สทนช.เร่งแก้ปมจัดการน้ำยั่งยืน เตรียมยกพื้นที่นำร่องทดลองการใช้หลักเศรษฐกิจสังคม กำหนดกรอบนโยบายการบริหารจัดการตอบโจทย์แก้ปัญหาน้ำในทุกมิติก่อนขยายผลครอบคลุมทั้ง 22 ลุ่มน้ำ
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการนำร่องศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำกับระบบการประเมินด้านเศรษฐกิจและสังคม และพัฒนาระบบบัญชาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาวะวิกฤติ โดยดำเนินการในรูปแบบของการพัฒนาแบบจำลองเศรษฐกิจและอุทกวิทยา (Hydroeconomic Model) ที่มีการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมของแนวทาง/มาตรการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เป็นกลไกในการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อสังคม รวมถึงมีการวิเคราะห์รูปแบบการทำงานเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานทั้งในภาวะปกติและการบัญชาการข้ามหน่วยงานในภาวะวิกฤติ โดยให้มีการเก็บข้อมูลทั้งประเด็นปัญหาและเชิงพื้นที่ การวิเคราะห์ความเสี่ยง รวมไปถึงข้อมูลเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อใช้ในการวิเคราะห์นโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศโดยเร็ว สำหรับแนวทางดำเนินการของโครงการจะมีการศึกษาทบทวนแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลักษณะทางสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำ ก่อนมาจัดทำหลักเกณฑ์สำหรับการคัดเลือกพื้นที่ศึกษานำร่อง 1 แห่ง
ขณะเดียวกัน จะมีการพัฒนาแบบจำลองเศรษฐกิจและอุทกวิทยาในพื้นที่นำร่อง เพื่อศึกษาสมดุลน้ำและวิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำ ครอบคลุม ปริมาณน้ำต้นทุน ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำใน
ปัจจุบันทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ ความต้องการใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศ และการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงและคาดการณ์อนาคตที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยพิจารณาถึงผลกระทบต่างๆ ที่มีต่อการวิเคราะห์ทางเลือก เพื่อประยุกต์ใช้แบบจำลองเศรษฐกิจและอุทกวิทยาที่มีความเชื่อมโยงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรูปแบบต่างๆ ให้เห็นผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน ถูกต้อง ครอบคลุมในทุกมิติ สทนช.จะจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อแนวคิด วิธีการศึกษา และผลการรวบรวมข้อมูลพื้นที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับส่วนกลางและระดับลุ่มน้ำทั่วประเทศ ก่อนมาสรุปวิเคราะห์นำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย การบริหาร และการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำ
“ขั้นตอนในการศึกษาของโครงการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจะดำเนินการใน 4 ขั้นตอนหลัก คือ 1.การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ศึกษา วิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ศึกษาสภาพเศรษฐกิจสังคม ดำเนินการศึกษาข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคม ครอบคลุมสภาพเศรษฐกิจครัวเรือน ลักษณะและขนาดครัวเรือน การประกอบอาชีพ ค่านิยมและทัศนคติ และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประชากรและการกำหนดกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสม 2. จัดทำและเชื่อมโยงแบบจำลองเศรษฐกิจและอุทกวิทยา เพื่อวางแผนจัดการและประเมินผลกระทบจากการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
โดยคำนึงถึงด้านกายภาพของน้ำ เศรษฐกิจและสังคมในเวลาเดียวกันได้ 3. ศึกษา วิเคราะห์ความคุ้มค่าและประสิทธิภาพของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยวิเคราะห์ความเสี่ยง ประเมินต้นทุนและผลประโยชน์ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากแผนการบริหารจัดการน้ำ และ 4. จัดทำคู่มือนำเสนอวิธีการใช้งานแบบจำลองเศรษฐกิจและอุทกวิทยา ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน ปี 2564 ” ดร.สมเกียรติ กล่าว