“หมอเจตน์” ชี้ไม่เหมาะแก้ รธน.ช่วงโควิด ค้านตั้ง ส.ส.ร. หวั่นเซ็นเช็คเปล่า ตัดเรื่องดี รธน.60 หมด “เสรีพิศุทธ์” แนะ “อนุทิน-จุรินทร์” ลาออกเลือกนายกฯ ใหม่ นำร่างฉบับ ปชช.พิจารณา ฉะ ส.ว.เป็นสภาเพื่อนพ้องน้องพี่ ด้าน “ปรีชา” ประท้วงโต้
วันนี้ (23 ก.ย.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ขอยืนยัน ส.ว.มีอิสระทางความคิด ไม่มีการหารือหรือขอร้องให้ลงมติในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติไม่เหมาะกับสถานการของประเทศที่มีการระบาดโควิด-19 ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่เราก็ต้องมานั่งพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำหรับร่างรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร. ทั้งของพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาล ครั้งหนึ่งเคยมีการตั้ง ส.ส.ร.มาแล้ว มีการอภิปรายว่าเปรียบเหมือนลูกฆ่าแม่ และเป็นการตีเช็คเปล่า ต่อมาปี 55 มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาโดยการลงมติของประชาชนก็ควรให้ประชาชนได้ประชามติเสียก่อนว่าควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เป็นที่มาของการออกแบบรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งกำหนดให้ต้องทำประชามติเมื่อแก้ไขในหมวด 15 โดยต้องทำถึง 2 ครั้ง คือ เมื่อตั้ง ส.ส.ร. และมีรัฐธรรมนูญแล้ว ทั้งหมดต้องใช้งบประมาณถึง 12,000-13,000 ล้านบาท
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลายสาเหตุที่ทำให้นักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองที่ไม่ดีไม่ชอบ เช่น มาตรา 9 ว่าด้วยเรื่องขัดกันของผลประโยชน์ ซึ่งมีผลให้ ส.ส. ส.ว. ไม่อาจดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร ห้ามเข้ารับหรือก้าวก่ายสัมปทานของรัฐ ห้ามแปรงบประมาณ ผมไม่แน่ใจว่าประเด็นดีๆ เหล่านี้จะคงอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เป็นประเด็นที่ทำให้คิดหนัก และไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.” นพ.เจตน์กล่าว
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อภิปรายถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ว่าแม้ตนจะลงชื่อในการสนับสนุนญัตติฝ่ายค้านแต่เป็นตามมารยาท ตนและไม่พรรคไม่ได้เห็นด้วยกับญัตติฝ่ายค้านและรัฐบาล โดยก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. ฉีกรัฐธรรมนูญและร่างใหม่ เพื่อการสืบทอดอำนาจ ใช้อำนาจหัวหน้า คสช.แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เริ่มจากแต่งตั้งนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เป็นบุคคลที่มีความรู้เหมาะสม แต่พอร่างเสร็จแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ไม่พอใจ ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 2 ขึ้นมาอีก นายบวรศักดิ์เคยบ่นว่าที่ไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญของตนตอนนั้นเพราะอยากอยู่ยาว ดังนั้น กรธ.ชุดใหม่จึงต้องร่างเอาใจ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รู้ว่าต้องการเอาชนะสถิติของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะตอนนี้ก็อยู่มา 6 ปีแล้ว ทั้งที่งบประมาณในการยกร่างชุดแรกใช้ไปจำนวนมาก แต่ชุดที่สองก็ไปตั้งเฒ่าสารพัดพิษมาเป็นประธาน
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขอให้หลีกเลี่ยงการใช้คำที่ไม่เหมาะสม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จึงขอเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘เฒ่าเจ้าเล่ห์’ ทำให้นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ประท้วงเรื่องการใช้คำพูดไม่เหมาะสม และการนำเอกสารขึ้นมาอ่านผิดข้อบังคับ
จากนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวต่อไปว่า การร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ร่างเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติได้ แต่ต้องฟังนโยบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ก่อน ที่ผ่านมาก็ไม่เคยถูกคนนอกทักท้วง ถูกแต่คนในทักท้วง และกล่าวต่อว่า การจูงจมูกคนร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเป็นคนรับผิดชอบ นายสิระลุกขึ้นปะท้วงว่าหากพูดถึงคนที่ไม่อยู่ในห้องประชุมเป็นสุภาพบุรุษ เป็นลูกผู้ชายหรือไม่
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวอีกว่า ระหว่างจัดทำรัฐธรรมนูญก็มีข่าวคอร์รัปชั่นมากมาย เช่น อุทยานราชภักดิ์ หรือการแต่งตั้งหลานชาย พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งในกองทัพ เป็นต้น แต่ก็ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ลุกขึ้นใช้สิทธิพาดพิงว่าทุกคนมีสิทธิ์ประกอบอาชีพของตัวเอง ไม่ควรมาใส่ร้ายป้ายสีคนอื่น ขอให้ถอนคำพูด
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า ประชาชนที่เห็นต่างกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกดำเนินคดีเกือบ 200 คน และเมื่อรัฐธรรมนูญผ่าน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายคนได้รับการยกเว้นไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน นอกจากนี้ ประธานสภามหาวิทยาลัยพอจะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินก็ลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้ไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ตนตั้งคำถามว่าหากบริสุทธิ์ใจจะลาออกทำไม ขณะเดียวกันมีอาจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์หลายคนออกมาแสดงความว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เลวร้ายที่สุด แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ฟังเดินหน้าจัดให้มีการเลือกตั้ง เพราะรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นมาให้ตนได้เป็นายกรัฐมนตรี มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ที่มาจาก คสช.
นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.ประท้วงว่าไม่ให้ผู้อภิปรายกล่าวถึงบุคคลภายนอก พร้อมกล่าวว่าหากรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่มีดีจริง พรรคการเมืองบางพรรคคงไม่ได้เข้าสภา ที่ได้เข้ามาเพราะเป็นคุณของรัฐธรรมนูญปี 2560
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวต่อว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่เป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ตอนนั้นลาออก เหมือนมีญาณรู้ว่าจะได้เป็นประธาน ส.ว. และสัดส่วน ส.ว. คือตำรวจ 14 คน ทหารอีก 91 คน และยังเป็นคนที่มีความสัมพันธ์กับ คสช. อีกจำนวนมาก จนวุฒิสภามีชื่อว่าสภาเพื่อนพ้องน้องพี่ บางคนขาดการประชุมมากมาย
ช่วงหนึ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้นำภาพ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ส.ว. ขึ้นหน้าจอประกอบคำอภิปรายว่ายุคหนึ่งเราเคยเรียกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งว่าเป็นสภาผัวเมีย ทำให้ พล.อ.ปรีชาประท้วงว่าเอาภาพตนขึ้นจอโดยไม่ได้ขออนุญาต พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ส.ว.ต้องให้ความเห็นชอบกับบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. แต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าคณะสรรหา ส.ว. แล้ว ส.ว.ก็ไปเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี 249 คน ขาดเพียงแค่ประธานคนเดียวที่งดออกเสียง เป็นการเอาบุญคุณส่วนตัวมาแลกกับผลประโยชน์ประเทศชาติ ได้นายกรัฐมนตรีที่ถวายสัตย์ไม่ครบ 6 ปีที่ดำรวงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งงบประมาณเกินดุลมาตลอด ไม่รวมกับการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่แก้ปัญหาโควิด แต่ปราฏฎว่าประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก คนตกงานเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ คนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น และตอนนี้นายกรัฐมนตรีเองก็ยอมรับว่าเงินหมดคลัง
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวต่อว่า ตามมาตรา 3 อำนาจที่แท้จริงเป็นของประชาชนไม่ใช่พระมหากษัตริย์ ดังนั้นหากจะพิจารณาร่างของฝ่ายค้านหรือรัฐบาลอย่างเดียวโดยไม่พิจารณาร่างของประชาชนไม่ได้ ส.ส.แม้จะเป็นตัวแทนของประชาชน แต่หากเป็นเรื่องที่สำคัญต้องฟังจากประชาชนเสียก่อน ไม่ใช่อ้างความเป็น ส.ส. อย่างเดียวแล้วใช้อำนาจแทน นอกจากนี้ ส.ว.ที่จะมาร่วมโหวตก็ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนแม้แต่คนเดียว จึงไม่สวามารถสรุปได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงไม่ได้แปลว่าจะเป็นผลดีแก่ประชาชน เพราะทั้งสองฝ่ายอาจจะร่างเพื่อผลประโยชน์ของตน นอกจากนี้ ตนยังเห็นว่าขั้นตอนในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ก็ใช้เวลานาน เท่ากับการต่ออายุของ พล.อ.ประยุทธ์ ไปอีก และจะเชื่อได้อย่างไรว่าจะไม่เป็นอุปสรรค์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนจึงเสนอ 4 ขั้นตอนคือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกจากรัฐมนตรีก่อน, เลือกนายกรัฐมนตรีตาม ม.172, แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยนำร่างของประชาชนมาพิจารณา และยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พร้อมทั้งกล่าวว่า ถ้านายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ลาออกจาการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่มีทางลาออก พร้อมย้ำว่าให้รีบตัดสินใจ ถ้ารีบลาออก ประเทศจะเดินหน้าต่อ นักศึกษาก็จะหยุด แล้วจะได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ