xs
xsm
sm
md
lg

จัดทัวร์ลง “อั้ม พัชราภา” ความใจแคบ เกินเลยของ “ติ่งม็อบ” ** ตู่กับม็อบ 3 นิ้ว เกมที่ใครชนะประเทศก็มีแต่ย่อยยับ ***เบื้องหลังปล่อยข่าวดิสเครดิต "หมอตุ้ม" พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์







ข่าวปนคน คนปนข่าว

** จัดทัวร์ลง “อั้ม พัชราภา” ความใจแคบ เกินเลยของ “ติ่งม็อบ”

มาถึงจุดนี้จนได้ เมื่อดาราสาว ซุปตาร์ “อั้ม” พัชราภา ไชยเชื้อ ถูก “ติ่งม็อบ 3 นิ้ว” จัดทัวร์ลง หลังโพสต์โซเชียลฯตัวเอง ตามหาเจ้าของสุนัขที่พลัดหลง ซึ่งโดยส่วนตัวดาราสาวรายนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็น นางเอกนอกจอ มีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อสัตว์ให้ความช่วยเหลือต่อสุนัขอยู่เสมอๆ

โพสต์ก็ดูธรรมดาๆ ที่เธอเคยทำ แต่ปรากฏว่า ความเห็นที่เข้ามาอย่างไม่ปกติ ต่อว่า ด่าทอ จำนวนมากในโพสต์นั้น เป็นความตั้งใจที่จะหาเรื่องตำหนิ กดดัน “อั้ม พัชราภา”

อาทิ “Ignor อยู่ได้ หรือจริงๆ แล้วเป็นสลิ่ม, หมาที่หายมีค่ามากกว่าชีวิตคนเหรอคะ ? รักหมา แสนดี ซุปตาร์เบอร์ 1 เมืองไทย แต่นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนด้วยกัน จะอ้วก”

ทัวร์ที่ลงนี้ ยังตั้งคำถามถึงการแสดงออกของ “อั้ม” ที่เมินเฉยหลังที่มวลชน “คณะราษฎร” ถูกตำรวจใช้น้ำความดันสูงฉีด เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ คนกลุ่มนี้มองว่า “อั้ม” ไม่โพสต์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำรุนแรงต่อม็อบ เหมือนดาราบางส่วน เท่ากับสนับสนุนความรุนแรง

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร “ติ่งม็อบ” ช่างใจคับแคบ ทำเกินไปมั้ย

แน่นอนว่า “แฟนคลับอั้ม” เข้ามาให้กำลังใจตรึมเช่นกัน โต้ตอบแบบถึงกึ๋น เช่น “พวกที่บอกตัวเองเป็นประชาธิปไตยอะ เป็นจริงหรือป่าว หรือแค่เกลียดแล้วพาล ถึงได้ตามมาระรานชีวิตคนอื่นเขา ติคนนู้น ว่าคนนี้ เพื่อจะให้เขามาอยู่ข้างตัวเอง นี่มันคือสิทธิส่วนบุคคล จะมาบังคับหรือบงการชีวิตคนอื่นเขาได้ยังไง ถึงจะไม่ชอบรัฐบาลคุณก็ไปลงที่รัฐบาล อย่ามาลงที่ชีวิตของคนอื่น”
ถ้ามองด้วยคนกลางๆ การที่ “อั้ม” พัชราภา ไชยเชื้อ จะโพสต์หรือไมโพสต์ อะไร ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล หรือการนิ่งเงียบ ก็ไม่ได้แปลว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง ไม่เกี่ยวกันเลย งานนี้ คิด วิเคราะห์ แยกแยะกันหน่อย



** ตู่กับม็อบ 3 นิ้ว เกมที่ใครชนะประเทศก็มีแต่ย่อยยับ

ว่าด้วยความเคลื่อนไหวของแฟลชม็อบ “คณะราษฎร” ที่วันนี้อัปเลเวล โดยผู้ชุมนุมขยายตัวทั้งที่ไม่มีนัดหมายสถานที่ล่วงหน้า แต่ผู้ชุมนุมรับรู้กันในแบบเต็มพรึ่บในทุกพื้นที่ที่นัด ดาวกระจายเคลื่อนไหวไปทุกที่ และมีแนวร่วมเปิดเวทีขนานไปทั่วในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ชนิดที่ว่า ก๊อบปี้ “ฮ่องกงโมเดล” มาเต็มๆ ซึ่งม็อบแบบนี้หลายฝ่ายกังวล เพราะเป็นอะไรที่รับมือ จัดการได้ยาก และหากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกใช้วิธี “ล้อมปราบ” ยิ่งจะบานปลาย แล้วสถานการณ์จะพัฒนาไปอย่างไร ...ทางออกสุดท้ายจะจบอย่างไร จบเมื่อไหร่ ? เป็นสิ่งที่คนในสังคมกำลังเครียดและกังวลใจในคำตอบ

แต่ก่อนจะได้คำตอบเรื่องนี้ ก็ย้อนกลับไปดูกันสักนิดว่า ม็อบมาถึงวันนี้ได้อย่างไร ? ย่อมต้องมีที่มาจากรัฐบาลเป็นผู้เพาะเชื้อไฟเอาไว้เอง หนึ่งในนั้นจากผู้มีอำนาจในรัฐบาลวางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี “ลุงตู่อยู่ยาว” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจ อยู่ในอำนาจ วางโครงสร้างและกติกา โดยเฉพาะผ่านกระบวนการรัฐสภา ที่มี “ส.ว.” เป็นนั่งร้านค้ำยัน

สอง เพาะสร้างความไม่เขื่อมั่นต่อความยุติธรรม ที่ฝ่ายตรงข้ามถูกกระทำฝ่ายเดียว ฝ่ายตัวเองและพวกพ้องกลับได้รับการยกเว้น กรณี “ยุบพรรคอนาคตใหม่” ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นจุดเริ่มความไม่พอใจ และการที่จะเอาคืนด้วยการปลุกม็อบลงถนนค่อยๆ บิ้วด์อารมณ์กันมาต่อเนื่อง

สาม ความไม่จริงใจในการแก้ไข รธน. แสดงออกว่า พยายามเตะถ่วง ซื้อเวลาอย่างเห็นได้ชัด กลายเป็น “เงื่อนไข” ที่ม็อบและฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามคนอยู่เบื้องหลังใช้เป็นประเด็นเคลื่อนไหว

3 ข้อที่ว่ามา เป็นก้าวที่จะเรียกว่าเป็นข้อผิดพลาดที่บรรดาลุงๆ “ลุงตู่ ลุงป้อม ลุงป๊อก” พากันมั่นใจตัวเองอย่างแรงกล้า ถึงขนาดศักยภาพ 3 ประสาน “ลุงตู่” คุมรัฐบาล - “ลุงป้อม” ดูการเมือง นั่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ “ลุงป๊อก” ผูกขาดมหาดไทย ดูมวลชน ยังไงก็ยากที่ใครจะโค่นล้ม

การดูเบา สบประมาทประเมินศัตรูต่ำเกินไป แถมแสดง “Over Power” ของรัฐบาล โดยที่ลืมไปว่า ตั้งแต่แผน “ลุงตู่อยู่ยาว” มาถึงเมินปิดสวิตช์ ส.ว.ซื้อเวลาแก้ รธน. นั้น ย่อมต้องมีฝ่ายที่ไม่ยอมเดินไปตามเกมเดียวกันกับผู้มีอำนาจอยูแล้ว

เมื่อฝ่ายตรงข้ามเห็น “ไทม์มิ่ง” เหมาะสม เปิดเกมเริ่มรุกไล่ ไม่ว่าจะให้เยาวชนออกหน้า หรือจับมือประสานเสริมกับกลุ่ม “เสื้อแดง” และก่อนจะสร้างปัญหาได้ บังเอิญได้ผลบุญของแผน “ชักฟืนออกจากเตา” จากปรากฏการณ์ “กราบสะเทือนแผ่นดิน” ของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร แม้จะเบรกมวลชนเพื่อไทย และเสื้อแดงบางส่วนได้ ก็แค่ทำให้ม็อบขาดกำลังหนุนไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่แทนที่รัฐบาลจะได้เปรียบ กลับทำตัวเองให้เป็นเงื่อนไขยิ่งขึ้น

นี่คือ “ฝ่ายลุง” ที่กำลังดำเนินไปบนความเชื่อที่พูดออกมา “ผมทำผิดอะไร”

ทีนี้ดูฟากของม็อบ ในเมื่อมีเงื่อนไขจึงมีม็อบ และม็อบก็รู้ว่า หากต้องการชนะ ก็ต้องหามวลชนเข้าร่วม ยิ่งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี จากคู่กรณีจะอยู่แค่รัฐบาลคงยืดเยื้อยาวนาน เพราะประวัติศาสตร์ของม็อบขับไล่รัฐบาล ตั้งแต่ พันธมิตรฯ ไล่ทักษิณ เสื้อแดงไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ กกปส.ไล่ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่ใช้เวลาสั้นๆ

การขยับไป “เล่นของสูง” ผ่านการใช้สัญลักษณ์ และมาถึงจุดที่คนไทยไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ ก็คือ การคุกคามสถาบันกษัตริย์ ที่แฝงมากับการบรรจุเป็นข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันฯ” ฝ่ายอยู่เบื้องหลังม็อบ ย่อมคิดเอาไว้อยู่แล้ว

จุดเปลี่ยนที่ต้องบอกว่า ม็อบเลือก “ไทม์มิ่ง” เป็น 14 ตุลาฯ แล้วเลือกก่อกวนตั้งแต่ 13 ตุลาฯ วันสำคัญที่คนไทยน้อมรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตของในหลวง ร.๙ จนถึงเหตุการณ์ประชิดขบวนเสด็จของพระราชินิ พิสูจน์ได้ว่า ฝ่ายม็อบรู้ว่า การเดินเกมเสี่ยง “เล่นของสูง” แล้วจะมีอิมแพ็ก สั่นสะเทือนแผ่นดิน

การยั่วยุ การก่อกวน ก็เพื่อให้รัฐล้อมปราบ หรือใช้ความรุนแรง ซึ่งตามเกม เมื่อรัฐไม่อาจอดรนทนไหว เล่นเกมนี้ก็เข้าทาง เห็นได้เลยว่าการฉีดน้ำแรงดันสูง สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ตุลาฯ กลายเป็นเรียกแขกให้ม็อบ แนวร่วมดารา คนมีชื่อเสียง ที่คิดน้อยก็กระโจนเข้าร่วมต่อต้านทันที ทั้งๆ ที่วิธีการสลายด้วยการฉีดน้ำของตำรวจคุมฝูงชนเป็นมาตรการที่เบากว่าการสลายม็อบครั้งก่อนๆ

เมื่อสองทัพตั้งประจันหนัา อยู่ที่ว่าใครจะก่อความผิดพลาดกันก่อน ! เวลานี้รัฐก็สับสน และไม่รู้จะจัดการแฟลชม็อบคณะราษฎรได้อย่างไร

ม็อบมาถึงวันนี้ เคลื่อนไหวในแบบ “ฮ่องกงโมเดล” แฟลชม็อบมาแล้วก็สลาย ดีไซน์ ออแกไนซ์ ออกแบบกันใหม่ทุกวัน บอกว่า ทุกคนเป็นแกนนำได้ เพราะแกนนำตัวหลักถูกรวบ ถูกจับไปหมด แต่นั่นเป็นแกนนำที่เป็น “ตัวละคร” ออกหน้าแต่อย่าลืมว่า ยังไงๆ ม็อบคณะราษฎร ก็ต้องมี “เจ้าของ” ลองคิดให้ดี ใช่หรือไม่ใช่ ?

ที่ว่า ม็อบกรุงเทพโมเดล ใครๆ ก็เป็นแกนนำได้จรืงหรือ?? ในพื้นที่สถานที่นัดชุมนุมอาจจะใช่ แต่รูปแบบ เบื้องหลังการเชื่อมโยงเครือข่าย IO ปฎิบัติการข่าว เพจต่างๆ ในการต่อสู้ สื่อโซเชียลฯ ในการนัดหมายสื่อสารกัน ทุนในการใช้เครื่องขยายเสียง พร็อบต่างๆ ในม็อบ เหล่านี้ มีออกาไนซ์ ที่ปรึกษาและวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนอยู่แล้ว ต้องไปถาม “ธนาธร-ปิยบุตร และ ช่อ พรรณิการ์ วานิช” ถึงความเป็นไปได้ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้

นี่ยังต้องกล่าวถึง ในทางทฤษฎีสมคบคิด ลองย้อนกลับไปดูการบ่มเพาะและแทรกแซงการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อกรณี “โจชัว หว่อง” มาถึง “ธนาธร” ต่อมาถึงการเชื้อเชิญ “เพนกวิน” สนทนา “คัฟเค้ก” ของเจ้าหน่าที่สหรัฐฯ กระบวนการมีความขัดในตัวเอง โดยเคลื่อนไหวที่สอดคล้องต้องกันอยู่เป็นระยะๆ

เมื่อความเชี่ยวชาญด้าน IO ใช้เครื่องมือโซเชียลฯ ที่หลากหลาย ทวิตเตอร์ หรือเฟชบุ๊ก ที่ทำได้ดีกว่า IO รัฐบาลที่มีเฉพาะเพจการเมืองสไตล์เก่าๆ พลังที่จะวัดกันจึงด้อยกว่าม็อบ

นี่คือหนึ่งปัจจัยที่แฟลชม็อบเรียกมวลชนใหม่ๆ ได้เรื่อยๆ

ที่ต้องย้ำกันให้เห็นภาพอีกครั้ง ก็คือ การเลือก “ไทม์มิ่ง” ถือเป็นแรงกระชากให้ม็อบจุดติด มองดูว่ามีพลังกว่ารัฐบาลเวลานี้ พวกเขารู้ว่า เวลานี้รัฐบาลต้องต่อสู้กับภาวะวิกฤตโควิด เศรษฐกิจดิ่งเหว ไม่มีใครคิดว่า เวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมกับการปลุกม็อบ ซึ่งม็อบไล่รัฐบาลยังไงก็ต้องการเวลา แต่การใช้ม็อบเวลานี้ นัดชุมนุมกันในย่านธุรกิจ ราชประสงค์ สุขุมวิท อโศก ห้าแยกลาดพร้าว ดาวกระจายไปทุกวัน นัดกันทุกเย็น แน่นอนว่า เศรษฐกิจที่แย่อยูแล้วจะพินาศไปอีก ไม่มีใครรู้ว่า เหตุการณ์ดำเนินไปในลักษณ์นี้จะยืดเยื้อไปแค่ไหน

ไทมมิ่งที่มีตัวประกันเป็นเศรษฐกิจและสถาบัน จะเป็นตัวเร่งและกดดันต่อรัฐบาลอย่างที่สุด

กล่าวโดยเวลานี้ มาถึงจุดที่ “วัดใจคนไทย” จริงๆ เลือกข้าง ข้างไหนก็ดูจะไม่มีอนาตต เหมือน 3×3 ที่สู้กัน ข้างหนึ่งรัฐบาล “ตู่ ป้อม ป๊อก” ข้างหนึ่งม็อบ มี “ธราธร ปิยะบุตร ช่อ” หนุนหลังรอรับประโยชน์ในเกมล้มโต๊ะนี้

หากทางออกคือ ยุบสภา ลาออก หรือเปิดสภาฯแก้ปัญหา แก้รัฐธรรมนูญ สุดท้ายสมมติมีเลือกตั้งใหม่ ขั้วอำนาจเปลี่ยน ฝ่ายที่เรียกว่าฝ่ายตนเองชนะ แต่คำถามคือ เป้าหมายที่แท้จริงของม็อบ และคนอยู่เบื่องหลังต้องการแค่นี้จริงหรือ ? ในเมื่อที่ผ่านมาและเป็นอยูแสดงออกโต้งๆ ว่า สุดท้ายจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวดที่ว่าด้วย “พระมหากษัตรย์” ชัดเจน

รัฐบาลก็ไม่มีดี ม็อบมีเป้าหมายล้มล้างสถาบันฯ

ตอนนี้สถานการณ์มันทำให้คนกลางๆ หายใจอึดอัดขัดข้อง แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร?

มองมุมไหน ไม่ว่าระหว่างรัฐบาล หรือ ม็อบใครชนะ คนที่แพ้ย่อยยับย่อมเป็นประเทศไทย.


พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ
*เบื้องหลังปล่อยข่าวดิสเครดิต "หมอตุ้ม" พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ "ไอ้โม่ง" หวังกอดเก้าอี้ หรือนั่งทับขี้อะไรไว้?? *

เรื่องนี้ต้องขยาย!! เหตุเกิดที่ รพ.ตำรวจ ขณะที่สถานการณ์การเมืองเขม็งเกลียว ผู้ชุมนุมในนามคณะราษฎร ปรากฏเป็นแฟลชม็อบทุกวัน ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ วันที่ 13 ตุลาฯ และการปฏิบัติงานของตำรวจที่ตรึงกำลังตามหน้าที่อยู่นั้น กลับมี "ผู้ไม่หวังดี" บางกลุ่มในหน่วยงาน"รพ.ตำรวจ" ที่เรียกว่า เป็น"นักรบเสื้อกาวน์" ทำงานปิดทองหลังพระ ฉกฉวยโอกาสเหตุชุลมุน ปล่อยข่าวไปภายนอกตามหน้าหนังสือพิมพ์หัวสีขาใหญ่ หวังผลตีตลบหลังให้ข่าวนั้นกระจายวิ่งย้อนมาทำลาย ทำร้ายกันเองในหน่วยอย่างน่ารังเกียจ 

โดยอ่านเจตนาดูก็รู้ว่า เป้าหมายคือ"ดิสเครดิต" การทำงานของ "หมอตุ้ม" พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ
ข่าวที่ปล่อยอ้างว่า "พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ" (สบ.8 แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ สั่งยุบทีมประชาสัมพันธ์โรงพยาบาล ยุติโครงการ “lnlove online” และ “lnlove@Home” ที่ "พล.ต.ต.ธนิต จิรนันท์ธวัช" นพ. (สบ 6) รพ.ตำรวจ ในฐานะประธานดูแลรับผิดชอบอยู่ ทั้งๆ ที่ทีมเสื้อกาวน์ชุดนี้ ทำงานประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ ตบท้ายด้วยเสียงบ่นเสียดายกันในทีม เรียกว่า... เต้าข่าวกันเป็นตุเป็นตะ 

วงใน รพ.ตำรวจว่ากันว่า "หมอตุ้ม" พล.ต.ท.โสภณรัชต์ พอได้รู้ข่าวก็ยีนยันทันที กับทีมบริหาร ที่บอกว่าแพทย์ใหญ่ต้องการเซตซีโร่ และยุบบางหน่วยงานในรพ.ตำรวจ นั้น "ไม่มีมูลความจริง" โกหกทั้งเพ !

เจ้าตัวตอนนี้หลังรับตำแหน่งเป็น "ผู้นำ" ในตำแหน่งแพทย์ใหญ่ เมื่อ1 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็มอบนโยบายให้ผู้ใต้บังคับบัญชามุ่งเน้นไปการดูแลสุขภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจ และประชาชนแบบเชิงรุก โดยเฉพาะปฏิบัติภารกิจในการรักษาผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมืองที่ตั้งประจันหน้ากันอยู่ในช่วงนี้ 

ว่ากันตามจริง ของแบบนี้ ถ้าจะยุบ-หรือเปลี่ยนแปลงอะไร ในฐานะ"ผู้นำองค์กร" ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข
ดูอย่าง "บิ๊กปั๊ด" พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. คนที่ถูกโฟกัสมากที่สุด ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังรับไม้ต่อจาก "พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา" ผบ.ตร คนก่อนหน้า ตั้งแต่วันที่ 1ต.ค.ที่ผ่านมา ก็จัดการโยกย้ายหลายตำแหน่ง แม้แต่หน้าห้อง-นายเวร ก็คนเดิมไป คนใหม่ก็ต้องมา

การเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง สิ่งที่เกิดขึ้นหมุนเวียนกันได้ คนของใคร ใครขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นผู้บังคับบัญชา ก็ต้อง"กระชับอำนาจ" ปรับโครงสร้าง วางกำลังกันใหม่ ต้องหาคนที่ตัวเองไว้วางใจ ทำงานตามนโยบายตัวเองได้

ส่วนคนที่ถูกกระทบ ที่ต้องกระเด็นหลุดออกไปก็ต้องยอมรับกันให้ได้ รอโอกาสใหม่ มันเป็น "วิถี" ที่วงการสีกากี หรือวงการราชการไหนๆ ก็ต้องเจอะต้องเจอ

เพราะฉะนั้นแล้ว หาก"หมอตุ้ม" จะยุบ จะเซตซีโร่ ในหน่วยงานที่ตนเองขึ้นเป็น "ผู้นำ" ก็เป็นสิทธิ์โดยชอบธรรม ไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธได้

หากคนที่ถูกโยกย้ายไม่เป็นธรรม นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่กลไกตามระเบียบตามกฎหมายก็เปิดช่องให้ร้องเรียน ทบทวน หรือ เลวร้ายที่สุดก็ฟ้องร้องกันไป แต่คนดีๆ ย่อมไม่เลือกที่จะปล่อยข่าวทำลายกัน

เฟกนิวส์แบบนี้ ดูดีๆ ย่อมมีคนได้ประโยชน์ทุกงาน ไม่เว้นกรณีนี้ย่อม มี "ไอ้โม่ง" ที่ไม่ต้องการให้ตัวเองหรือพวกพ้อง กระเด็นกระดอน ออกจากที่ตั้ง

คำถามที่ต้องถามว่า กลุ่มที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ปล่อยข่าวนู้นนี่นั่น กลัวอะไรกัน ? หรือเพราะมีประโยชน์ที่ไม่อยากทิ้งไป กลัวที่จะสูญเสียผลประโยชน์ที่เคยได้ ? หรือนั่งทับขี้อะไรไว้ กลัวคนใหม่ที่จะมาแทนที่รื้อเจอ
ของแบบนี้...กรรมเป็นเครื่องส่อเจตนา เอามือเดียวปิดฟ้ากันได้หรือ ?


กำลังโหลดความคิดเห็น