“นฤมล” รมช.แรงงาน ลงพื้นที่ “นครสวรรค์” จัดบูทแนะนำเทคโนโลยีทางการเกษตร กระตุ้นแรงงานภาคการเกษตร พัฒนาตนเองสู่ Smart Farmer
วันนี้ (11 ก.ย.63) ที่ จ.นครสวรรค์ ในระหว่างที่คณะของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ ติดตามแนวทางการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ และเป็นประธานมอบสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุให้กับราษฎร โดยสัญญาเช่าจำนวนมาก เป็นการเช่าเพื่อทำการเกษตร นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน และคณะ ได้จัดกิจกรรมแนะนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมมาบริการประชาชน เพื่อใช้เพิ่มผลผลิตที่สูงขึ้น และช่วยลดต้นทุนการผลิต
โดยกิจกรรมที่กระทรวงแรงงงานได้นำมาบริการประชาชน ได้แก่ สำนักงานแรงงาน จ.นครสวรรค์ ให้บริการการรับเรื่องราวร้องทุกข์ร้องเรียน, สำนักงานจัดหางาน จ.นครสวรรค์ แนะแนวตำแหน่งงาน รับสมัครงาน, สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 8 นครสวรรค์ นำเทคโนโลยีการควบคุมอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อการเกษตร แนะนำเกษตรกรที่สนใจ นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับ บริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด จัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่แรงงานในภาคการเกษตร, สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครสวรรค์ ให้คำปรึกษา การรับคำร้องทุกข์ ร้องเรียนเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานทั้งในระบบและนอกระบบ
สำนักงานประกันสังคม จ.นครสวรรค์ ให้ความรู้ในเรื่องสิทธิประโยชน์กับผู้ประกันตน การรณรงค์ส่งเสริมการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 พร้อมให้บริการรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 6 เผยแพร่ความรู้การใช้สารเคมีในการทำงานการเกษตร
โอกาสนี้ นางนฤมล ได้สาธิตการควบคุมโดรนให้ทาง พล.อ.ประวิตร และคณะ ได้รับชม ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้ให้ความสนใจและสอบถามรายละเอียดการนำมาปรับใช้ทางด้านการเกษตรด้วย
นางนฤมล กล่าวตอนหนึ่งว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรยกระดับสู่การเป็น Smart Farmer ซึ่งรัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องเกษตรกรทุกคน และต้องการเห็นเกษตรกรยุคใหม่ มีความรู้ มีทักษะที่สามารถพัฒนาอาชีพของตนเอง ไปสู่การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ด้วยการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ การควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร จึงเป็นอีกทางเลือกแก่เกษตรกร ในการเพิ่มผลผลิตการเกษตร และทำงานได้รวดเร็วขึ้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงเดินหน้าพัฒนาทักษะให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ เกษตรกร สามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดสู่การเป็นเกษตรกรยุค 4.0 ต่อไป และเพิ่มหลักสูตรใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของแรงงานภาคการเกษตรได้อย่างแท้จริง.