xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “ลุงตู่” จะตีธงไปทางไหน หลัง ส.ว.เสียงแตกเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ปมสำคัญตัดทิ้งอำนาจ ส.ว.ลอยแพนายกฯ **“เอ๋ ปารีณา” ถูก ป.ป.ช.แจ้งข้อหายื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ-ผิดจริยธรรมบุกรุกป่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์







ข่าวปนคน คนปนข่าว



**เรียนผูกต้องเรียนแก้!! จับตา “ลุงตู่” จะตีธงไปทางไหน หลัง ส.ว.เสียงแตกเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ปมสำคัญตัดทิ้งอำนาจ ส.ว. ลอยแพนายกฯ

ประเด็นร้อนทางการเมืองสำหรับเดือนกันยายนนี้ นอกจากการนัดชุมนุมใหญ่ของ “กลุ่มประชาชนปลดแอก” ที่กำหนดไว้ในวันที่ 19 ก.ย.แล้ว ยังมีเรื่องการแก้ไข รธน. ที่ขณะนี้ ทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล ได้ยื่นร่างแก้ไข รธน. ต่อประธานสภาไปแล้ว และมีกำหนดเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระแรก วันที่ 23-24 ก.ย.นี้

หลักใหญ่ใจความในร่างแก้ไข รธน. ของทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล คล้ายกันที่เริ่มจากการแก้มาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรธน.ใหม่ โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 แต่จะต่างกันที่องค์ประกอบ และที่มาของ ส.ส.ร.

นอกจากนี้ ยังมี ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอีกจำนวนหนึ่ง ที่เตรียมยื่นร่างแก้ไข รธน. แบบรายมาตรา ไม่ต้องตั้ง ส.ส.ร. โดยพุ่งเป้าไปที่ มาตรา 272 เรื่องลดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี... ส.ส.กลุ่มนี้ที่เปิดตัวออกมาแล้วก็มีทั้งจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และประชาธิปัตย์ ซึ่งการยื่นร่างแก้ไข รธน.แบบรายมาตรานี้ ต้องมี ส.ส.ร่วมลงชื่อสนับสนุนอย่างน้อย 98 คน ...ก็ต้องจับตากันต่อไปว่าจะยื่นสำเร็จหรือไม่

แต่ไม่ว่าจะแก้แบบไหน มาตราใด กุญแจสำคัญอยู่ที่ ส.ว. เพราะ รธน.บังคับไว้ว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว.อย่างน้อย 84 เสียง จากทั้งหมด 250 เสียง ทั้งในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ... ซึ่งขณะนี้ ท่าทีของ ส.ว.ต่อการแก้ไข รธน. แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่ยังสงวนท่าที รอดูสถานการณ์ว่า จะมีการยื่นร่างแก้ไขมาทั้งหมดกี่ร่าง แก้ประเด็นใดบ้าง ค่อยตัดสินใจ กลุ่มนี้ประกอบด้วย อดีตข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และอดีต สนช. ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่สุดประมาณกว่า 100 คน
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่พร้อมสนับสนุนการแก้ไข รธน. ของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน คือ แก้มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ยกร่าง รธน.ใหม่ หรือจะแก้ไขรายมาตรา รวมทั้งแก้ มาตรา 272 ลดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี ก็พร้อมสนับสนุน ...เพราะเป้าหมายสำคัญ คือ แก้เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในประเทศที่เป็นอยู่ขณะนี้ กลุ่มนี้มีประมาณ 20-30 คน ที่เปิดตัวมาแล้ว อาทิ คำนูณ สิทธิสมาน วันชัย สอนศิริ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“ส.ว.คำนูณ” เห็นว่า การที่ คสช.คัดเลือก ส.ว.250 คน แล้วให้ ส.ว.ร่วมเลือก “อดีตหัวหน้า คสช.” เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยตามปกติ แต่เป็นระบอบการเมือง “เฉพาะกิจ” และ “เฉพาะกาล” ในช่วงเปลี่ยนผ่านของความขัดแย้ง เพื่อให้บรรลุ 2 เป้าหมาย คือ ความสงบสุขในบ้านเมือง และให้มีการปฏิรูปประเทศตามแผนงานเดินหน้าได้ดี ในช่วง 5 ปีแรก
แต่ปรากฏว่า ขณะนี้ไม่มีความสงบสุขของบ้านเมือง เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขนาดหนัก การชุมนุมมวลชนกลับมาอีกในรูปแบบใหม่ ไปถึงนักเรียน นักศึกษา อีกทั้งการปฏิรูปประเทศก็คืบหน้าช้ามากและจะไม่เป็นไปตามที่ รธน.กำหนดไว้ ให้สัมฤทธิผลในปี 2565 อย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ อย่างการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งถือว่ารัฐบาลชุดนี้ “สอบไม่ผ่าน” ทั้งเรื่องความสงบสุขของบ้านเมือง และเรื่องการปฏิรูป
จึงเห็นว่า “ไม่คุ้มค่า” ที่จะคงมาตรการพิเศษ เฉพาะกิจ และเฉพาะกาล อย่างมาตรา 272 เอาไว้ !!
กลุ่มที่ 3 “กลุ่ม ส.ว.อิสระ” มีประมาณ 60 คน กลุ่มนี้เสนอให้แก้ รธน. รายมาตรา และพร้อมสนับสนุนการแก้ มาตรา 272 แต่ไม่เอาการตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ
“ส.ว.กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ” แกนนำกลุ่มนี้ บอกว่าที่ไม่เอา ส.ส.ร. เพราะ ส.ส.ร.ที่มาจาการเลือกตั้ง สุดท้ายแล้วก็ไม่ใช่ตัวแทนประชาชนจริงๆ แต่เป็นตัวแทนนักการเมือง หรือเป็น “เงา ส.ส.” เมื่อร่าง รธน.ฉบับใหม่ออกมา ความขัดแย้งก็จะไม่จบ เพราะจะมีความเห็นไม่ตรงกันกับอีกกลุ่ม และไม่สบายใจว่า ส.ส.ร.จะยกร่าง รธน. เลยเถิดไปขนาดไหน จะแก้ในส่วนที่ดีอยู่แล้วหรือไม่
หากจะมีการแก้มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ขัดข้อง เพราะสมาชิกในกลุ่มเห็นตรงกันว่า หมดความจำเป็นที่จะให้ ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯแล้ว ถ้า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต้องการจะเป็นนายกฯต่อ ก็ต้องใช้ความสามารถตัวเองไปหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. เพื่อพิสูจน์บารมี จะได้มีความสง่างาม ไม่ต้องใช้เสียง ส.ว.มาช่วย จนทำให้ ส.ว.ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ
นั่นคือ ความเห็นของ ส.ว.ใน 3 กลุ่มหลัก ที่พร้อมจะแก้ไข รธน. แต่มีรายละเอียดในการแก้ไขที่แตกต่างกัน

คำนูณ สิทธิสมาน - กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ
ทั้งนี้ ตามไทม์ไลน์ของการประชุมสภา ในวันที่ 9 ก.ย.นี้ จะมีการเปิดอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 โดยไม่มีการลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อ ครม.ในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตทางการเมือง ซึ่งจะมีประเด็นปัญหาของ รธน. เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแน่ ...จากนั้นวันที่ 10 ก.ย. จะมีการพิจารณารายงานของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” เป็นประธาน กมธ.
เชื่อว่า การอภิปรายในสองวันนี้ น่าจะทำให้ทั้ง รัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ส. และ ส.ว. ได้ข้อมูลแนวคิดเกี่ยวกับการแก้ไข รธน. ก่อนเข้าสู่การพิจาณาร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ของฝ่ายค้านและรัฐบาล วาระ 1 ในวันที่ 23-24 ก.ย.ที่จะถึงนี้
ก็คงต้องจับตาว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะผู้นำรัฐบาล และเป็นคนแต่งตั้ง 250 ส.ว. จะ “ตีธง” ไปทางไหน การแก้ รธน. ในยกที่ 1 จะเป็นอย่างไร ...ต้องติดตาม

** “เอ๋ ปารีณา” ถูก ป.ป.ช. แจ้งข้อหายื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ-ผิดจริยธรรมบุกรุกป่า กว่าจะถึงวันพิพากษา ยังเหลืออีกหลายด่าน

ยังต้องลุ้นกันต่อไป สำหรับกรณี “เอ๋” ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่า และแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ว่าถึงที่สุดแล้ว จะถึงขั้นถูกตัดสินว่ามีความผิด หรือและได้รับโทษตามกฎหมายไม่
หลังจากที่เมื่อวาน (7 ก.ย.) มีข่าวออกมาจากทาง ป.ป.ช.ได้ไต่สวนกรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ คืบหน้าไปกว่า 90% ซึ่งถือว่ามีข้อมูลเพียงพอ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา เพื่อให้ “สาวเอ๋” ได้ไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
ส่วนกรณีบุกรุกที่ดิน ทั้งที่ดิน ส.ป.ก.และที่ดินป่าสงวน แยกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) หรือ ตำรวจทรัพยากร ได้ส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ เนื่องจากเห็นว่าเป็นกรณีที่ผู้มีตำแหน่งทางการเมืองบุกรุก แต่ทาง ป.ป.ช.เห็นว่า เรื่องนี้เป็นการกระทำความผิดในฐานะส่วนตัว และไม่ชัดเจนว่าเป็นการกระทำในฐานะส.ส. จึงได้ส่งเรื่องกลับไปให้ตำรวจทรัพยากรดำเนินการต่อไป... พูดง่ายๆ ก็คือว่าให้ดำเนินการทางอาญาเหมือนคนทั่วไปกระทำผิดนั่นเอง
กระนั้นก็ตาม กรณีการบุกรุกที่ดิน ยังมีส่วนที่ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวน นั่นคือ ประเด็นจงใจกระทำความผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ ป.ป.ช.จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ “เอ๋ ปารีณา” ไปแล้ว หากไต่สวนแล้วพบว่ามีมูลความผิด ก็จะส่งเรื่องไปยังอัยการ เพื่อให้ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาวินิจฉัย ต่อไป

ปารีณา ไกรคุปต์
ย้อนที่มาที่ไปของเรื่องนี้ ก็ต้องบอกว่า เป็นผลจากการที่ “สาวเอ๋” โดนย้อนศรก็คงไม่ผิด หลังจากที่ได้นำชาวราชบุรี ไปทวงคืนที่ดิน ภบท.5 ประมาณ 500 ไร่ คืนจาก “สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ” มารดาของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยที่ดินดังกล่าวน่าจะอยู่ในเขตบ้านหนองน้ำใส ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
แล้วก็ถูก “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เอาคืน เพราะเมื่อไปตรวจสอบจากบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ “เอ๋ ปารีณา” ยื่นต่อ ป.ป.ช.แล้ว ก็พบว่า มีการครอบครองที่ ภบท.5 ในบริเวณ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เนื้อที่มากถึง 1,706 ไร่ แถมไม่ระบุวันที่ได้มาให้ชัดเจน จึงยื่นร้องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ
และมันก็มีข้อพิรุธ เมื่อเปรียบเทียบการยื่นบัญชีทรัพย์สินของ “เอ๋ ปารีณา” กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ครบ 1 ปี เมื่อ 8 ธ.ค. 57 รวมทั้งการยื่นบัญชีทรัพย์สินตอนเป็น ส.ส.เมื่อปี 51 และปี 54 ก็ไม่ได้ระบุถึงการครอบครองที่ ภบท.5 ดังกล่าวเลย ทั้งที่เจ้าตัวให้สัมภาษณ์บอกว่า ได้ทำกินในที่ดินที่ว่านี้มาแล้วเป็น 10 ปี
ทั้งนี้ “สาวเอ๋” ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีพ้นกรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 62 ระบุว่า มีทรัพย์สิน 169 ล้านบาท เป็นเงินฝาก 22 ล้านบาท เงินลงทุน 10 ล้านบาท เงินให้กู้ยืม 11 ล้านบาท ที่ดิน 20 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นที่ดิน (โฉนด, น.ส.3 ก.) รวม 18 แปลง มูลค่า 19,868,090 บาท และ ที่ดิน ภ.บ.ท.5 รวม 58 แปลง มูลค่า 200,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 61 ล้านบาท ยานพาหนะ 16 ล้านบาทเศษ ทรัพย์สินอื่น 23 ล้านบาท และเป็นทรัพย์สินของลูกชายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 5.8 ล้านบาท ส่วนหนี้สินมีประมาณ 29.7 ล้านบาท
โดยส่วนที่ทำให้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ายื่นบัญชีเท็จ ก็คือ ที่ดิน ภบท.5 รวม 58 แปลง มูลค่า 200,000 บาท นั่นเอง เพราะระบุเนื้อที่รวมกันมากถึง 1,706 ไร่ แต่เมื่อตรวจสอบจริงๆ แล้วมีอยู่ประมาณ 700 ไร่เท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยด้วยว่าเป็นการแจ้งตัวเลขให้มีจำนวนมากๆ ไว้ก่อน แล้วหาที่ดินมาสวมในอนาคตหรือไม่ ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่า ที่แจ้งต่อ ป.ป.ช.นั้น ” เกิดจากความผิดพลาดและซ้ำซ้อนในเอกสาร” จึงได้ยื่นขอแก้ไขตัวเลขต่อป.ป.ช.ไปแล้ว
ขณะเดียวกัน กรณีการครอบครองที่ดิน ภบท.5 ยังถูกขยายผลไปเป็นคดีบุกรุกที่ดินในเขตป่า และพื้นที่ ส.ป.ก.4-01 โดยไม่ถูกต้องอีกด้วย ซึ่งทาง ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องกลับไปให้ตำรวจทรัพยากรดำเนินการต่อไป
ว่ากันว่า สำหรับคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.นั้น กรณีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ถ้าคดีจบ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้ผิดจริง ก็จะถูกโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนข้อหาจงใจกระทำความผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ถ้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับฟ้อง ก็ต้อง “หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.” และถ้ามีคำพิพากษาออกมาว่าผิดจริง ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง และมีโทษหนักถึงขั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งถึง 10 ปี หมดสิทธิลงสมัคร ส.ส. - ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
แต่กว่าจะถึงวันพิพากษา ก็ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน เริ่มจากการเปิดโอกาสให้ไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ด่านต่อไปคือชี้มูลว่าผิดหรือไม่ผิด ถ้าผิดก็ส่งเรื่องไปที่อัยการ เพื่อให้ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังอัยการส่งฟ้องก็ยังมีขั้นตอนที่ศาลฯ จะพิจารณาว่ารับฟ้องหรือไม่รับฟ้อง หลังจากรับฟ้อง ก็ยังมีขั้นตอนการไต่สวนในศาล ที่ฝ่ายผู้ถูกร้องมีสิทธิที่จะหาพยานหลักฐานมาหักล้างข้อกล่าวหาได้ แล้วเดี๋ยวนี้ คำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็สามารถอุทธรณ์ได้ ไม่ใช่ตัดสินทีเดียวแล้วจบเลยเหมือนเมื่อก่อน
กว่าจะรู้ผลว่า “เอ๋ ปารีณา” ผิดไม่ผิด ก็คงรออีกเป็นปี!!




กำลังโหลดความคิดเห็น