก
ทางออกที่มองกันว่า หากรัฐบาลยอม “แก้รัฐธรรมนูญ” ให้เป็นประชาธิปไตยให้มากที่สุด ตามที่ฝ่ายประชาชนต้องการก็ต้องใช้เวลา ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมคงรอไม่ได้ ... แนวทาง “นายกฯลาออก” เพื่อเลือกนายกฯกันใหม่ “ลุงตู่” ก็ประกาศชัดว่า “ไม่ออก...ผมทำผิดอะไร” ...หาก “ยุบสภา” เลือกตั้งใหม่ ก็เป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญเดิม กติกาเดิม ส.ว.มีสิทธิ์ร่วมโหวตนายกฯ ความสงบก็คงไม่เกิดอยู่ดี ... แนวทาง “รัฐประหาร” ยิ่งสุ่มเสี่ยงต่อความสูญเสีย เพราะอาจจะไปสู่ “สงครามประชาชน” ...หรือประเทศไทยมาถึงทางตันแล้วจริงๆ!!