xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.สื่อฯวุฒิสภา ชี้ถึงเวลาปรับ “มาตรฐานวิชาชีพสื่อ” หลัง “อดีตนักข่าวและช่างภาพ” ทีวีช่องดังแจงเกาะติดคดี “น้องชมพู่” หวังเรตติ้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อนุกรรมาธิการสิทธิสื่อ วุฒิสภา เตรียมเรียกผู้บริหารดิจิทัลทีวีช่องดังให้ข้อมูลเพิ่มเติม หลังเกิดปรากฏการณ์นักข่าวและช่างภาพลาออก ประกาศต่อสาธารณะว่า ไม่สามารถทนรับสภาพแนวทางในการนำเสนอข่าวคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ได้อีกต่อไป จนรู้สึกสูญเสียในมาตรฐานวิชาชีพสื่อ



วันนี้ (17 ก.ย.) การประชุมคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพ ด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ครั้งที่ 26/2563 เมื่อวันพุธ ที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งมี นายนิพนธ์ นาคสมภพ เป็นประธาน ได้เชิญ พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. รวมทั้ง นายศักดา วรรณสุทธิ์ อดีตผู้สื่อข่าว และ นายทรงพล เรืองสมุทร อดีตหัวหน้าช่างภาพ ของช่องดิจิทัลทีวี ที่เกาะติดคดีการเสียชีวิตของเด็กหญิงอรวรรณ วงศ์ศรีชา (น้องชมพู่) อย่างต่อเนื่อง ร่วมให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ในวาระการพิจารณาศึกษา “จริยธรรมในการนำเสนอข่าวสารของนักวิชาชีพสื่อมวลชน จากกรณีการนาเสนอข่าวติดตามคดีการเสียชีวิตของเด็กหญิงอรวรรณ วงศ์ศรีชา (น้องชมพู่)”

นายศักดา วรรณสุทธิ์ อดีตผู้สื่อข่าว ให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมาธิการ ว่า ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวที่ลงพื้นที่ เกาะติดความคืบหน้าและนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องนานนับเดือน นานจนมีความรู้สึกว่าได้นำเสนอข่าวทุกแง่มุมแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังได้รับคำสั่งให้หาประเด็นของคนในหมู่บ้าน ที่แม้จะเคยให้สัมภาษณ์ไปแล้วซ้ำๆ จึงมีความรู้สึกว่ากำลังละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และบางครั้งก็ทำให้เกิดความขัดแย้งกันเองของคนในหมู่บ้าน หลังจากที่ข่าวถูกนำเสนอออกไปในแต่ละวัน ทำให้เราในฐานะคนทำสื่อรู้สึกลำบากใจ แต่ก็ปฏิเสธต้นสังกัดไม่ได้จึงเลือกที่จะเดินออกจากวังวน ด้วยการขอลาออก

ด้าน นายทรงพล เรืองสมุทร อดีตหัวหน้าช่างภาพ กล่าวถึงความรู้สึกอึดอัดใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อ แม้ออกมาจะไม่ได้อยากเปิดโปงปัญหา แต่อยากให้มีการปรับเปลี่ยนในวงการสื่อสารมวลชน ซึ่งที่ผ่านมาคิดว่าเป็นปัญหาโครงสร้างขององค์กร เพราะย่อมต้องทำตามคำสั่งที่มอบหมายมา และมองว่า การใช้เสรีภาพของในฐานะสื่อมวลชนมากเกินความจำเป็น กระทั่งไปล่วงเกินสิทธิส่วนบุคคลของแหล่งข่าว

“ผมยกตัวอย่าง เวลาต้องหาประเด็นมาเล่นในแต่ละวัน แม้กรณีการสัมภาษณ์พระในข่าว ซึ่งไม่ใช่พระในสำนักสงฆ์ ที่กองบรรณาธิการพยายามให้นักข่าวภาคสนามไปขอให้แสดงอภินิหาร ไปคุยกับต้นไม้และถามว่าเห็นนิมิตรอะไรหรือไม่ ซึ่งมองว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะมาอ้างว่าคนดูชอบ แต่เป็นการแก้ตัวที่ไม่มีความรับผิดชอบ พร้อมเปิดเผยว่าเคยหารือเรื่องนี้ในองค์กรแบบไม่เป็นทางการ แต่อีกฝ่ายกลับไม่เห็นด้วย เพราะต้องการเรทติ้ง ผมอาย ในสิ่งที่ทำอยู่ จึงลาออกมา เพื่อตะโกนดังๆ มุ่งหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงในวงการบ้าง” อดีตหัวหน้าช่างภาพทีวีดิจิทัล กล่าว

ส่วนทางด้าน พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. ได้แสดงความชื่นชมในความกล้าหาญของสื่อมวลชนทั้งสองคน ที่ออกมาทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในวงการสื่อสารมวลชนในครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมา ในปี 2562 ดิจิทัลทีวช่องดังกล่าว มีเรื่องร้องเรียนเข้ามา 3 เรื่อง ส่วนปีนี้ มี 6 เรื่องที่ถูกร้องเรียนเข้ามา ซึ่งโทษเป็นการปรับเงิน พร้อมอธิบายว่าการบังคับใช้กฎหมายของ กสทช.เป็นลักษณะขั้นบันได จากการปรับ สู่การพักใช้ใบอนุญาตหรือจอดำ ไปจนถึงการเพิกถอนใบอนุญาต

“ในวันที่ 23 กันยายน ที่จะถึงนี้ บอร์ดชุดใหญ่ของ กสทช. จะมีการพิจารณาบทลงโทษปรับดิจิทัลทีวีช่องดังกล่าว ตามที่บอร์ดเล็ก ได้พิจารณาปรับไปแล้ว ทั้งหากช่องดังกล่าวยังคงถูกร้องเรียนในเรื่องเดิมๆ และรุนแรงมากขึ้น กสทช.จะไม่ใช้การปรับ แต่จะพิจารณาถึงบทลงโทษอื่น เช่น การพักใบอนุญาตหรือจอดำในรายการนั้นๆ หรือมากกว่านั้นถึงขั้นถอนใบอนุญาตก็ทำได้” กรรมการ กสทช. กล่าว

ขณะที่ นายนิพนธ์ นาคสมภาพ ประธานคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพ ด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ วุฒิสภา กล่าวว่า การออกมาประกาศตนลาออกของทีมข่าวดิจิทัลทีวีช่องนี้ เพราะรับไม่ได้กับวิธีคิดและการออกแบบในการนำเสนอข่าวของทีมบริหาร เพื่อให้ได้มาซึ่งเรตติ้ง โดยไม่ห่วงเรื่องผลกระทบต่อสังคม ชุมชน หรือคนที่เป็นแหล่งข่าว จนสร้างความอึดอัดใจ ให้กับนักข่าวและช่างภาพที่ต้องลาออกและประกาศให้สังคมรับรู้ครั้งนี้ เป็นสิ่งที่คณะกรรมาธิการให้ความสนใจอย่างมากและติดตามใกล้ชิดเพราะเห็นว่า

“เรามีกฎหมายกำหนดให้มี “เสรีภาพ” ในการเสนอข่าวสาร แต่ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องของการขาด “อิสรภาพ” ในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และจากนี้ทางคณะอนุกรรมาธิการ จะเชิญทีมผู้บริหารข่าวของสถานีดิจิทัลทีวีช่องดังกล่าวมาชี้แจง รวมไปสมาคมที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุลของข้อมูล ก่อนที่จะพิจารณาถึงแนวทางการแก้ปัญหามาตรฐานทางวิชาชีพสื่อต่อไป” ประธานคณะอนุกรรมาธิการ กล่าว






















กำลังโหลดความคิดเห็น