เปิดค่าตอบแทน-โบนัส หลังรัฐบาลไฟเขียว “ปตท.สผ.สยาม” ต่ออายุอีก 10 ปี จากเดิม 30 ปี สำรวจแปลงบนบกหมายเลข S1 “พื้นที่ จ.สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร” พบมีค่าตอบแทนต่อระยะเวลาผลิต 6 ปีกว่า 30 ล้านดอลลาร์ โบนัสการลงนาม 5 ล้านดอลลาร์ โบนัสขายปิโตรเลียม 6 ระดับ สร้างรายได้ให้รัฐ 630 ล้านดอลลาร์ แถมผลประโยชน์พิเศษอีก 106 ล้านดอลลาร์
วันนี้ (27 ก.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 22 ก.ย. อนุมัติให้ บริษัท ปตท.สผ. สยาม จำกัด ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสำหรับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2522/16 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข S1 (พื้นที่ จ.สุโขทัย พิษณุโลก และกำแพงเพชร) ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2564 ถึงวันที่ 14 มี.ค. 2574
กระทรวงพลังงานได้รายงานว่าได้นำเสนอเรื่องการต่อเวลาดังกล่าวให้คณะกรรมการปิโตรเลียมพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้รับสัมปทานปฏิบัติครบถ้วนตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมและข้อกำหนดของสัมปทานปิโตรเลียม รวมทั้งแผนดำเนินงาน แผนการลงทุน ระยะเวลาการผลิต และผลประโยชน์เพิ่มเติมที่เสนอให้แก่รัฐมีความเหมาะสมและมีสมรรถนะเชิงพาณิชย์ คณะกรรมการปิโตรเลียมจึงมีมติอนุมัติต่อระยะเวลาออกไปให้ 10 ปี ก่อนที่จะนำมาเสนอ ครม.ตามขั้นตอน
ทั้งนี้ พบว่าโดยเฉพาะด้านผลประโยชน์ต่อประเทศ โดยผู้รับสัมปทานเสนอข้อผูกพันการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ให้ผลประโยชน์พิเศษเพิ่มเติมแก่รัฐ นอกเหนือจากค่าภาคหลวง และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ดังนี้
1) ข้อผูกพันการสำรวจ โดยเจาะหลุมสำรวจหรือหลุมประเมินผล 2 หลุม ในช่วง 5 ปีแรกของระยะเวลาผลิตที่ได้รับการต่อ โดยต้องเจาะหลุมในพื้นที่สงวนเพื่อเร่งรัดให้มีการสำรวจ ค่าใช้จ่ายขั้นตํ่า 2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2) ข้อผูกพันการผลิต โดยเจาะหลุมผลิตรวม 100 หลุม ในช่วง 5 ปีแรก ของระยะเวลาผลิตที่ได้รับการต่อ ค่าใช้จ่ายขั้นตํ่า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
3) โบนัสการลงนาม จำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
4) ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาผลิต จำนวน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นระยะเวลา 6 ปี โดยแบ่งจ่ายรายปี ปีละ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงระหว่างปี 2566 ถึงปี 2571
5) โบนัสจากการขายปิโตรเลียมในอัตราร้อยละของรายรับ ดังนี้
- ร้อยละ 2 ของรายรับ เมื่อปริมาณการขายสะสมน้ำมันดิบ ตั้งแต่ 0 ถึง 30 ล้านบาร์เรล - ร้อยละ 3 ของรายรับ เมื่อปริมาณการขายสะสมนํ้ามันดิบมากกว่า 30 ล้านบาร์เรลแต่ไม่เกิน 40 ล้านบาร์เรล - ร้อยละ 4 ของรายรับ เมื่อปริมาณการขายสะสมน้ำมันดิบมากกว่า 40 ล้านบาร์เรลแต่ไม่เกิน 50 ล้านบาร์เรล - ร้อยละ 3 ของรายรับ เมื่อปริมาณการขายสะสมน้ำมันดิบมากกว่า 50 ล้านบาร์เรลแต่ไม่เกิน 60 ล้านบาร์เรล
- ร้อยละ 2 ของรายรับ เมื่อปริมาณการขายสะสมนํ้ามันดิบมากกว่า 60 ล้านบาร์เรลแต่ไม่เกิน 70 ล้านบาร์เรล - ร้อยละ 1 ของรายรับ เมื่อปริมาณการขายสะสมน้ำมับดิบมากกว่า 70 ล้านบาร์เรล
นอกจากนี้ ในการฝึกอบรมเพื่อเตรียมการสำหรับการรับช่วงต่อความเป็นผู้ดำเนินงาน และการปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการรื้อถอนและประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง โดยประเทศจะได้รับประโยชน์ ดังนี้
ก) เป็นการรักษาการผลิตน้ำมันดิบให้แก่ประเทศ สร้างเสริมและรักษาความมั่นคงในการจัดหาพลังงานจากเชื้อเพลิงธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมการสร้างงานในประเทศ และสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐ
ข) เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐในรูปของค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ประมาณ 381 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 249 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ และผลประโยชน์พิเศษประมาณ 106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ค) เป็นการส่งเสริมการสร้างงานในประเทศทั้งงานในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรง และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตั้งข้อสังเกตว่า การขุดเจาะปิโตรเลียมด้วยวิธี Hydraulic Fracturing โดยการฉีดน้ำผสมทรายและสารเคมีลงไปในหลุมเพื่อให้เกิดรอยแตกในชั้นหินและให้น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติไหลออกมาอาจทำให้สารที่ใช้รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำบาดาลได้หากดำเนินการอย่างไม่ระมัดระวังและขาดการควบคุมที่ดี ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พื้นที่เกษตรกรรมและการประมง รวมถึงสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ
ดังนั้น จึงเห็นควรให้กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตรวจสอบและควบคุมผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมแปลงสำรวจบนบกทุกรายที่ใช้วิธีขุดเจาะเดียวกันนี้
ให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ รัดกุม ได้มาตรฐานสากล และเป็นไปตามมาตรฐาน หลักเกณฑ์และข้อบังคับที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
สำหรับหลุม S1 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี ได้ออกสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2522/16 เพื่อสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบกหมายเลข S1 (บริเวณจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และกำแพงเพชร) ให้แก่ บริษัท เชลล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น บี.วี. เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2522
ต่อมาได้มีการโอนสัมปทานมาเป็นลำดับ ปัจจุบันมีผู้ถือสิทธิประโยชน์ และพันธะ คือ บริษัท ปตท.สผ. สยาม จำกัด ร้อยละ 75 และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 25 (ผู้ร่วมประกอบกิจการ) ซึ่งสัมปทานดังกล่าวอยู่ภายใต้ระบบสัมปทาน Thailand I
ปัจจุบันอยู่ในช่วงระยะเวลาผลิต 30 ปี (ตั้งแต่ 15 มีนาคม 2534-14 มีนาคม 2564) ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 14 มีนาคม 2564