“อนุชา” รับไม่ได้ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ อยู่ใต้ รธน. ลั่นยืนตรงข้าม แต่เรื่องอื่นคุยได้หมด หยามเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็นคณะราษฎร แค่หาแนวร่วมหลังจุดม็อบไม่ติด เชื่อชุมนุม 14 ต.ค. คนไม่มากกว่าเดิม
วันนี้ (9 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ในวันที่ 14 ต.ค.ว่ามีความกังวลอะไรหรือไม่ว่า ไม่มี เราไม่เห็นว่ามีอะไรแตกต่างจากครั้งก่อน หรือนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้าย ถือเป็นการแสดงออกของนักเรียนและนักศึกษาซึ่งเป็นลูกหลานที่มาแสดงออกตามสิ่งที่เขาคิดเขาเห็น และสิ่งที่เขาอยากให้เกิดขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ประชาชนว่าเห็นด้วยหรือเห็นต่างอย่างไร เราต้องรอดูผลความคิดเห็นของสังคมส่วนรวมด้วย ถ้าถามว่าเป็นกังวลหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าเป็นกังวล เป็นห่วงนิสิตนักศึกษาที่เป็นลูกหลาน อยากให้ทุกฝ่ายดำเนินการตามขอบเขตรัฐธรรมนูญ ตามขอบเขตประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ความเห็นต่างไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การดำเนินการให้บ้านเมืองสงบสุข นำความเห็นต่างสู่เวทีประชาธิปไตยที่เราอยากเห็นโดยไม่เกิดวิบัติต่อชาติบ้านเมือง ซึ่งกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวจะได้เข้าใจขึ้นเป็นตามลำดับ ตามที่เขาได้พยายามเรียกร้อง
เมื่อถามว่าประเมินหรือไม่ว่ามีผู้ชุมนุมจะมามากกว่าวันที่ 19 ก.ย. นายอนุชากล่าวว่า ตอนนี้คงประเมินอะไรได้ไม่มาก คงมีผู้ร่วมอุดมการณ์และคงอยู่ในกรอบตามที่เขาดำเนินมา และคงไม่แตกต่างไปกว่าเดิม ส่วนที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มคณะราษฎรนั้น ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะเปลี่ยนมิติ เพราะที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่เขาคิด จึงเปลี่ยนรูปแบบเพื่อหาแนวร่วมเพิ่มเติม อันนี้เป็นสิ่งที่เราวิเคราะห์
เมื่อถามว่าเป็นการโยงคณะราษฎรในอดีตหรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า ไม่เป็นไร ถือเป็นความคิดเห็นและเขาต้องการให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง แต่สังคมต้องการด้วยหรือไม่ สังคมต้องตอบ อยู่ที่ประชาชนคนไทยจะเป็นผู้ตอบโจทย์ว่าประเทศเราจะไปในทิศทางไหน
“อยากวิงวอนนิสิตนักศึกษาหันหน้ามาคุยกันเพื่อหาทางออกให้ประเทศ รัฐบาลและนายกฯ มีความจริงใจและเป็นห่วงลูกหลานทุกคน ไม่มีความคิดเป็นอย่างอื่น ไม่มีคิดร้ายหรือคุกคาม แต่บางครั้งผู้ชุมนุมอาจเกินเลยเรื่องขอบเขตกฎหมายซึ่งเราก็เห็นกันอยู่ เราก็รู้อยู่แก่ใจว่ามันเกินเลยแล้ว แต่รัฐบาล หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอะลุ้มอล่วย ให้เขาได้แสดงออก ส่วนการตัดสินใจเป็นหน้าที่ของประชาชนซึ่งคุมเสียงของประเทศเพราะเราต้องช่วยนำพาประเทศพ้นวิกฤตไปให้ได้เพราะมีวิกฤตอยู่หลายเรื่อง เช่น โควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็ทำได้ดี ประชาชนก็ต้องช่วยกันและป้องกันการแพร่ระบาด ขณะที่การชุมนุมก็มีความเสี่ยง แต่ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรเพราะเขาก็บอกว่าเป็นสิทธิ” นายอนุชา ระบุ
เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ นายอนุชากล่าวว่า บ้านเมืองเรามีเสาหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มานาน ที่เราไม่ต้องเป็นเมืองขึ้นของใคร ไม่อยู่ภายใต้ระบบเผด็จการ เรามาแถลงข่าวยืนพูด เดินขบวนกันได้ขนาดนี้ นับเป็นโชคดีของประเทศไทย ที่เรามีเสาหลักที่สามารถคานอำนาจสิ่งที่ไม่คาดฝันเหมือนที่ประเทศอื่นได้รับ นี่คือสิ่งที่เป็นคุณูปการที่เราได้รับมา ส่วนตัวถ้ามีเรื่องนี้ไม่เอาแน่นอน หัวเด็ดตีนขาด ก็ไม่มีตนอยู่ในนั้นแน่นอนในการคิดและเปลี่ยนในสิ่งนี้ ถ้ามีเรื่องนี้ตนก็เดินตรงข้ามอย่างเต็มที่ เว้นเรื่องนี้เรื่องเดียว เรื่องอื่นคุยได้หมด เพราะเรื่องนี้คนคิดว่าเป็นเรื่องของชาติบ้านเมืองที่เราอยู่ปลอดภัยมา บางครั้งอะไรที่เราควรจะอดทนอดกลั้นเพื่อประเทศที่สงบและมีเสาหลักคานให้เราอยู่ได้เป็นที่ค้ำยันให้เรามีเสรีภาพในระบอบของเมืองไทยของเรา และเมืองไทยของเราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนคนอื่น100% และสิทธิเสรีภาพที่เราก็ค่อนข้างสูงแล้วในโลกใบนี้
นายอนุชากล่าวด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้มอบหมายให้ใครเป็นผู้ประสานงานกับผู้ชุมนุม เพราะเขายังไม่ระบุว่าจะยื่นหนังสือมาที่รัฐบาลแต่อย่างใด