xs
xsm
sm
md
lg

อนุ กมธ.3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา เดินหน้าแก้ปัญหา IUU fishing

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันอังคารที่ 20 ตุลาคม 2563 คณะอนุกรรมาธิการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่มีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน ได้ประชุมกรณีประมงพาณิชย์ของไทยที่อยู่ในสถานการณ์ไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้กล่าวคือนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาเรือประมงพาณิชย์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดสมุทรสาครและสมุทรสงครามที่เคยเป็นกองเรือพาณิชย์ไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไม่สามารถออกจับปลาในทะเลได้เลยแม้แต่ลำเดียว เรือประมงพาณิชย์เหล่านี้ต้องจอดทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ เนื่องจากรัฐบาลไทยได้ออกกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆเป็นจำนวนมากที่กลายเป็นอุปสรรคและเป็นพันธนาการต่อธุรกิจการทำประมงพาณิชย์จนนักธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้


คำถามคือการประกอบธุรกิจประมงพาณิชย์ไทยนับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปี 2557 เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม หรือพวกเขาเป็นโจรที่มีพฤติกรรมทำลายผลประโยชน์ของประเทศชาติกันแน่ ?

อนุ กมธ.ได้พิจารณาปัญหานี้ด้วยความระมัดระวังและเปิดโอกาศให้ทุกฝายที่เกี่ยวข้องได้มาให้ข้อเท็จจริง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นที่ตั้ง จนกระทั่งถึงวันนี้เราได้ข้อยุติว่ากองเรือประมงพาณิชย์ไทยได้เคยสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย ด้วยการสร้างมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจระดับหลายแสนล้านบาทต่อปี เกิดการจ้างงานและธุรกิจที่เชื่อมโยงอีกเป็นจำนวนมาก จนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าเรือประมงพาณิชย์จำนวนหนึ่งจะทำประมงแบบทำลายล้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ก็ตาม ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเท่าที่ผ่านมาประมงพาณิชย์มีทั้งที่เป็นด้านบวกและด้านลบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย กระนั้นก็ดีการแก้ปัญหานี้นอกจากจะต้องเคารพกฎกติกาสากลซึ่งเป็นความจริงด้านหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้แล้ว แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลควรกระทำก็คือการรักษากองเรือพาณิชย์ส่วนใหญ่ของไทยเอาไว้ เพราะเป็นการรักษาผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของชาติเอาไว้โดยตรง อุปมาเหมือนการจะขจัดหนูที่น่ารังเกียจและน่ารำคาญที่อยู่ในบ้านนั้นไม่ควรใช้วิธีการเผาบ้านตัวเองเสีย เพราะเป็นมาตรการที่ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย


สำหรับปัญหา และ การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ อนุกมธ.เห็นด้วยและสมควรให้ความเคารพต่อข้อสังเกตของกรรมาธิการยุโรปทั้ง 4 ประเด็นหลักและใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาและหาแนวทางที่จะหาทางออกให้แก่ปัญหานี้ ข้อสังเกต 4 ประการของ EU มีดังต่อไปนี้คือ :

1) ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ของประเทศไทยที่ยังขาดประสิทธิภาพ มีความล่าช้า ในการดำเนินการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ

2) การขึ้นทะเบียนเรือประมงและการออกใบอนุญาตทำการประมง
กฎระเบียบของประเทศไทยในเรื่องนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพ มีเรือประมงที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน การตรวจสอบควบคุมเรือประมงยังไมีมีประสิทธิภาพเช่นกัน

3) การเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมงและระบบติดตามตำแหน่งเรือ และ

4) การปรับปรุงพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ปรับแก้ไขอัตราโทษ

ทั้ง 4 ประเด็น กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการ ในแง่การปรับปรุง กฎหมาย กฎระเบียบ ระบบการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาอย่างกว้างขวางต่อธุรกิจประมงพาณิชย์ไทย ทั้งที่ปัตตานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้


จากการประชุมอนุ กมธ. 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาคมประมงปัตตานีได้เรียกร้องใน 4 ประเด็นหลักคือ

1) ขอให้รัฐบาลช่วยหาแนวทางและวิธีการในการนำเรือประมงพาณิชย์ไทยที่เปลี่ยนไปถือสัญชาติมาเลเซียให้สามารถกลับมาซ่อมบำรุงในประเทศไทย

2) ให้รัฐบาลรับซื้อเรือคืน เพื่อนำไปเป็นประการัง และช่วยให้พวกเขามีเงินทุนไปประกอบอาชีพอื่นแทน

3) ทบทวนหลักเกณฑ์การเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน (MSY) ใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและเหมาะสม และ

4) การแก้ไขปัญหาแรงงานประมง ปัญหาค่าจ้างแรงงานที่เป็นรายเดือนเป็นภาระของผู้ประกอบการที่ทำประมงได้เพียง250วันต่อปี แต่ต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างตลอด 12 เดือน และเงื่อนไขการทำงานที่ไม่เหมาะสม


ผู้แทนกรมประมง ได้เคยชี้แจงเกี่ยวกับโครงการนำเรือออกนอกระบบ การปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบ การขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับการทำประมงอย่างยั่งยืน และการรับข้อเรียกร้องเพื่อหารือกับมาเลเซียเกี่ยวกับการนำเรือออกนอกมาเลเซีย เพื่อนำเรือประมงพาณิชย์เหล่านี้กลับมาซ่อมแซมที่ปัตตานี อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่าการทำงานของกรมประมงค่อนข้างจะล่าช้าและไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะดำเนินการได้เมื่อไร


สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่อง IUU fishing อนุกมธ.ได้ข้อสรุปเบื้องต้นดังต่อไปนี้คือ:

1) รัฐบาลควรมีการปรับยุทธศาสตร์การเจรจากับสหภาพยุโรปในเรื่องนี้ใหม่ เพราะการใช้กลไกกรมเจรจาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่เพียงพอ ควรมีเจ้าภาพที่ทำงานเชิงรุกในการเจรจา

2) รัฐบาลควรจัดหา Softloan ให้แก่ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์รายละ 3-5 ล้านบาท สำหรับแก้ไขวิกฤติโควิด โดยมีประเด็นอุปสรรคที่สำคัญคือการติดปัญหาในเครดิตบูโรเพื่อให้ธุรกิจประมงสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้โดยผ่าน ธ.ออมสิน และธกส.

3 มอบหมายให้อนุกมธ.ทำหน้าที่ประสานแบบไม่เป็นทางการกับผู้ที่รับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาการนำเรือเข้ามาซ่อมบำรุงในประเทศไทย และ

4) ให้ฝ่ายวิชาการตระเตรียมข้อมูลเรื่องสถานการณ์และผลกระทบจากการทำ IUU fishing โดยอนุกมธ.ได้ทำการนัดหมายเพื่อหารือกับนายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทยในวันพุธที่ 28 ตุลาคม ศกนี้ที่สมุทรสาครและจะทำการนัดหมายเพื่อหารือกับผู้แทน EU ประจำประเทศไทยในเรื่องนี้ต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น