“กนก” แนะรัฐบาลเตรียมนโยบายรับแรงงานคืนถิ่นจากวิกฤตโควิด-19 พร้อมเสนอยกกระดับเกษตกรมูลค่าสูง
วันนี้ (28 เม.ย.) นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วงถึงแรงงานเมืองที่กลับคืนสู่ท้องถิ่นในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่ารัฐบาลควรต้องเตรียมความพร้อมทางนโยบายเพื่อรองรับแรงงานเหล่านี้ในการประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิต ด้วยการเปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสของเกษตรชนบท ในการร่วมพลิกฟื้นระบบเกษตรไทย
“ผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยที่สำคัญเรื่องหนึ่ง คือ การเคลื่อนตัวออกจากเมืองของแรงงาน หลังไม่มีงานให้พวกเขาทำ คาดกันว่ามีจำนวนประมาณ 3-5 ล้านคน นั่นเพราะแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วมีภูมิลำเนาอยู่ตามต่างจังหวัด มาอาศัยอยู่ที่เมืองใหญ่ด้วยการเช่าที่พักอาศัย เพื่อแลกกับจำนวนรายได้ที่สร้างความพึงพอใจในแต่ละบุคคล ดังนั้น เมื่อไม่มีงาน ขาดรายได้ การหยุดหรือลดรายจ่ายที่ง่ายที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการกลับบ้าน เพื่อตัดค่าเช่าบ้าน และลดค่าครองชีพที่สูงลงมา แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ เมื่อแรงงานเหล่านี้คืนสู่ท้องถิ่นแล้ว การดำเนินชีวิตต่อไปของพวกเขาควรเป็นไปในแนวทางใด คำตอบที่ผมพอจะมองเห็นตอนนี้เป็นการเข้าไปประสานกับภาคการเกษตรของชนบทในการยกระดับระบบเกษตรไทยให้สามารถสร้างมูลค่าทั้งด้านรายได้และผลผลิตอย่างเต็มประสิทธิภาพ”
อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ยังได้แนะนำให้รัฐบาลบริหารจัดการกับเงื่อนไข 2 ประการเพื่อยกระดับ “เกษตรชนบท” ให้กลายเป็น “เกษตรมูลค่าสูง” ดังนี้
1. จัดหาแหล่งน้ำและที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรในชนบท เพราะน้ำคือชีวิตของเกษตรกร ถ้าไม่มีน้ำทุกอย่างก็จะผูกไว้กับน้ำฝนตามธรรมชาติที่ไม่มีความแน่นอน ส่วนที่ดินเพื่อการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ เป็นปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรไม่มีไม่ได้ 2. ระบบขนส่ง (logistic) และเครือข่ายโทรคมนาคมที่มีศักยภาพสูง (5G) เพราะการทำเกษตรมูลค่าสูงนั้นต้องใช้เทคโนโลยีกำกับตลอดกระบวนการผลิตจนไปถึงมือผู้บริโภค ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีต้องมีเสถียรภาพ และค่าใช้จ่ายต้องไม่เป็นภาระต่อเกษตรกร
“นี่คือส่วนประกอบสำคัญของการเกษตรไทยรูปแบบใหม่ที่ “ทำน้อย ได้มาก” ด้วยเทคโนโลยี และระบบการจัดการที่ทันสมัย กับความหลากหลายทางชีวภาพ และทักษะอันเฉพาะตัวของชนบท ซึ่งก็คงต้องไปสู่คำถามต่อมาว่า แล้วจะทำอย่างไรให้ “แรงงานในเมือง” กับ “เกษตรกรชนบท” ทำงานร่วมกันได้ เพราะนี่คือต้นทางของการเพิ่มผลผลิต (Productivity) และการสร้างมูลค่าใหม่ (Value Creation) ทางการเกษตร ทั้งในแง่กระบวนการและผลลัพธ์ ที่อาจบอกได้ว่าเป็นการ “พลิกฟื้นระบบเกษตรไทย” ในสายตาของผม”