นักวิชาการ มสธ.มองการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 14 ต.ค.มีโอกาสยืดเยื้อ ควรเปิดพื้นที่คุยก่อนรุนแรง ปมอ่อนไหวคุยในที่ปิด ชี้มุ่งเปลี่ยน รบ. ไม่แตะสถาบันฯ หวั่นมวลชนถอยห่าง ชี้เสื้อแดงไม่ร่วม พยายามสื่อให้เห็นพลังบริสุทธิ์
วันนี้ (9 ต.ค.) นายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรในวันที่ 14 ต.ค. 63 ว่าจะเห็นได้ก่อนหน้านี้มีการรวมกลุ่มกันของกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประชาชนปลดแอก กลุ่มนักเรียนเลว จนมารวมเป็นคณะราษฎรในวันนี้ ตรงนี้สะท้อนว่าโอกาสที่เราจะได้เห็นการชุมนุมใหญ่ที่มีการเพิ่มขึ้นของมวลชน รวมถึงการชุมนุมที่มีการยืดเยื้อมากกว่า 1-2 วัน ก็มีโอกาสที่เป็นไปได้ ซึ่งก็สะท้อนกระบวนการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ควรต้องเริ่มเดินหน้าได้แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ทั้งฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายผู้ชุมนุมต่างก็ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น เพราะถ้าความรุนแรงเกิดกับฝ่ายใดก่อน แน่นอนว่าความเสียเปรียบก็จะตกอยู่กับฝ่ายนั้น แต่จากนี้ไปความเสี่ยงที่จะรุนแรงก็ยังคงมีอยู่ ทุกการชุมนุมมีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงได้ ฉะนั้นก่อนที่จะไปสู่จุดนั้นในระยะสั้น ควรจะต้องมีกลไกทั้งในเรื่องการเปิดพื้นที่การพูดคุย หรือแม้แต่การมีเวทีสาธารณะ เวทีปิดต่างๆ ซึ่งจะเป็นกลไกในการขจัดความขัดแย้งให้เร็วที่สุด
ส่วนระยะกลาง แน่นอนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นพื้นที่สาธารณะหรือเป็นเวทีใหญ่ที่สำคัญที่จะทำให้ทุกอย่างสามารถคลี่คลายได้ในระดับหนึ่ง ส่วนระยะยาวก็ควรจะเป็นเรื่องของการกำหนดการพัฒนาประชาธิปไตยที่มั่นคงแข็งแรงในประเทศไทย แต่ระยะสั้นและระยะกลางควรเป็นสิ่งที่กลไกในทุกภาคส่วนมีส่วนช่วยกันไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในสภา ส.ส., ส.ว., พรรคการเมือง หรือกลุ่มผู้ชุมนุมเอง หรือคนที่อยู่ในภาครัฐต่างๆ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นหัวใจหลักที่จะทำให้การชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค.นี้ไปในทิศทางไหน
เมื่อถามว่าประเด็นในการเคลื่อนไหววันที่ 14 ต.ค.เปลี่ยนเป็นการล้มล้างรัฐบาลซึ่งต่างจากการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.ที่เน้นไปที่สถาบันฯ นายยุทธพรมองว่า การรวมกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมต้องมีการเฉลี่ยในเรื่องของการระดมทรัพยากร มวลชน ยุทธศาสตร์ หรือความคิดต่างๆ แน่นอนว่า 3 ข้อเสนอของคณะราษฎรที่ระบุว่ายังคงอยู่ในการเคลื่อนไหววันที่ 14 ต.ค.นี้ ก็คือการประมวลบรรดาข้อเสนอของแต่ละกลุ่มเข้ารวมไว้ด้วยกัน แต่ทั้งนี้ยุทธศาสตร์หลักของการชุมนุมในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล คือการเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก และนำไปสู่การยุบสภา ซึ่งก็อาจจะเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวที่ไม่ต้องการจะไปแตะประเด็นที่มีความอ่อนไหวและอาจจะไปกระทบกับเรื่องของมวลชน หรือบรรดากลุ่มที่อาจจะถอยห่างออกจากสนับสนุน
นายยุทธพรยังมองว่า การที่กลุ่มคนเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทยซึ่งเคยร่วมชุมนุมด้วยครั้งก่อนแสดงท่าทีไม่เข้าว่าจะไม่เข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค.นี้ว่าคิดว่ากระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่จะถูกหยิบโยงไปเกี่ยวข้องกับการเมือง หรือเกี่ยวข้องกับกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในอดีตอาจจะเสียความชอบธรรมในการเคลื่อนไหว จะเห็นได้ว่าการแถลงข่าวของคณะราษฎรไม่ได้มีการพูดถึงบรรดากลุ่มต่างๆ เหล่านี้ที่เคยมาร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ซึ่งก็เป็นความพยายามของกลุ่มที่จะสร้างภาพของกลุ่มให้เกิดภาพของพลังบริสุทธิ์ซึ่งเกิดจาการรวมกันของกลุ่มเยาวชน นักศึกษา แต่ทั้งนี้แม้ไม่ได้มีเรื่องของการออกมาร่วมชุมนุมเคลื่อนไหว แต่ก็อาจจะมีแนวร่วมร่วมหนึ่งซึ่งก็มีการสนับสนุนในเรื่องของอุดมการณ์หรือแนวคิดที่สอดคล้องร่วมกันอยู่
ส่วนข้อเสนอ 3 ข้อโดยเฉพาะประเด็นให้สถาบันฯ มาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจะมีความเป็นไปได้ และอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมหรือไม่ นายยุทธพรมองว่าประเด็นที่มีความอ่อนไหว ก็ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังและอยู่ในกรอบกฎหมาย เพราะฉะนั้น บรรดาข้อเสนอหากมีเวทีในการพูดคุยแบบเวทีปิด น่าจะมีความเหมาะสมกว่า และจะทำให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมของหลายๆ ฝ่ายในการพูดคุย ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยหลักประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ แล้วก็หาทางออกร่วมกัน ดังนั้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นว่าตลอดการเคลื่อนไหว เราพูดถึงการมีเวทีการพูดคุยมาโดยตลอด แต่ยังไม่เคยเห็นว่าจะมีเวทีเกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้น วันนี้ก็ถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องรีบเร่งในการมีเวที โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องกำหนดประเด็นว่าอะไรสามารถที่จะพูดคุยได้ในพื้นที่สาธารณะ หรือประเด็นไหนอ่อนไหวก็จะต้องคุยในเวทีปิด ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นจากประเด็นความอ่อนไหวลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ