xs
xsm
sm
md
lg

ใจตรงกัน! “พุทธะอิสระ-หมอวรงค์-สมชาย” ชวนใส่เสื้อเหลือง โชว์ “คณะราษฎร” ชี้ 10 ข้อปฏิรูป ย่ำยี “สถาบัน”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ ในอดีตแห่งความจงรักภักดีของคนไทยต่อในหลวง ร.๙ ที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย จากแฟ้ม
จับตา “อดีตพุทธะอิสระ-หมอวรงค์-ส.ว.สมชาย” ชวนคนไทยใส่เสื้อเหลือง “14 ตุลา” ขณะ “คณะราษฎร” จัดชุมนุมใหญ่ “ปฏิรูปสถาบัน” “อดีตรองอธิการบดี มธ.” เห็นใบปะหน้า ข้อเรียกร้อง 10 ข้อแล้วอึ้ง เพราะอะไรอ่านให้จบ!

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (12 ต.ค. 63) หลังก่อนหน้านี้ แกนนำ “คณะราษฎร” อานนท์ นำภา ออกมาเปิดเผยว่า จะมีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเคลื่อนมวลชนไปยึดทำเนียบรัฐบาล เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพักค้างคืนที่ทำเนียบฯ ในวันที่ 14 ตุลาคม

ภาพ อดีตหลวงปู่พุทธะอิสระ จากแฟ้ม
ปรากฏว่า เฟซบุ๊กของหลายคน มีการเคลื่อนไหวทันควัน นับแต่ เฟซบุ๊ก “หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)” ของอดีตพระพุทธะอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม โพสต์ข้อความ ระบุว่า

เมื่ออยากไม่มีแผ่นดินเหยียบยืน สิทธิ์นั้นจงมีแก่ท่าน ณ บัดนี้ วันที่ 14 ตุลาคมนี้ เชิญชวนลูกหลานไทยหัวใจรักชาติทุกคน ไปร่วมกันแสดงพลังปกป้องสถาบัน ด้วยการสวมเสื้อสีเหลืองให้เต็มทุ่งสนามหลวง เพื่อประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า คนไทยมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ขนาดไหน อีกทั้งเป็นการป้องปรามพวกที่คิดล้มเจ้าว่า อย่าบังอาจ ไม่เช่นนั้น จักไม่มีแผ่นดินอยู่ อย่าปล่อยให้คนชั่วได้ดี ถ้าคนดีไม่เอาแต่นิ่งเฉย

“คนชั่วจะได้ที หากคนดียังเฉยชา วันที่ 14 ตุลาคมนี้ ลูกไทยหัวใจรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ สวมเสื้อเหลือง หน้ากากอนามัย ยาลม ยาดม ยาหม่อง พร้อมขนมขบเคี้ยวเพื่อรองท้อง น้ำดื่ม ผ้าพลาสติกรองนั่ง และร่มกันแดดกันฝน มาร่วมกันน้อมถวายการรับเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ต้องใจถึงด้วยนะจ๊ะ อย่าทิ้งฉันนะ”

ภาพ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้ากลุ่มไทยภักดี โพสต์ก็เฟซบุ๊กเช่นกันว่า

“ผมและเพื่อนทีมงานกลุ่มไทยภักดี จะไปร่วมรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จฯ ทรงตั้งเปรียญธรรม แก่ภิกษุ สามเณร 363 รูป หน้าวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 นี้ เวลา ก่อน 17.00 น. พร้อมกับเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยสวมใส่เสื้อเหลืองร่วมรับเสด็จฯด้วย”

รวมถึง นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า

“#ล้านดวงใจรวมพลังปกป้องสถาบัน #พสกนิกรไทยพร้อมเพรียงกันรับเสด็จพระราชพิธีสำคัญ

พบกัน 13-15 ตุลาคมนี้ ที่ท้องสนามหลวงครับ เชิญ “สวมเสื้อเหลือง” 13-15 ต.ค. ร่วมรำลึกและบำเพ็ญกุศล “ในหลวง ร.๙” ณ ท้องสนามหลวง https://www.thansettakij.com/content/royal/452411”

ส่วนที่น่าสนใจไม่แพ้กัน รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ในหัวข้อ “ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ของลัทธิปลดแอก”

เนื้อหาระบุว่า “ในเอกสารข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ คาดว่า ประชาชนส่วนใหญ่เพียงแต่เห็น ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ แบบสรุป ไม่ได้เห็นฉบับเต็มว่า เอกสารข้อเรียกร้อง 10 ข้อนั้น มี 2 หน้า

หน้าแรกเป็น ความนำ เป็นข้อความที่เลียนถ้อยคำและสำนวนประกาศของคณะราษฎร ตอนยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นผู้ร่าง

เนื้อหาในหน้าแรก เป็นการกล่าวหาพระมหากษัตริย์ต่างๆ นานา ซึ่งไม่สู้จะเป็นธรรมเท่าใดนัก เช่น กล่าวหาว่า เมื่อมีการทำรัฐประหาร รัฐบาลที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธยรับรองการทำรัฐประหารให้ชอบด้วยกฎหมายทุกครั้ง และกล่าวหาว่า พระมหากษัตริย์ คือ รากเหง้าของปัญหาทางการเมืองตลอดมา

ข้อความอื่นๆ เป็นข้อความที่ใช้ข้อความที่รุนแรง ไม่สามารถจะนำมาเขียนในที่นี้ได้ ใครที่บอกว่าข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่เกินเลย มีเหตุผล ควรไปอ่านเอกสารหน้า 1 ก่อน จะเห็นว่า เอกสารหน้า 1 มีข้อความที่จัดได้ว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เต็มไปหมด

วันมะรืน (14 ตุลาคม) จะมีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มลัทธิปลดแอกอีกครั้ง ก่อนจะถึงวันนั้น เราลองพิจารณาข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ของลัทธิปลดแอกกันดูด้วยใจเป็นธรรม ว่า เป็นข้อเรียกร้องที่สมเหตุสมผลจริงหรือไม่ เพื่อความสง่างามของพระมหากษัตริย์จริงหรือไม่

ในที่นี้จะคัดลอกข้อความตามเอกสารต้นฉบับทุกประการ

1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎร สามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

ในปี 2476 นายถวัติ ฤทธิเดช จากสมาคมกรรมกรรถราง เตรียมจะยื่นฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อศาลพระราชอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาท จากข้อความพระบรมราชวินิจฉัยเรื่อง เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเชื่อกันว่า น่าจะเป็นเหตุสำคัญของการก่อกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดช

หากยกเลิกมาตรานี้ รู้ได้อย่างไรว่าจะไม่มีสาวกลัทธิปลดแอกหาเรื่องฟ้องร้องพระมหากษัตริย์กันเป็นว่าเล่น และการให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาความผิดของพระมหากษัตริย์ แน่ใจแล้วหรือว่าสมาชิกทุกคนในสภาผู้แทนราษฎรจะมีความเที่ยงธรรม ตรงไปตรงมา และไม่ทำให้พระมหากษัตริย์ต้องเสื่อมเสียพระเกียรติอย่างร้ายแรง อย่างไม่เป็นธรรม นี่หรือคือการทำเพื่อความสง่างามของพระมหากษัตริย์

2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้งเปิดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

การยกเลิกมาตรา 112 เป็นความไม่เป็นธรรมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยิ่ง เพราะสำหรับสามัญชน ยังมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ระบุว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

พระมหากษัตริย์ไม่อาจเป็นโจทก์ฟ้องประชาชนได้ จึงทรงใช้มาตรา 326 ไม่ได้ การยกเลิกมาตรา 112 จึงแปลว่า ใครจะใส่ความ ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติอย่างไรก็ได้ ทำไมคนธรรมดายังมีกฎหมายคุ้มครองได้ ทำไมพระมหากษัตริย์จึงมีไม่ได้

สำหรับที่ว่ามาตรา 112 ถูกคนใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ก็เพียงแต่กำหนดเสียใหม่ว่า ผู้ที่จะทำหน้าที่ดำเนินคดีกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานอัยการ เท่านั้นก็แก้ปัญหานี้ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องยกเลิกแต่อย่างใด

การนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ควรพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายๆไป ไม่ควรนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ตามที่เรียกร้อง

3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แบ่งออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการเปลี่ยนชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และเรียกทรัพย์สินส่วนพระองค์ ว่า ทรัพย์สินในพระองค์ และเรียกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ว่า ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ซึ่งแบ่งแยกกันชัดเจนอยู่แล้ว

4. ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้สถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

งบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้สถาบันพระมหากษัตริย์ มีหลายรูปแบบ ทั้งที่จัดสรรตรง และที่แฝงอยู่ในโครงการตามพระราชดำริ ซึ่งแฝงอยู่ในหน่วยราชการต่างๆ โครงการเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า สำนักงบประมาณ ครม. และ สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาอย่างเหมาะสมแล้ว ทำไมจึงเจาะจงจะปรับลดงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียว โดยไม่แตะต้องหน่วยราชการอื่นเลย

5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรีนั้น ให้ยกเลิกเสีย

การย้ายหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ไปไว้กับหน่วยอื่น ทำเพื่อถวายความปลอดภัย หรือถวายความไม่ปลอดภัยกันแน่ ส่วนคณะองคมนตรี จะมีความจำเป็นหรือไม่ ควรเป็นพระราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าใครก็ไม่ควรมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

ภาพ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร จากแฟ้ม
6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์ อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

แกนนำลัทธิปลดแอกเรียกร้องเสรีภาพ แต่กลับต้องการลิดรอนเสรีภาพพระมหากษัตริย์ และลิดรอนเสรีภาพของประชาชนที่ต้องการบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ถามว่า หากมีคนเอาเงินมามอบให้แกนนำของลัทธิปลดแอก ให้เอาไปใช้ตามแต่จะเห็นสมควร อย่างนี้ต้องมีการตรวจสอบหรือไม่ว่านำไปใช้อย่างไร

7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

นี่ก็เป็นการลิดรอนเสรีภาพของพระมหากษัตริย์อีกเช่นกัน ประชาชนทำได้ แต่พระมหากษัตริย์ทรงทำไม่ได้

8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

ต้องยอมรับว่า บางครั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เผยแพร่ เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจมีการเผยแพร่ที่มากเกินไป ซึ่งพระมหากษัตริย์เองก็อาจไม่มีพระราชประสงค์ให้ทำเช่นนั้น แต่การเผยแพร่พระราชกรณีกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เป็นสิ่งที่ควรกระทำ การออกกฎหมายห้ามทำเช่นนั้น ก็ดูจะมากเกินไป แต่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องก็ควรต้องพิจารณาการเผยแพร่ให้พอเหมาะพอสม ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป

9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์ หรือมีความข้องเกี่ยวใดๆ กับสถาบันกษัตริย์

การใช้คำว่า เข่นฆ่าราษฎร โดยปราศจากหลักฐานใดๆ มีนัยยะของการกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม บุคคลที่หมายถึงทั้งหมด ที่ไปอยู่ต่างประเทศอาจสูญหายไป อย่างไร ด้วยเหตุผลใดก็ยังไม่มีใครทราบแน่ บางคนก็ไม่มีความสำคัญพอที่จะสร้างผลกระทบใดๆ ได้ การพุ่งเป้าไปที่พระมหากษัตริย์ จึงเป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง

10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

ต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง แต่เมื่อมีการทำรัฐประหารสำเร็จ กลับห้ามลงพระปรมาภิไธยรับรองการทำรัฐประหาร

ผู้ทำรัฐประหาร ซึ่งประกาศตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เพราะยึดอำนาจไว้ได้แล้ว พระมหากษัตริย์ยังมีทางเลือกอื่นอีกหรือ หากไม่ให้ลงพระปรมาภิไธย แล้วจะให้ทรงทำอย่างไร

ในสมัยนี้ ไม่มีทางที่จะมีการทำรัฐประหารได้ หากไม่มีเงื่อนไขที่สุกงอม ดังนั้น แทนที่จะหาทางทำอย่างไรไม่ให้นักการเมืองสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการทำรัฐประหาร กลับห้ามพระมหากษัตริย์มิให้ทรงลงพระปรมาภิไธย นับว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นธรรมต่อพระมหากษัตริย์อีกข้อหนึ่ง

ข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อนี้ หากทำได้สำเร็จทั้ง 10 ข้อ ก็ไม่ต่างจากการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์สักเท่าใดเพราะพระมหากษัตริย์จะถูกควบคุมและถูกจำกัดสิทธิต่างๆ ยิ่งกว่าประชาชนธรรมดาคนหนึ่งเสียอีก

การทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อนี้ ไม่มีทางเป็นไปได้แม้เพียงข้อเดียว เพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความรู้สึกว่าพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพและเทิดทูนกำลังถูกย่ำยี

ขณะนี้การเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ

เรามาคอยดูกันว่า การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ที่ว่าม้วนเดียวจบคือใครจบ มะรืนนี้รู้กัน”

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ สถานการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม จะนำไปสู่เหตุการณ์ไม่คาดฝันหรือไม่ อย่างไร เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ อารมณ์ที่เดือดพล่านจากการปราศรัยและปลุกเร้าของแกนนำม็อบ กับอารมณ์ของผู้จงรักภักดี ที่สุดทนกับพฤติกรรมก้าวล่วงสถาบันฯ ว่าแต่ละฝ่ายจะอดกลั้นต่อการยั่วยุของอีกฝ่ายได้ดีแค่ไหน

เพราะอย่าลืมว่า คนจำนวนมาก ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ ไม่อาจดูแลได้อย่างทั่วถึงแน่นอน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยแกนนำทั้งสองฝ่าย ช่วยกันปลุกปลอบให้อยู่ในความพอดีพองาม ด้วยสันติวิธี และเล็งเห็นผลที่จะตามมาด้วย มิเช่นนั้น อาจจบในวันนี้อย่างที่หลายคนคาดเดา เพียงแต่จบสวยหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งนั่นเอง!?


กำลังโหลดความคิดเห็น