xs
xsm
sm
md
lg

เราต้องพลิกฟื้น “กองเรือประมงพาณิชย์ไทย” ให้กลับคืนมาให้ได้/ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในอดีตกองเรือประมงพาณิชย์ไทยเคยเป็น 1 ใน 5 ประเทศของเอเชียที่ยิ่งใหญ่ในโลก ปัจจุบันเหลือเพียง 4 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ส่วนประเทศไทยหลังการทำ IUU fishing กับ EU ในปี 2558 ไทยได้สูญเสียสถานะเดิมไป

ในอดีตมูลค่าของสัตว์ทะเลที่ไทยเคยทำได้ปีละอย่างน้อย 7 แสนล้านบาท และหากคิดในแง่ของการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากอาชีพประมง ผมคาดว่าตัวเลขอาจสูงถึงเกือบล้านล้านบาท อุตสาหกรรมประมงทำให้เกิดการจ้างงานอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 5 แสนคน และเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน เฉพาะที่ปัตตานีเพียงจังหวัดเดียวก็สามารถสร้างมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจกว่าหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี

กล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมนี้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเองโดยไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและสถาบันการเงินมาก่อน เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ออกหาประสบการณ์ในทะเลด้วยตนเองตั้งแต่อายุ 6-7 ขวบ ประสบการณ์ทางทะเลของผู้ประกอบการไทยสั่งสมกันมาหลายชั่วอายุคน

หลังการรัฐประหารปี 2557 สหภาพยุโรป (EU) ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลไทยแก้ปัญหาเรื่องเรือประมงพาณิชย์ไทย 3 ด้านคือ

1.การทำประมงผิดกฎหมาย โดยขอให้รัฐบาลไทยตรวจสอบขนาดและขึ้นทะเบียนเรือประมงพาณิชย์ไทยทุกลำภายในปี 2558

2.การทำประมงที่ไร้การควบคุม โดยขอให้รัฐบาลไทยออกกฎหมายให้มีการติดเครื่องส่งสัญญาณบนเรือที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป (VMS) เพื่อส่งสัญญาณว่าเรือประมงไทยไม่ได้ออกนอกอาณาเขตประเทศไทย ไม่มีการรุกล้ำน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน และห้ามเข้าเขตแนวชายฝั่งที่เป็นแหล่งวางไข่ของพันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ และ

3.การทำประมงไร้การรายงาน โดยขอให้รัฐบาลไทยออกกฎหมายให้เรือทุกลำต้องทำเอกสารแจ้งเข้าและแจ้งออกโดยศูนย์ PIPO และส่งเอกสาร LOGBOOK รายการจับสัตว์น้ำ ให้ลงเวลาและสถานที่ๆจับสัตว์น้ำ

มาตรการของอียูถือได้ว่าเป็นการลงโทษทางด้านเศรษฐกิจ(economic sanction) ต่อรัฐบาลทหารในขณะนั้น เนื่องจากอียูไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ แม้ว่ารัฐบาลไทยจะสามารถแก้ปัญหาทั้ง 3 ด้านที่อียูกดดันได้ทั้งหมดภายในในปี 2558 โดยการออกกฎหมาย กฎกระทรวงและกฎระเบียบหลายร้อยฉบับ จนกระทั่งอียูให้การยอมรับ แต่สิ่งที่รัฐบาลและสังคมไทยไม่ได้คาดคิดมาก่อนคือกฎหมายและระเบียบต่างๆของทางราชการส่งผลให้กองเรือพาณิชย์ไทยที่เคยยิ่งใหญ่มาช้านานต้องล่มสลายลงอย่างฉับพลันทันที ผมคาดว่ากองเรือพาณิชย์ไทยขนาดกลางและใหญ่ในขณะนี้ถูกทำลายลงไปราว 70 เปอร์เซ็นต์ของกองเรือทั้งหมด

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา คณะอนุกมธ.เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในคณะกมธ.แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ของวุฒิสภาจึงได้เชิญคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่ประกอบด้วย
1. นายถาวร ทันใจ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง
2. นางชวนพิศ จันทรวราทิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานการต่อต้านการทำประมง IUU

กรมเจ้าท่า
1. นายกริชเพชร ชัยช่วย รองอธิบดีกรมเจ้าท่า
2. นายธวัชชัย สมม้อย นักวิชาการขนส่งชำนาญการพิเศษ
3. นางธนภรณ์ จำปาศรี นักวิชาการขนส่งชำนาญการ

สมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี
1. นางอันน์เกตุ ลีลาไพบูลย์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี
2. นางสาวสมพิศ สกลวิจิตรอุปนายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี
3. นายก้องเกียรติ เพียรแสวงบุญ เลขาธิการสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี
4. นายกฤษณ์พสุ เจริญ กรรมการและผู้จัดการสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี
5. นายอุดมศักดิ์ คุรุปรีชารักษ์อุปนายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี

มาร่วมกันหารือเพื่อจะแกะปัญหาประมงพาณิชย์ไทยทีละเปาะ สำหรับสาเหตุและปัญหาเฉพาะ ของประมงพาณิชย์ จ.ปัตตานี พอสรุปได้ดังต่อไปนี้คือ

1) ปัญหาและสาเหตุ

1.1 การลดลงของปริมาณสัตว์น้ำในทะเลไทย เป็นเหตุให้อียูใช้การลงโทษทางด้านเศรษฐกิจต่อรัฐบาลไทยด้วยการประกาศให้ใบเหลืองต่ออุตสาหกรรมประมงไทย (IUU)

1.2 กฎหมาย กฎกระทรวงและระเบียบต่างๆของทางราชการที่ออกมาใช้บังคับกับเรือประมงพาณิชย์ไทยดูเหมือนว่าจะรุนแรงเกินกว่าที่อียูตั้งใจ บทลงโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญาที่รัฐบาลไทยกำหนดไว้สูงมากจนอาจกล่าวได้ว่าสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการประมง อย่างรุนแรง (เหมือนกฎหมายปราบปรามยาเสพติด) และสร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสต่อพวกเขา

1.3 ประมงพาณิชย์ในจังหวัดปัตตานีกว่า 120 ลำจำเป็นต้องหันไปถือสัญชาติมาเลเซียแทนเพื่อความอยู่รอดของตนเองเพราะไม่สามารถฝากความหวังกับรัฐบาลไทยได้อีกต่อไป

1.4 การย้ายฐานประกอบการ และการยุติการทำธุรกิจประมงในปัตตานีส่งผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และธุรกิจรายย่อยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ลูกจ้างจำนวนมากกลายเป็นคนว่างงาน เศรษฐกิจปัตตานีซบเซาจนเกือบเป็นเมืองร้าง ผู้คนต่างต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเปลี่ยนอาชีพใหม่แต่ความทุกข์ ความยากจนและความรู้สึกที่สิ้นหวังระบาดไปทั่ว จนผู้คนมองไม่เห็นอนาคตของตัวเองอีกต่อไป

1.5 ปัจจุบันการนำเรือประมงไทยสัญชาติมาเลเซียเข้ามาซ่อมบำรุงในไทยทำได้ยาก เพราะมาเลเซียมีนโยบายไม่ให้เรือสัญชาติมาเลเซียออกนอกประเทศ เพราะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ประมงไทยได้ไปช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตำบลโต๊ะบาหลีอย่างเห็นได้ชัดดังนั้นนโยบายของรัฐบาลมาเลเซียจึงส่งผลกระทบต่อกิจการซ่อมแซมเรือประมง (ไม้) ของไทย ที่อาจต้องปิดตัวลงและคนงานต้องตกงาน หรืออาจจะต้องย้ายถิ่นฐานไปประกอบการในมาเลเซียแทน ซึ่งจะทำให้ไทยต้องสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในพื้นที่มากขึ้นไปอีก

2) ความต้องการของผู้ประกอบการ

2.1 การนำเรือประมงไทยจำนวน 12 ลำที่ขึ้นทะเบียนกับมาเลเซียกลับมาซ่อมบำรุงในปัตตานีในขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ นี่เป็นปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่ทางอนุกมธ.กำลังหาลู่ทางต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในเรื่องนี้อย่างเต็มที่

2.2 ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลช่วยรับซื้อเรือไป เพื่อนำไปใช้เป็นปะการังในทะเล เพราะพวกเขาต้องการนำรายได้ไปประกอบอาชีพอื่นแทน เช่น ท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เปิดhomestay และร้านอาหารทะเล เป็นต้น ทั้งหมดนี้แม้จะดูเป็นเรื่องที่หมดหวัง และไม่น่าจะถูกต้องที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะประเมินบทบาททางด้านเศรษฐกิจของประมงพาณิชย์ตำ่เกินไป แต่สถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังเลวร้ายในขณะนี้เป็นแรงบีบคั้นให้พวกเขาต้องยอมจำนนโดยไม่เห็นทางเลือกอื่นที่รัฐบาลจะหยิบยื่นให้

2.3 ค่าจ้างแรงงานรายเดือนเป็นภาระของผู้ประกอบการที่ทำประมงได้เพียง260วัน แต่ผู้ประกอบการต้องจ่ายรายเดือน 365 วัน ส่วนอีก 100วันต้องจ่ายชดเชยให้ลูกจ้างทั้งที่ไม่ได้ทำงาน ซึ่งกลายเป็นภาระที่ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้

3) แนวทางแก้ไขปัญหา

3.1 เฉพาะหน้ากรมประมงต้องช่วยเจรจากับรัฐบาลมาเลเซียในการออกใบอนุญาตให้นำเรือไทยสัญชาติมาเลเซียมาซ่อมบำรุงที่ปัตตานี(ทางรัฐบาลไทยควรออกหนังสือรับรองยืนยันวัตถุประสงค์เพื่อการซ่อมบำรุงและไม่มีสัตว์นำเข้าประเทศ) เพื่อเอื้อต่อการออกเอกสารที่เกี่ยวข้อง คือ Port Clearance ของทางมาเลเซีย

3.2 เรือ 220 ลำในปัตตานีที่รอรัฐบาลรับซื้อควรจัดเป็นโครงการเฉพาะเพื่อเร่งรัดกระบวนการดำเนินการ โดยอาจผ่านเข้าสู่ คปต.ส่วนหน้า

3.3 กรณีการจ้างแรงงานประมงฐานรายเดือน อนุกมธ. รับจะไปประสานให้สมาคมประมงได้หารือกับรมว.แรงงาน โดยเน้นแรงงานไทยลงเรือแทนแรงงานต่างด้าว

3.4 ในสถานการณ์ที่กำลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงในขณะนี้ รัฐบาลต้องออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือ และใช้กฎหมายตลอดจนกฎเกณฑ์ต่างๆอย่างยืดหยุ่นกับผู้ประกอบการประมง เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้อยู่รอดได้

การทำ IUU fishing มีข้อดีที่เห็นชัดเจนคือปริมาณสัตว์น้ำที่ชายฝั่งเพิ่มขึ้นมาก จำนวนเรือประมงพื้นบ้านเพิ่มขึ้นจากราว 1 หมื่นลำเป็นประมาณ 5 หมื่นลำในขณะนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากภาพรวมของอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์ไทยที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากการที่รัฐบาลพยายามทำตามกรอบของ EU จนกระทั่งอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์ไทยล่มสลาย ผมคิดว่านี่ไม่ใช่เจตนาและความตั้งใจของ EU แน่ เพราะฉะนั้นโดยหลักการแล้ว เราจึงมีความชอบธรรมที่จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกับ EU ใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย 

นอกจากนี้รัฐบาลควรหันมาสนับสนุนเรือประมงพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่และขนาดกลางให้ออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศให้มากขึ้น โดยการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือ การทำข้อตกลงหรือการขอสัมปทานกับประเทศต่างๆทั่วโลกที่ไม่มีความชำนาญในการทำประมงทั้งในอาเซียน เอเชีย กลุ่มประเทศอาหรับและประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา นอกจากนี้ เรือประมงพาณิชย์กว่า 1,000 ลำที่ผู้ประกอบการประมงต้องการขายให้รัฐบาลไปทำปะการัง ผมคิดว่ารัฐบาลควรใช้เรือประมงพาณิชย์เหล่านี้มาสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจไทยมากกว่าครับ

ผมคิดว่าสาเหตุการล่มสลายที่แท้จริงของกองเรือประมงพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มาจากอียู แต่น่าจะมาจาก 4-5 กระทรวงของไทยที่ออกกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆจำนวนมากมายมหาศาลที่ช่วยกันพันธนาการจนเรือประมงพาณิชย์ไทยไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้มากกว่า

ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ 
วุฒิสมาชิก / ประธานคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น