ศาลปกครองไต่สวนนัดแรก รฟม.-บีทีเอส ปมเปลี่ยนทีโออาร์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม สองฝ่ายมั่นใจข้อมูลบีทีเอส ยันเปลี่ยนหลักเกณฑ์หลังปิดการขายซองประมูลไปแล้วทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ด้าน รฟม.เชื่อยังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการละเมิด BTS
วันนี้ (14 ต.ค.) ศาลปกครองกลางได้นัดไต่สวนในคดีที่บริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และพวกรวม 2 คน ขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์โครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ให้นำข้อเสนอทางด้านเทคนิคมาให้คะแนนควบคู่กับข้อเสนอด้านราคา หลังจากที่มีการปิดการขายซองประมูลไปแล้ว เนื่องจากเห็นว่าก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับเอกชนบางราย พร้อมกับขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยสั่งระงับการเปิดรับข้อเสนอของเอกชนในวันที่ 9 พ.ย.นี้ ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
ในการไต่สวนครั้งนี้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอส และนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เดินทางเข้าให้ถ้อยคำต่อศาลด้วยตนเอง หลังการไต่สวนนาน 2 ชั่วโมงเศษ นายภคพงศ์กล่าวว่า ในการไต่สวนทาง รฟม.ก็ได้ส่งคำคัดค้าน คำร้อง โดยยืนยันว่าการดำเนินการของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ยังไม่ถือว่าเป็นการละเมิดใดๆ กับบีทีเอส และเราก็ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยศาลรับคำร้องทั้งหมดไว้พิจารณา และเชื่อว่าจะมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงสัปดาห์หน้า
เมื่อถามว่า ได้มีการเตรียมการอย่างไรหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว นายภคพงศ์กล่าวว่า ไม่มีการเตรียมการใดๆ เพราะเรามั่นใจว่าศาลไม่น่าจะมีการคุ้มครอง จากนี้ศาลก็คงนำคำชี้แจงของทั้ง รฟม. และบีทีเอสไปพิจารณา ถ้าเห็นว่าเพียงพอก็คงไม่มีการขอไต่สวนเพิ่มเติม แต่ถ้ายังขาดข้อมูลบางอย่างก็อาจจะเรียกไต่สวนเพิ่มซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล
ด้านนายสุรพงษ์กล่าวว่า หลังจากนี้ก็คงต้องรอผลการพิจารณาคดีของศาล ไม่แน่ใจว่าจะมีคำพิพากษาภายในสัปดาห์หน้าหรือไม่ ส่วนจะมีคำพิพากษาทันวันยื่นข้อเสนอหรือไม่นั้น ก็ได้ยินว่ากระบวนการน่าจะเร่งด่วนเพราะเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ มองว่าการปรับหลักเกณฑ์จากเดิมพิจารณาข้อเสนอด้านราคา 100 คะแนน เป็นพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน อาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ โดยมีการใช้ดุลยพินิจซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูก เพราะมีมติ ครม.ไปแล้วว่าวิธีการประเมินเป็นอย่างไร รวมถึงการศึกษาของ รฟม.เอง ซึ่งคงจะต้องเป็นไปตามนั้น แต่เสร็จแล้วมีการเปลี่ยนแปลงภายหลังจากที่ปิดการขายซองประมูลไปแล้ว คล้ายๆ กับว่ารู้อยู่แล้ว่าใครบ้างที่จะมีสิทธิเข้ามายื่นได้ ซึ่งมองว่าการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ต้องส่งให้ ครม.พิจารณาอีกรอบก่อน ประเด็นเหล่านี้ก็ได้ชี้แจงต่อศาลไปแล้ว และมีการขอให้ศาลยกเลิกการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้กลับมาใช้หลักเกณฑ์เดิม และขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษา เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย แต่ในคำฟ้องยังไม่มีการเรียกค่าเสียหายแต่อย่างใด และถ้าศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครองก็ยังยืนยันที่จะเข้าร่วมประมูลในวันที่ 9 พ.ย. ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารต่างๆ
เมื่อถามว่าตอนนี้มีความมั่นใจหรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า ต้องมั่นใจ และเมื่อถามต่อว่าหากในอนาคตต้องมีการประมูลกันใหม่ในโครงการดังกล่าว ทางบีทีเอสจะเข้าร่วมอีกหรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า โดยหลักการก็ถือว่าพร้อม แต่ก็ต้องขอดูทีโออาร์ที่จะออกมาด้วย เมื่อถามว่ากรณี รฟม.บอกว่าบีทีเอสยังไม่ใช่ผู้เสียหายเพราะยังไม่ได้ให้มีการยื่นซองนั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่า เราก็ชี้แจงไปแล้ว ก็ต้องอยู่ที่ดุลพินิจของศาล