xs
xsm
sm
md
lg

อนุฯ กมธ.สื่อฯ วุฒิสภา เร่งศึกษากรณี “คดีน้องชมพู่”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพสื่อ วุฒิสภา เตรียมเสนอรัฐบาล และ กสทช.เพื่อแก้ปัญหาจริยธรรมสื่อ ก่อนเร่งรัดคลอด พ.ร.บ.จริยธรรม ด้าน “ไทยรัฐ” “อมรินทร์” ยันเสนอข่าวคดีน้องชมพู่” อิงจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยมุ่งค้นหาคำตอบให้สังคมเท่านั้น ขณะที่นักวิชาการสื่อแนะทำงานอิสระ แต่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. การประชุมคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สว.) อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ได้มีการพิจารณารวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชน โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายด้านวิชาชีพสื่อมาให้ข้อมูล ทั้งนี้ มีการหยิบยกประเด็นการนำเสนอข่าวคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ มาเป็นกรณีศึกษา

ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ ถือเป็นการรับฟังสภาพปัญหา และเก็บข้อมูล กรณีการนำเสนอข่าวการเสียชีวิตของน้องชมพู่ ที่มีทั้งผู้บริหารจากวิชาชีพ และนักวิชาการ เพื่อที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์ปัญหาด้านวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งคุณธรรม จริยธรรม ที่จะนำไปสู่พิจารณาแก้ไขปัญหาหรือสร้างมาตรฐานด้านวิชาชีพ โดยเฉพาะด้านกฎหมายจริยธรรม

“อมรินทร์ทีวี” ย้ำทำตามจรรยาบรรณวิชาชีพ

นายนภจรส ใจเกษม บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี ชี้แจงถึงเรื่องจริยธรรมสื่อมวลชนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ กรณีนำเสนอข่าวน้องชมพู่ ว่า ช่วงแรกๆ ที่ลงพื้นที่ เราไม่คิดว่าข่าวนี้จะปั้นให้ใครดัง แค่อยากค้นหาความจริงให้รอบด้านที่สุด

“ประเด็นเสียงวิจารณ์ ว่า การนำเสนอข่าวของเรา ทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชนนั้น จริงๆ แล้วชาวบ้านกกกอกต้องการให้เราเกาะติดคดีนี้มากกว่า เพราะไม่อยากให้ข่าวเงียบ ส่วนที่พูดถึงเรื่องจรรยาบรรณ เราให้ความสำคัญ เช่น เมื่อบางคนที่ให้สัมภาษณ์แล้วกลับรู้สึกไม่สบายใจ เราก็ไม่ออกอากาศ หรือบางคนก็ปิดบังหน้าตาให้”

“ไทยรัฐ” ปรับทัพดึงฝ่ายเซนเซอร์ช่วยเช็กข่าวก่อนออนแอร์

นายกฤษณ์ชนุตณ์ เจียรรัตนกนก รองผู้อำนวยการสายสนับสนุน ไทยรัฐทีวี กล่าวว่า กรณีคดีน้องชมพู่ เราลงพื้นที่เพื่อตามหา เราพยายามค้นหาความจริงให้ปรากฏ ดังนั้น ถามว่า เราได้มีการละเมิดตามวิจารณ์หรือไม่ ยอมรับว่า บางครั้งคาดไม่ถึง แต่เราก็ปรับตัวตลอด ไทยรัฐทีวีเองมีฝ่ายเซนเซอร์ เราให้ทีมนี้เข้ามามีบทบาทในการทำงานกองบรรณาธิการมากขึ้น เรามีกระบวนการตรวจสอบมากขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ซึ่งไทยรัฐทีวีน่าจะเป็นช่องแรกที่ให้ฝ่ายเซนเซอร์เข้าไปอยู่ในกระบวนการนำเสนอข่าว

“อิสระ” แต่ต้องเป็นธรรมและไม่ล้ำเส้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า กล่าวถึงหลักการทำงานของสื่อ ควรยึดหลักในการทำหน้าที่ 5 ข้อ คือ หนึ่ง - การทำความจริงให้ปรากฏ สอง - สื่อจะมีมาตรการอย่างไรในการปกป้องความอิสระ แต่ไม่ให้ล้ำเส้น สาม - ความเป็นจริงเสนอไปแล้วเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ สี่ - ความยินยอม ไม่ได้แปลว่า สามารถทำได้ ต้องพิจารณาหากยอมแต่ไม่เกิดผลดี สังคมเสียหายไปแล้วใครรับผิดชอบ ห้า - ความรับผิดชอบ สื่อที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ จะรับผิดชอบอะไรบ้าง เมื่อมีปัญหารับผิดหรือไม่ การที่ระบุว่าไม่คาดคิด เคยมีการขอโทษ หรือแก้ไขหรือไม่ “ผมไม่สงสัยในเรื่องจริยธรรม แต่การทำข่าวมันไม่ควรมองข้ามผลสืบเนื่องการนำเสนอ เช่น การเลียนแบบ ที่อาจจะมีการโปรโมตผู้ต้องสงสัยอีกในอนาคตหรือไม่ มันจะเป็นค่านิยมที่บิดเบี้ยว เรื่องนี้ประโยชน์ที่เกิดต่อสังคมและสาธารณะไม่ได้อะไรเลย”

ชี้จัดสรรงบสนับสนุนสื่อสร้างสรรค์

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ กล่าวว่า กรณีคดีน้องชมพู่ พบว่า มีสื่อบางสื่อที่เลือกไม่เล่นข่าวนี้เลย หรือไม่เล่นเยอะ แค่นำเสนอปรากฏการณ์แล้วก็จบไป เพราะคดียังไม่คืบ กรณีที่เป็นที่วิจารณ์มองว่าเป็นการเล่นข่าวตามกระแสและต้องการเรตติ้งหวังโฆษณา ตนอยากเสนอว่า อาจต้องมีกระบวนการที่ไม่ได้วัดเรื่องเรตติ้งอย่างเดียว ควรจะ Base on Quality เพื่อประโยชน์ที่สังคมควรจจะได้รับ และบอกคนสนับสนุนให้มองเห็นประโยชน์จากเรื่องนี้ และเพื่อให้กำลังใจสื่อที่ทำงานสร้างสรรมีความแข็งแรงต่อไป








































กำลังโหลดความคิดเห็น