xs
xsm
sm
md
lg

สสส.ผนึกภาคีลงนาม MOU หนุน หลักสูตร"ห้องเรียนสู้ฝุ่น"แก้วิกฤติPM2.5 อย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส.ผนึกภาคีร่วมทำMOU หลักสูตร"ห้องเรียนสู้ฝุ่น" นำร่อง 30 โรงเรียน 3 จังหวัดภาคเหนือ ด้านส.ส.เชียงราย ชื่นชม สสส. ขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาฝุ่นพิษ พร้อมหนุนสร้างตระหนักรู้ ปลูกจิตสำนึกเด็ก แก้ปัญหาฝุ่นพิษอย่างยั่งยืน

วันนี้( 16 ต.ค.) ที่โรงแรมเฮอริเทจ อ.เมือง จ.เชียงราย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม สมาคมยักษ์ขาว และโรงเรียนนำร่อง 30 แห่ง ในจังหวัดแพร่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน เพื่อทดลองใช้หลักสูตรส่งเสริมการรับมือกับฝุ่นสภาวะวิกฤตในนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา โดยมีนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย เข้าร่วมรับฟังพร้อมร่วมเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จากรายงานการรักษาผู้ป่วยได้รับผลประทบจากฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานที่มารักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ในช่วงเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดของจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน มียอดผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเฉลี่ย 2,200 คนต่อวัน ส่วนใหญ่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และแสบตา ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในภาคเหนือเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2562 มีผู้ป่วยเฉลี่ยเกือบ 20,000 คนต่อวัน โดยประชากรเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจได้รับผลกระทบทางสุขภาพมากที่สุด

​“เด็กและเยาวชนในพื้นที่สูงในภาคเหนือตอนบนเป็นกลุ่มเสี่ยงป่วยเป็นโรคเรื้อรังมากกว่าเด็กและเยาวชนที่อยู่ในเมือง ขณะที่พื้นที่เชียงราย แพร่ และแม่ฮ่องสอน มักประสบปัญหามีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินกว่ามาตรฐาน และมีจุดความร้อน (Hotspot) มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และยังพบว่าขาดทรัพยากรด้านต่าง ๆ ในการรับมือกับปัญหานี้ จึงเกิดเป็นความร่วมมือกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ที่ได้เข้าเสริมทรัพยากรด้านความรู้ และดึงการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนและภาครัฐ ผ่านการขับเคลื่อนโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ด้วยความหวังส่งเสริมให้เด็กในพื้นที่เป็นพลเมืองตื่นรู้ต่อปัญหา เติบโตไปเป็นเกษตรกรที่ไม่เผา” นายประจญ กล่าว

​นายชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาฝุ่นตั้งแต่ระดับพื้นที่ ไปจนถึงระดับนโยบาย ด้วยการดึงศักยภาพของภาคประชาสังคมขึ้นมาสะท้อนปัญหา ระดมหาทางออกร่วมกับภาควิชาการและภาครัฐ แต่การจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนนั้น ควรเริ่มปลูกฝังเด็กให้มีค่านิยมไม่เผาป่าและเผาไร่ สสส. จึงสนับสนุนให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม สำรวจและออกแบบหลักสูตรเสริมการรับมือกับฝุ่นสภาวะวิกฤต (ห้องเรียนสู้ฝุ่น) สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งหมด 10 ประเด็น โดยให้ความรู้ในการรับมือกับฝุ่น PM2.5 และสร้างจิตสำนึกการไม่ก่อให้เกิดไฟ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้นำไปทดลองสอนในโรงเรียนบ้านผาเดื่อ และโรงเรียนเจดีย์หลวงพิทยา จ.เชียงราย

​“ผลการสอนในโรงเรียนนำร่องพบว่า นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาและอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ในระดับดี-ดีมาก สามารถอ่านค่าจากเครื่องวัดค่าฝุ่นที่สนับสนุนการติดตั้งโดยสมาคมยักษ์ขาว และติดธงโรงเรียนเพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ทำให้ทั้งนักเรียนและครู สามารถป้องกันและดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างทันท่วงที เด็กนักเรียนยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปสื่อสารต่อให้กับพ่อแม่คนใกล้ชิดได้ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ช่วยเสริมสนุนและผลักดันให้เกิดข้อบัญญัติท้องถิ่นขึ้นในอนาคต ส่วนการลงนามความร่วมมือในวันนี้ สสส. และภาคีเครือข่ายจะได้นำหลักสูตรห้องเรียนสู้ฝุ่นไปใช้กับโรงเรียนทั้ง 30 แห่ง และถอดบทเรียนการดำเนินงาน เพื่อให้จังหวัดอื่นๆ ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันได้ศึกษาและนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง ขณะเดียวกันทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้เตรียมสนับสนุนโครงการนี้ด้วยการขยายผลไปยังโรงเรียนนำร่องในจังหวัดอื่นในภาคเหนือ” นายชาติวุฒิ กล่าว

ด้านนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัยกล่าวชื่นชม สสส. ที่ขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ในครั้งนี้ เป็นวิธีที่การกระตุ้น ส่งเสริมที่ตรงจุดและเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากการสร้างองค์ความรู้ให้กับเด็กๆ ได้รู้เรื่องภัยคุกคามจากฝุ่นและรู้วิธีรับมือเมื่อชุมชนเกิดปัญหาการเผาไหม้ในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด

“ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ สสส. ที่สนับสนุนโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เพราะ ตอบโจทย์พื้นที่ทำให้เด็กที่ได้เรียนรู้หลักสูตรมีวิธีรับมือกับฝุ่น PM2.5 และสามารถส่งต่อไปยังผู้ปกครอง คนในชุมชนได้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นการปลูกจิตสำนึกที่ตรงจุดและดีที่สุด ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปสู่ระดับนโยบาย”

นายวิสาร กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงรายทุกพรรคการเมือง เข้าร่วมรับฟังแนวทางแก้ปัญหาการขับเคลื่อนนโยบายป้องกันวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดเชียงราย ร่วมกับนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายมาตลอด ซึ่งมีสาระสำคัญ 2 ประเด็นใหญ่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ 1. สร้างองค์ความรู้เรื่องการรับมือฝุ่นในระดับท้องถิ่น ชุมชน เพื่อตัดตอนปัญหาไฟป่าได้รวดเร็วเมื่อเผชิญปัญหาหมอกควัน จากการเผาไหม้ 2.สนับสนุนเทคโนโลยีการจับความร้อน hotspot ตามพื้นที่ต่างๆ ให้ทันสมัย ซึ่งขณะนี้คณะกรรมาธิการได้สรุปผลการศึกษาการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เรียบร้อย และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบส่งผลการศึกษาให้รัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินการแก้ปัญหาแล้ว










กำลังโหลดความคิดเห็น