xs
xsm
sm
md
lg

เอาให้ชัด! “ปิยบุตร” ชิงเกมเสนอตั้ง “กมธ.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” “สมชาย” แฉข้อมูลลึก “แรมโบ้” อัด “พท.” ถึงกึ๋น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายปิยบุตร แสงกนกกุล จากแฟ้ม
ชี้นำอีกแล้ว “ปิยบุตร” ชิงเสนอตั้ง “กมธ.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” เพื่อถกเถียงอย่างปลอดภัย “สมชาย” อ้างข้อมูลลึก การชุมนุมเข้าสู่ขั้นตอนอันตราย ของ “อาหรับสปริง โมเดล” “แรมโบ้” อัด “พท.” ถึงกึ๋น จี้ถามยืนข้างใคร “ม็อบ” หรือ “สถาบันฯ”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (20 ต.ค. 63) เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์คลิปและข้อความ ระบุว่า

“จะชอบหรือไม่ชอบ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จนถึงวันนี้ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า ในห้วงเวลานี้ ข้อเรียกร้องของประชาชนจำนวนมาก คือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) แถลงข่าวว่า ตนเป็นรัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องสถาบันกษัตริย์ เช่นนี้ เราจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร?

ผมเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร มีมติตั้ง กมธ.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องนี้ นำเอาข้อเสนอของประชาชนเข้ามาผลักดัน เพื่อให้สถาบันกษัตริย์สามารถอยู่กับประชาธิปไตยได้ การปกป้องสถาบันกษัตริย์ในยุคสมัยนี้ มีแต่เพียงทางนี้เท่านั้น การปกป้องสถาบันกษัตริย์ต้องมิใช่การบังคับ การปราบปราม หรือการจงใจละเลยไม่พูดถึง”

ภาพ นายสมชาย แสวงการ จากแฟ้ม
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

“นักคิดทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีทางการเมืองที่ติดตามการก่อเหตุชุมนุมประท้วงที่มีต่างชาติอยู่เบื้องหลัง ทั้งทุน กำลังคน มันสมอง และสื่อ

ประเมินสถานการณ์การยกระดับการชุมนุมในไทยเปรียบเทียบกับอาหรับสปริงไว้อย่างน่าสนใจ ขณะที่ความเห็นเดิมผมนั้นมองที่การเริ่มต้นจากฮ่องกงโมเดล ไปสู่อาหรับสปริง แต่เพื่อนต่างชาติบางคนบอกผมว่า ให้ระวังมหาอำนาจตะวันตกที่พยายามทำลายล้างแบบเสแทบ หรือซีเรีย ด้วย

และนี่คือส่วนหนึ่งของข้อความที่ผมได้รับจากผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ประสงค์ออกนามระบุว่า

“พวกเขาทำมาได้หลายองค์ประกอบของการก่อการร้ายแล้วครับ ตอนนี้อยู่ในขั้นก่อการประท้วง ขั้นต่อไปที่พยายามทำ คือ การก่อการจลาจล โมเดลเดียวกับอาหรับสปริงเลยครับ”

โปรดใช้วิจารณญาณไตร่ตรองวิเคราะห์กันดูครับ ว่า ประเทศไทยเราจะยอมปล่อยให้ไปถึงจุดนั้น ด้วยการชี้นำจากนักล่าอาณานิคมมหาอำนาจตะวันตกยุค 5.0 กันด้วยการชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้านกันแบบนี้

คนไทย 69 ล้านคน จะยอมหรือร่วมกันสู้ครับ?”

ที่สำคัญไปกว่านั้น นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ทำจดหมายเปิดผนึกถึงพรรคเพื่อไทย หัวเรื่อง

“จดหมายเปิดผนึกจาก...แรมโบ้อีสาน ถึง...พรรคเพื่อไทย”

โดยระบุว่า #ผิดหวัง ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ยังเล่นการเมืองแบบเดิมๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

#บทเรียนในอดีต ไม่เคยเอามาใช้ เจ็บแล้วไม่เคยจำ

จากการแถลงการณ์ 4 ประเด็น ของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้บริหารพรรค ผมเห็นแล้วว่า ยังเป็นการตีกินทางการเมืองไม่ได้ช่วยหาทางออกที่ดีให้กับบ้านเมืองเลยสักนิด

ผมจึงขอเขียนจดหมายเปิดผนึก โดยรวบรวมข้อมูลคำถามจากประชาชนฝากมาถึงพรรคเพื่อไทย และฝากผู้บริหารพรรคเพื่อไทย ได้ตระหนักว่า อย่าเล่นการเมืองแบบเดิมๆ เหมือนในอดีต บทเรียนในอดีต เจ็บแล้วต้องจดจำ โดยมีเนื้อหาสาระ ดังนี้

1. การให้ท้ายแกนนำที่คิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ควรสนับสนุนหรือไม่

2. การให้ ส.ส.ไปประกันตัวแกนนำ คนที่ปราศรัยก้าวล่วง จาบจ้วงสถาบัน และปิดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน เหมาะสมหรือไม่

3. แถลงการณ์ 4 ข้อ ไม่เห็นว่า พรรคเพื่อไทยมีการประกาศจุดยืนปกป้องสถาบันกษัตริย์ ประเด็นนี้ ช่วยตอบพี่น้องประชาชนว่า พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนเดียวกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล นางสาวพรรณิการ์ วานิช และกลุ่มก้าวหน้า และกลุ่มคณะราษฎร 63 หรือไม่ เพราะประชาชนเห็นภาพ ส.ส. เพื่อไทย เข้าไปร่วมชุมนุมและให้การสนับสนุนแกนนำเหล่านี้ตลอดมา

4. การที่พรรคเพื่อไทย เสนอให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก พรรคเพื่อไทยหวังผล ได้อำนาจมาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพวกพ้องตนเองหรือไม่ มีอะไรยืนยันว่า จะไม่ตอบสนองผลประโยชน์ธุรกิจทางการเมือง และมีอะไรยืนยันจะไม่ปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชันเช่นอดีตในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

5. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ประกาศยืนหยัดปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จะไม่ให้ใครมาก้าวล่วง จาบจ้วง ล้มล้างสถาบัน พรรคเพื่อไทยมีผู้นำกล้าประกาศ จุดยืนเช่นนี้หรือไม่

6. พรรคเพื่อไทยหรือบุคคลใดจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย รู้ได้อย่างไรว่าจะไม่มีคนมาขับไล่ เพราะประชาชนที่ปกป้องสถาบันฯ พร้อมจะขับเคลื่อนออกมาปกป้องสถาบันฯทุกเวลา ถึงแม้มีรัฐบาลใหม่ ม็อบบนท้องถนนจะจบได้อย่างไร เหตุการณ์ม็อบชนม็อบก็เกิดขึ้นมาในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยแล้วมิใช่หรือ แล้วจะมีแนวทางป้องกันมิให้ม็อบชนม็อบไว้อย่างไร

7. ถ้ารัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ถ้าเกิดสถานการณ์เกิดเหตุรุนแรง ทำลายสถานที่ราชการ เผาบ้านเผาเมืองเหมือนในอดีต พรรคเพื่อไทยจะรับผิดชอบหรือไม่

8. การใช้พฤติกรรมลักษณะเชิงข่มขู่จะยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดียว ทั้งที่ไม่มีความผิดในเรื่องอะไร เป็นการทำหน้าที่ของพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ดีหรือไม่

9. ข้อสุดท้าย การเล่นการเมืองแบบอาฆาตแค้นส่วนตัว และต้องการทำลายล้างกันตลอดมา โดยไม่คิดถึงความเสียหายต่อประเทศชาติประชาชน ขอให้ได้อำนาจทางการเมืองกลับคืนมาเพื่อผลประโยชน์ธุรกิจของใครบางคนหรือพวกพ้องตน พรรคเพื่อไทยยังมีแนวคิดวิธีการเช่นนี้อยู่หรือไม่

ภาพ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ จากแฟ้ม
คำถามทั้ง 9 ข้อนี้ ผมได้รวบรวมจากพี่น้องประชาชนฝากถามมา และยังมีคำถามอีกมากมายหลายคำถามที่ประชาชนที่จงรักภักดีและปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ฝากถามมา ผมจะได้ฝากคำถามส่งมาถึงพรรคเพื่อไทยในโอกาสต่อไป

พรรคเพื่อไทยควรนำบทเรียนในอดีตมาเตือนสติ อย่าให้ประเทศชาติบ้านเมืองเสียหายย่อยยับมากกว่านี้ไปอีกเลย

ด้วยความรักและห่วงใย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 63 พรรคเพื่อไทย นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคได้เชิญ ส.ส.ของพรรคมาประชุม 4 ประเด็น คือ

1. ให้มาทำใบรับรองจากสภาฯ เพื่อนำไปใช้ประกันตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมตัวทั่วประเทศ

2. เราจะขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเร่งด่วน

3. พรรคเพื่อไทยขอประกาศจุดยืนของพรรค ขอให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้าง

4. ขอให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมทุกคน

นายสมพงษ์ ระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนเดียวเท่านั้น ผู้ชุมนุมประกาศกดดันให้ลาออก พรรคเพื่อไทย จึงขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศลาออกไปเสียเลย อย่างไรก็ตาม หากเปิดประชุมสภาสมัยสามัญในเดือน พ.ย. เราจะยืนอภิปรายนายกฯ เพียงคนเดียว

เมื่อถามว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกแล้ว จะเสนอใครนั่งตำแหน่งนายกฯ นายสมพงษ์ กล่าวว่า ต้องเป็นไปตามกติกาก่อน โดยต้องเสนอชื่อตามรายชื่อของแคนดิเดตนายกฯที่เคยยื่นไว้ พรรคเพื่อไทย เราต้องเลือกคนที่ดีที่สุด ยังเหลือ นายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯของพรรคอยู่

เมื่อถามว่า จะเป็นคนจากพรรคอื่น หรือเป็นคนนอกที่เป็นที่ยอมรับดีหรือไม่ นายสมพงษ์ กล่าวว่า แคนดิเดตจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยก็มี พรรคเพื่อไทยก็มี 3 คน คิดว่า ตัวเลือกมีพอเพียง...

แน่นอน, ดูเหมือนนักการเมืองส่วนใหญ่ในเวลานี้ ลังเลที่จะแสดงจุดยืนว่า จะเลือกฝ่ายใด ระหว่างฝ่ายผู้ชุมนุมเยาวชน ราษฎร 63 กับ การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนจะด้วยเหตุใดนั้น อาจมีหลายปัจจัยด้วยกัน ที่สำคัญคือ ภาพลักษณ์ของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” จึงอิหลักอิเหลื่อที่จะบอกว่า ยืนข้างอีกฝ่าย หรือ ถ้าจะให้สนับสนุนนายกฯ ถ้าเป็นพรรคเพื่อไทย ก็อยู่คนละฝ่ายอยู่แล้ว

แต่ที่แสดงตนอย่างชัดเจนก็มี นั่นคือ ส.ส.ที่ไปร่วมชุมนุม ตั้งแต่ต้นจนถึงเวลานี้ ด้วยความท้าทาย จะให้ประชาชนคิดว่า ปกป้องสถาบันฯ ก็คงไม่ใช่อีกแล้ว

ถ้ามองในประเด็นของ “แรมโบ้อีสาน” ที่เรียกร้องให้นักการเมืองพรรคเพื่อไทย แสดงจุดยืนที่ชัดเจน สิ่งที่ได้เห็นอาจเป็นแค่ “ลิงหลอกเจ้า” เท่านั้น

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร คนไทยน่าจะมีความชัดเจนแล้วว่า คนไทยจำนวนหนึ่ง ซึ่งถ้าดูจากม็อบปฏิรูปสถาบันฯถือว่าไม่น้อย อาจเห็นด้วยที่จะให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกัน คนไทยส่วนใหญ่ ที่เป็นทั้งกลุ่มเคลื่อนไหวปกป้องสถาบัน พลังเงียบที่เฝ้าจับตามองการชุมนุมด้วยความปวดร้าวใจ ก็ยังคงมีความจงรักภักดีเทิดทูนสถาบัน ไม่เสื่อมคลาย ดังนั้น คงไม่เกินความจริงที่จะบอกว่า คนไทยมีความขัดแย้งแตกแยกกันอย่างสูง โดยเฉพาะคนรุ่นเก่า กับ คนรุ่นใหม่ ที่เติบโตมากับ “ค่านิยมตะวันตก” ไม่ว่าจะเป็น ค่านิยมในการ กิน อยู่ แสดงออก ไปจนกระทั่งรสนิยม ความศรัทธาทางการเมือง เพราะรากวัฒนธรรมไทยในหลายครอบครัวถูกปล่อยปละละเลยนั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ อันตรายที่คืบคลานเข้าใกล้ สำหรับการปะทะกันของความขัดแย้ง จึงนับว่าน่ากลัว และไม่อาจคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้

และก็ไม่แน่ว่า การหาทางออกด้วยการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ จะตรงใจข้อเรียกร้องของม็อบทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าจะมีทางออกให้กับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มากนัก รวมทั้งคนไทยส่วนใหญ่ด้วย

แล้วถ้าขั้นตอนการต่อสู้ของม็อบยังไม่จบเพียงแค่นี้ อย่าง “อาหรับสปริงโมเดล” ที่วิเคราะห์กัน มหันตภัยจะยิ่งใหญ่หลวง ถึงขั้น “สงครามกลางเมือง” อย่างไม่มีทางหลีกพ้น

คงไม่มีคนไทยคนไหนอยากเห็นหรอกจริงมั้ย ถ้าไม่อำมหิตเกินคน หรือไม่จริง!!


กำลังโหลดความคิดเห็น