“บิ๊กฉิ่ง” ซักซ้อมเทศบาลตำบล-อบต.ทั่วประเทศกว่า 7,500 แห่ง ก่อนบังคับใช้ “กฎกระทรวงจัดระเบียบการจอดรถ” เป็น 2 ท้องถิ่นแรก ตามหลักเกณฑ์ต้องมีรถสัญจรในเขตเฉลี่ยเกินวันละ 100 คัน ต้องมีรายได้ต่อปีรวมเงินอุดหนุนไม่ตํ่ากว่า 25 ล้านบาท พร้อม จนท.เพียงพอ เผยกฎกระทวงอีก 2 ฉบับ “อัตราค่าธรรมเนียม-ให้เอกชนเรียกจัดเก็บ” ยังค้างในชั้นกฤษฎีกา เปิดค่าธรรมเนียมพบค่าจอดรถสูงสุด ชม.ละ 80 บาท ไม่เว้นแม้แต่มอเตอร์ไซค์
วันนี้ (16 ต.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงนามในหนังสือซักซ้อมแนวทางการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะนำกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พ.ศ. 2563 มาใช้บังคับกับอปท.2 แห่งแรก ประกอบด้วย เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ภายหลังกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ใช้บังคับกับเทศบาลตำบล หรือ อบต. ที่มีลักษณะตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ประกอบด้วย มีรถสัญจรในเขตของเทศบาลตำบล หรือ อบต. เฉลี่ยเกินวันละหนึ่งร้อยคัน ต้องมีรายได้ต่อปีรวมเงินอุดหนุนไม่ตํ่ากว่ายี่สิบห้าล้านบาท และสามารถจัดให้มีเจ้าหน้าที่เพียงพอต่อการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกัน เทศบาลตำบลใดมีพระราชกฤษฎีกาออกตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบการจอดยานยนต์ในเขตเทศบาลและสุขาภิบาล พ.ศ. 2403 กำหนดให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าวในเขตเทศบาลตำบลนั้นอยู่แล้วในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่า “เทศบาลตำบล” นั้นมีลักษณะครบถ้วน
เช่นเดียวกัน เทศบาลตำบล หรือ อบต.ที่มีลักษณะครบถ้วน และมีความประสงค์จะใช้บังคับพระราชบัญญัติจัดระเบียบการจอดรถในเขต อบต. พ.ศ. 2562 ให้ผู้บริหารท้องถิ่นและนายอำเภอรับรองข้อมูล และแจ้งให้กระทรวงมหาดไทยทราบ โดยให้มีผลใช้บังคับในเขตเทศบาลตำบล หรือ อบต.นั้น ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราขกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หนังสือฉบับนี้ยังแจ้งถึงร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการจอดรถในที่จอดรถ ค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องมือบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายรถ ค่าเคลื่อนย้ายรถ และค่าดูแลรักษารถในเขต อปท. พ.ศ. ... และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวคับการมอบให้เอกชนทำหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถ แทน อปท. พ.ศ. ... อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากตรวจพิจารณาแล้วเสร็จ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ตอนท้ายหนังสือระบุว่า กรณีที่ อปท.ใดจะตราข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อจัดระเบียบการจอดรถ ตามพ.ร.บ.จัดระเบียบการจอดรถในเขตอปท. พ.ศ. 2562 ยังคงต้อง รอร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการจอดรถในที่จอดรถ ค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องมือบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายรถ ค่าเคลื่อนย้ายรถ และค่าดูแลรักษารถในเขต อปท. พ.ศ. ... มีผลใช้บังคับ
กฎกระทรวงฉบับนี้ กำหนดให้พื้นที่ที่ประชาชนมาชุมนุมกัน เช่น ตลาด ที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานพยาบาล สถานที่ท่องเที่ยว พื้นที่ที่มีการประกอบการพาณิชย์หรือการค้าขายหรือการอุตสาหกรรม และมีความหนาแน่นในการจราจร จำเป็นต้องจัดให้มีที่จอดรถในทางหลวงหรือที่สาธารณะและจัดระเบียบการจอดรถ มีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินการจัดระเบียบการจอดรถ มีความพร้อมในการจัดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ วัสดุอุปกรณ์ และการบริหารจัดการ
สำหรับร่างกฎกระทรวงที่อยู่ในชั้นกฤษฎีกา 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการจอดรถ ที่กำหนดค่าธรรมเนียมในการจอดรถ ประกอบด้วย 1. จักรยานยนต์ ชั่วโมงแรก 5 บาท ชั่วโมงต่อไป 10 บาท 2. รถยนต์ขนาดไม่เกิน 4 ล้อ ชั่วโมงแรก 10 บาท ชั่วโมงต่อไป 20 บาท 3. รถยนต์ขนาด 6 ล้อ ชั่วโมงแรก 20 บาท ชั่วโมงต่อไป 30 บาท
4. รถยนต์ขนาด 8 ล้อ ชั่วโมงแรก 30 บาท ชั่วโมงต่อไป 40 บาท 5. รถยนต์ขนาด 10 ล้อ ชั่วโมงแรก 40 บาท ชั่วโมงต่อไป 60 บาท 6. รถยนต์ขนาดเกิน 10 ล้อ ชั่วโมงแรก 50 บาท ชั่วโมงต่อไป 80 บาท และ 7. ยานพาหนะทางบกประเภทอื่น ชั่วโมงแรก 50 บาท ชั่วโมงต่อไป 80 บาท
ส่วนกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องมือบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายรถได้ไม่เกินอัตราคันละ 500 บาท ส่วนอัตราค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายรถ ดังนี้ 1. จักรยานยนต์ คันละ 500 บาท 2. รถยนต์ขนาดไม่เกิน 4 ล้อ คันละ 1,500 บาท 3. รถยนต์ขนาด 6 ล้อ คันละ 1,500 บาท 4. รถยนต์ขนาด 8 ล้อ คันละ 2,000 บาท 5. รถยนต์ขนาด 10 ล้อ คันละ 2,000 บาท 6. รถยนต์ขนาดเกิน 10 ล้อ คันละ 2,500 บาท 7. ยานพาหนะทางบกประเภทอื่น คันละ 2,500 บาท
ส่วนอัตราค่าดูแลรักษารถที่ถูกเคลื่อนย้าย เช่น 1. จักรยานยนต์ คันละ 200 บาท 2. รถยนต์ขนาดไม่เกิน 4 ล้อ คันละ 300 บาท 3. รถยนต์ขนาด 6 ล้อ คันละ 500 บาท 4. รถยนต์ขนาด 8 ล้อ คันละ 500 บาท 5. รถยนต์ขนาด 10 ล้อ คันละ 500 บาท 6. รถยนต์ขนาดเกิน 10 ล้อ คันละ 500 บาท และ 7. ยานพาหนะทางบกประเภทอื่น คันละ 500 บาท
อีกฉบับเป็นร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการมอบให้เอกชนทำหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... โดยมอบให้เอกชนทำหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถแทน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีรายได้ค่าธรรมเนียมที่เอกชนเรียกเก็บไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 เป็นต้น
ปัจุบันมีเทศบาลตำบล จำนวน 2,247 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 5,300 แห่ง