สืบเนื่องจากการชุมนุมที่ได้มีการยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เพื่อขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจของมหากษัตริย์ อันเป็นการแสดงออกที่บิดเบือนจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยสามารถรักษาเอกราชมาได้จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะบูรพมหากษัตริย์ของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทรงเสียสละกำลังพระวรกาย พระราชทรัพย์ กำลังสติปัญญา และพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ ส่งต่อรัชกาลต่อรัชกาล ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของชาติบ้านเมือง และ ประชาชนของพระองค์ท่านดังเป็นที่ประจักษ์ชัดผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ
ก่อนที่จะพลัดหลงไปในคำยั่วยุใส่ร้ายต่างๆ จากผู้ไม่หวังดีและคอยจ้องทำร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของพสกนิกรชาวไทยมาอย่างยาวนาน ลองใช้เวลาอ่าน 10 ข้อ เรียกร้องที่ถูกบิดเบือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ราษฎรชาวไทยบางคนอาจรู้และยังไม่เคยรู้มาก่อนเมื่ออ่านจนถึงบรรทัดสุดท้ายแล้วจะรู้ว่าเหตุใดคนไทยทุกคนถึงรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เหนือสิ่งอื่นใด
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 (มาตรา 3) และบัญญัติทํานองเดียวกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ปัจจุบันรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” อันเป็นการสืบทอดหลักการรับรอง พระราชสถานะองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของชาติทรงมีพระราชภาระและพระราชกิจที่ต้องทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน กฎหมายในลักษณะนี้มิได้ทําให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญแต่ประการใด ยังทรงมีพระราชสถานะภายใต้กฎหมาย นอกจากนั้นยังมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายต่างๆ อีกหลายกรณีที่กําหนดให้พระมหากษัตริย์มีหน้าที่ต้องทรงปฏิบัติ โดยเฉพาะการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญกําหนด แม้เดิมรัฐธรรมนูญบางฉบับจะให้อํานาจบางองค์การดำเนินการในเรื่องบางอย่างได้ แต่ปัจจุบันสังคมและรูปแบบการปกครองได้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญได้ผ่านการพิจารณาและได้รับการยอมรับจากหลายฝ่ายรวมถึงการทำประชามติแล้ว อีกทั้งหลักการดังกล่าวนี้ยังคงเป็นที่การยอมรับกันในระดับสากลและระหว่างประเทศ
2. บุคคลมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นได้ แต่การแสดงความคิดเห็นย่อมเกิดควบคู่กับหน้าที่ ต้องเคารพถึงสิทธิของผู้อื่น และอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” ซึ่งเป็นการคุ้มครองบุคคลตามที่กฎหมายกําหนดไว้เท่านั้น และตามกฎหมายของไทยก็ไม่ได้คุ้มครองเป็นพิเศษเฉพาะพระมหากษัตริย์ แต่ได้มีการบัญญัติให้ปกป้องคุ้มครองบุคคลที่มีสถานะอื่นๆ ด้วย เช่น คุ้มครองไม่ให้ดูหมิ่นราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ผู้แทนรัฐต่างประเทศ และรวมไปถึงผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี และเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยซึ่งเป็นการคุ้มครองสิทธิอันสอดคล้องและเหมาะสมเก่ียวกับสถานะทางกฎหมายของแต่ละบุคคล
และที่ผ่านมาทรงมีพระบรมราโชบายผ่านนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดําเนินคดีต่อผู้กระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงปัจจุบันพนักงานสอบสวนได้ใช้บทบัญญัติตามกฎหมายอื่นในการดําเนินคดีต่อผู้กระทําความผิด เช่น กฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือความผิดฐานฉ้อโกง เป็นต้น ซึ่งเป็นการลดการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องดังกล่าวแล้ว ที่สำคัญได้มีการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้กระทําผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว ไม่ว่าในรูปแบบการพระราชทานอภัย โทษเฉพาะราย หรือการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปที่ตราขึ้นในรูปของพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ และตามกฎหมายกําหนดคุ้มครองบุคคลทั่วไปในการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น ในต่างประเทศก็มีกฎหมายคุ้มครองพระประมุข ประมุข และบุคคลทั่วไปเช่นกัน
3. การบริหารจัดการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ได้ถือกําเนิดขึ้นมาพร้อมการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สมัยที่ประเทศไทยยังปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ทรัพย์สินในราชอาณาจักรเป็นของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงอยู่ในฐานะ “พระเจ้าแผ่นดินแต่เพียงพระองค์เดียว” แต่อย่างไรก็ตาม พระพระมหากษัตริย์พยายามทรงแยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินของแผ่นดิน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ทําการค้าขายกับต่างประเทศเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก จึงได้ทรงเก็บสะสมกําไรเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไว้ในถุงผ้าสีแดงเรียกกันว่า “เงินถุงแดง” และพระราชทานไว้เป็นทุนสํารองของแผ่นดินสําหรับใช้ในยามบ้านเมืองเกิดภาวะคับขัน ซึ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้เกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสจึงได้นําเงินถุงแดงมาสมทบเพื่อเป็นการชดใช้ค่าเสียหายและค่าประกันแก่ฝรั่งเศส โดยรักษาเอกราชของประเทศไทยไว้ได้ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลพิจารณาเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อปรับปรุงการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้เหมาะสมแก่การบริหารจัดการยิ่งขึ้น โดยถวายเป็นพระราชอํานาจในการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินนั้นเป็นไปโดยเหมาะสมตามสภาวการณ์ปัจจุบันซึ่งเป็นไปตามโบราณราชประเพณี โดยขณะนี้ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีแต่ประการใด
4. ส่วนราชการในพระองค์ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน ปฏิบัติภารกิจถวายงานด้านต่างๆ ได้แก่ สํานักงานองคมนตรี หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และสํานักพระราชวัง ได้รับการ จัดสรรงบประมาณประจําปี 2564 เป็นจํานวน 8,980,889,600 บาท ซึ่งแต่ละส่วนงานได้รับการจัดสรรในจํานวนที่ไม่มากหากเทียบกับภารกิจและอํานาจหน้าที่ความรับผิดชอบ เมื่อเปรียบเทียบกับส่วน ราชการอื่นๆ แล้วเป็นการของบประมาณไปตามความจําเป็นจริงๆ โดยยึดพระราชปณิธานเศรษฐกิจพอเพียง และประหยัดเป็นไปตามแนวพระราชดําริที่ทรงยึดถือตลอดมา และส่วนราชการในพระองค์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเฉพาะในส่วนค่าใช้จ่ายซึ่งเป็น งบเงินเดือนและค่าใช้จ่ายบุคลากรเท่านั้น ไม่รวมวัสดุ ครุภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายอื่น หรือการก่อสร้างอย่างใดๆ การพิจารณาจัดสรรเงินให้กับส่วนราชการในพระองค์และสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ที่กําหนดให้คณะรัฐมนตรี ดําเนินการจัดสรรงบประมาณให้แก่ส่วนราชการในพระองค์เพื่อปฏิบัติภารกิจด้านต่างๆ ซึ่งได้มีการพิจารณา โดยคํานึงถึงสภาวะเศรษฐกิจสังคมและปัจจัยรอบด้านอื่นๆ ประกอบแล้ว การเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวเบื้องต้น กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้ดําเนินการ เบิกจ่ายให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่ต้องปฏิบัติเหมือนส่วนราชการอื่นๆ มีระบบการตรวจสอบ การใช้จ่ายเงิน
ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไม่ทรงรับการจัดสรรเงินปีที่รัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวาย
5. สถาบันพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ กําหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอํานาจในการบริหารราชการแผ่นดิน และปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งปวงเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติ และประชาชน ซึ่งจะต้องมีส่วนราชการในพระองค์ทําหน้าที่ในด้านธุรการ และการติดต่อประสานงานกับฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ตลอดกับหน่วยงานของรัฐ และประชาชน ดังนั้น ส่วนราชการในพระองค์ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และพระราชกฤษฎีกา จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ สํานักงานองคมนตรี หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และสํานักพระราชวัง โดยมีการจัดทํากรอบอํานาจหน้าที่ของตนเองเช่นเดียวกับหน่วยราชการอื่นๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย
ทั้งนี้ การปฏิบัติงานของส่วนราชการในพระองค์นอกจากจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะข้าราชการและข้าราชบริพารในพระองค์แล้ว การปฏิบัติงานยังต้องดําเนินการภายใต้วิธีปฏิบัติตามแนวโบราณราชประเพณีด้วย อันมีลักษณะงานที่มีความพิเศษและงดงาม ซึ่งมีการปฏิบัติสืบต่อกันมาและเป็นสัญลักษณ์ที่มีเฉพาะแต่ประเทศที่มีการปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์จนได้รับความน่าเชื่อถือจากทุกประเทศทั่วโลก ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ความเข้าใจในโบราณราชประเพณี และมีความจงรักภักดี ไม่อาจย้ายเวียนไปปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะเหมือนข้าราชการอื่นทั่วไปการให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่นย่อมเป็นการยากที่จะดําเนินการในลักษณะดังกล่าวได้ จึงได้มีการจัดตั้งให้หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์สังกัดอยู่ในส่วนราชการในพระองค์
คณะองคมนตรี ประกอบด้วย ประธานองคมนตรี และองคมนตรีอีกไม่เกิน 18 คน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามความจําเป็นใน ภารกิจที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่เคยแต่งตั้งเต็มจํานวนตามที่รัฐธรรมนูญกําหนด คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา คณะองคมนตรีประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ของระบบราชการ มีประสบการณ์ เป็นผู้ทรงความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อราชการแผ่นดิน ซึ่งคณะองคมนตรีได้ปฏิบัติหน้าที่ถวายงานด้านต่างๆ การพิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมาย การแต่งตั้งข้าราชการตําแหน่งสําคัญ งานพระราชพิธี งานแทนพระองค์ งานพิจารณาตรวจสอบฎีกา ขอพระราชทานพระมหากรุณาของราษฎร งานด้านการศึกษา ด้านความมั่นคง การตรวจเยี่ยมให้คําแนะนํา กรณีภัยพิบัติต่างๆ งานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ รวมถึงมูลนิธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรืองานอื่นที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะองคมนตรีรับผิดชอบปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน คณะองคมนตรีจึงยังคงเป็นหน่วยงานที่มีความสําคัญเป็นอย่างยิ่ง
6. สถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบทสําคัญต่อประเทศไทยและอยู่คู่กับประเทศชาติมานานมาตั้งแต่ โบราณกาล ทรงมีพระราชกรณียกิจที่ต้องปฏิบัตินานับอเนกประการ ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจแก่ประชาชน การบําเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวงล้วนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง ทรงก่อตั้งโครงการต่างๆ ขึ้นมากมายเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และแก้ไขปัญหาในส่วนที่รัฐบาลไม่สามารถให้การสนับสนุนได้จนเป็นที่เคารพรักของประชาชนทุกหมู่เหล่า การทูลเกล้าฯ ถวายเงินและทรัพย์สินต่างๆ โดยเสด็จพระราชกุศลล้วนเกิดจากความศรัทธาและเป็นความประสงค์ของผู้ถวาย ด้วยเล็งเห็นว่าจะได้มีส่วนเกื้อหนุนและพัฒนาร่วมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงนําเงินและทรัพย์สินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย นํากลับคืนให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ การให้ทุนการศึกษา การรักษาพยาบาล และให้การสงเคราะห์ด้านการต่างๆ รวมถึงการดําเนินงาน ในเรื่องจิตอาสาพระราชทานเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย มีการดูแลโดยหน่วยราชการในพระองค์อยู่แล้วซึ่งเป็นไปเพื่อการช่วยเหลือในการบําบัดทุกข์บํารุงสุขแก่ราษฎร และโครงการพระราชดําริเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเท่านั้น มิได้นํามาใช้ในกิจการส่วนพระองค์หรือการอื่นๆ แต่อย่างใด มีการกําหนดระเบียบเกี่ยวกับการเงินอย่างชัดเจน
7. ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงดํารงพระราชสถานะอยู่เหนือความขัดแย้งในทางการเมือง แต่ก็ยังทรงมีสิทธิบางประการที่ยึดถือว่าเป็นสิทธิของพระมหากษัตริย์ที่ทรงกระทําได้แม้รัฐธรรมนูญจะมิได้กําหนดไว้ก็ตาม คือ ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะพระราชทานคําแนะนําตักเตือนในบางเรื่องบางกรณีแก่รัฐบาล รัฐสภา ศาล หรือองค์กรอื่นๆ ที่ทรงเห็นว่าถ้ากระทําไปแล้วจะเกิดผลเสียหายแก่บ้านเมืองและประชาชน การแนะนําตักเตือนนี้จึงถือเป็นสิทธิของพระมหากษัตริย์โดยชอบในทุกประเทศที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
8. สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประกอบสําคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตาม ประเพณีการปกครองของไทย การเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณและความรู้เกี่ยวกับพระราชวงศ์ให้ประชาชนทั่วไป ได้ทราบจึงเป็นสิ่งที่หลายหน่วยงานและหลายสถาบันการศึกษาให้ความสําคัญและถือเป็นภารกิจที่ควรปฏิบัติ บุคคลที่เคยได้รับพระราชทานพระมหากรุณาโดยตรงและสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณ มักจะได้รับ ความสนใจจากสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสารและก่อให้เกิดการแพร่หลาย การแสดงออกถึงการเคารพเทิดทูนสถาบันฯ จะสร้างให้เยาวชนและประชาชนมีทัศนคติที่ดี และยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการดําเนินชีวิตได้
9. การสืบสวนสอบสวนในเรื่องเกี่ยวกับความผิดทางอาญา มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงแล้ว ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม โดยมีกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน และพิจารณาให้ความเป็นธรรมตามกฎหมาย รวมถึงมีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนคอยตรวจสอบการดําเนินการ ซึ่งพระมหากษัตริย์มีแต่พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรของพระองค์ ไม่เคยใส่ร้ายหรือทําความเดือดร้อนต่อพสกนิกร ซึ่งเห็นเป็นประจักษ์ตลอดมา
10. การรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อมีอุปสรรคในการบริหารประเทศ โดยอาจเกิดจากการดําเนินกิจการทางการเมืองที่มีความแตกต่างกันในด้านความคิดเห็น นําไปสู่สถานการณ์ที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง จําเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาให้ยุติโดยเร็ว เพื่อปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน และความเสียหายของประเทศ ให้กลับมามีความผาสุกได้โดยเร็ว ก่อนที่จะมีกระบวนการเพื่อให้กลับไปมีการบริหารในรูปแบบปกติต่อไป กระบวนการภายหลังจากการทํารัฐประหารแล้วหัวหน้าคณะที่ทําการรัฐประหารมีอํานาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สามารถออกคําสั่งทุกอย่างได้โดยไม่มีกฎหมายรองรับ ให้ถือว่าคําสั่งของคณะผู้ทําการรัฐประหารเป็นกฎหมายทันที เมื่อยึดอํานาจเบ็ดเสร็จเรียบร้อยแล้ว หัวหน้าคณะรัฐประหารจะทําเรื่องขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายร่างประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้าคณะผู้ทําการรัฐประหารเพื่อให้ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้รับผิดชอบทําหน้าที่ในการบริหารประเทศต่อไปในขณะนั้น และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ทราบทั่วกัน ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามประเพณีการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ดังนั้น การทรงลงพระปรมาภิไธยในฐานะพระประมุขของประเทศ เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชน ตลอดจนนานาชาติรับทราบ จึงมิใช่เป็นการรับรองการรัฐประหารแต่อย่างใด