ปธ.คกก.สอบคดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลังดัง แนะนายกฯ แก้ พ.ร.บ.นิติวิทยาศาสตร์ หวังนิติฯ ตร.-ก.ยุติ คานกันได้เหมือนเดิม เผยเจ้าตัวรับปรับโครงร่างกระบวนการยุติธรรมไทย จากระบบกล่าวหาเป็นระบบไต่สวน
วันนี้ (1 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบเพื่อรายงานสรุปแนวทางการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ว่า นอกจากร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... แล้ว ได้พูดคุยถึงแนวทางการแก้ไข พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญาและข้อเสนอแนะปรับปรุงกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งนายกฯ ได้รับเรื่องไว้ทั้งหมดว่าจะไปดูเพื่อแก้ไขให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการเสนอ โดยเฉพาะการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยคณะกรรมการขอให้แก้ไขด่วน ในมาตรา 145/1 ที่ทาง คสช.แก้ไขอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยได้ตัดอำนาจของผู้ว่าฯ ในกรณีที่มีข้อขัดแย้งกันกับตำรวจ กลายเป็นว่าตำรวจมีอำนาจครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ขอให้กลับไปเหมือนเดิม คือ ให้ทางผู้ว่าฯ สามารถโต้แย้งทางตำรวจได้ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องที่ฝ่ายปกครองมีความไม่พอใจมาโดยตลอด และเขาเห็นว่าเป็นอำนาจเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่เขาจะท้วงติงแทนราษฎร ซึ่งในประเด็นดังกล่าวได้มีการยกตัวอย่างคดีในอดีตหลายคดี แต่ตอนนี้ไม่มีอำนาจที่จะไปโต้แย้งอะไรได้แล้ว
นายวิชากล่าวว่า ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนิติวิทยาศาสตร์นั้น การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิติวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่ทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเสนอมา ทางคณะกรรมการฯได้สนับสนุนประเด็นนี้ให้รีบออกมาโดยเร็ว และให้แก้ไข พ.ร.บ.บริการนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้สามารถใช้งานได้แม้ว่าทางฝ่ายตำรวจตรวจสอบและมีความเห็นแล้วยุติแล้วโดยตำรวจ แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความฝ่ายอื่นเขาไม่พอใจก็สามารถจะใช้บริการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมได้เพื่อให้อำนาจคานกัน ดังนั้น ต่อไปนี้สามารถใช้บริการได้ทั้งนิติวิทยาศาสตร์ของตำรวจ และนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรม
“ที่สำคัญไปกว่านั้น นายกฯ เห็นด้วยที่คณะกรรมการฯเสนอว่าสมควรเปลี่ยนระบบกระบวนการยุติธรรม จากระบบกล่าวหา เป็นระบบไต่สวนหรือไม่ เรื่องนี้จะนำไปสู่การค้นคว้าและการที่จะถกเถียงกันต่อไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะเปลี่ยนโครงร่างของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเลยทีเดียว ซึ่งคณะกรรมการฯได้เสนอไป และนายกฯก็ได้รับแล้ว” นายวิชากล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ในวันนี้คณะกรรมการฯ ถือว่าได้ยุติบทบาทลงแล้ว เพราะได้ส่งงานกันเรียบร้อยแล้ว