วิปรัฐบาลเผย รอ ส.ส.พรรคร่วมลงชื่อให้ครบเพื่อความเป็นเอกภาพ ก่อนชงญัตติแก้ รธน. เห็นพ้องริบอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ ปรับเพิ่มเสียงเห็นชอบให้ลงมติยาก เปิดช่อง นศ.ร่วม ส.ส.ร. ยึดโครงสร้างปี 40 ประชามติใช้สิทธิไม่น้อยกว่า 1 ใน 5
วันนี้ (31 ส.ค.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลครบจำนวนที่พอยื่นแล้ว แต่ขณะนี้ยังรอให้ ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลลงชื่อให้ครบเพื่อแสดงถึงความเป็นเอกภาพ อย่างไรก็ตาม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรครัฐบาลเสนอนั้นเป็นข้อสรุปและเห็นร่วมกัน โดยสาระที่บัญญัติไว้ในร่างแก้ไข คือ แก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ตัดเกณฑ์การใช้เสียงของส.ว.ออกไป และปรับเกณฑ์การเห็นชอบ จากที่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกของสองสภารวมกัน คือ 375 เสียง จาก 750 เสียง ไปเป็นใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกสองสภา คือ 450 เสียง โดยยอมรับว่าได้เพิ่มเสียงเห็นชอบเป็นพิเศษ เพราะต้องการให้การลงมติแก้ไขนั้นยากมากขึ้น และมองว่าการใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งนั้นน้อยไป
นายชัยวุฒิกล่าวด้วยว่า ร่างแก้ไขยังกำหนดให้มีหมวดว่าด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนแต่ละจังหวัด 150 คน, มาจากการเลือกของ ส.ส. และ ส.ว.รวม 30 คน, มาจากสภานักเรียน นิสิต นักศึกษา 10 คน, ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือกจากผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ หรือผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน โดยโครงสร้างดังกล่าวได้พิจารณาจาก ส.ส.ร.ปี 2540 นอกจากนี้ยังนำโมเดล ส.ส.ร.40 กำหนดไว้ในเนื้อหา อาทิ เมื่อทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จต้องส่งให้รัฐสภาเห็นชอบ
เมื่อถามถึงข้อกำหนดให้ทำประชามติ หากรัฐสภาไม่เห็นชอบและกำหนดเงื่อนไขผ่านประชามติ ด้วยเสียงผู้ออกมาใช้สิทธิลงประชามติ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของผู้มีสิทธิ นายชัยวุฒิกล่าวว่า เป็นข้อหารือที่ปรับปรุงแล้ว เพราะมองว่าการออกเสียงประชามติหากไม่กำหนดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิอาจทำให้มีคนมาใช้สิทธิน้อยและไม่เป็นที่ยอมรับ ส่วนที่กำหนดเกณฑ์ 1 ใน 5 นั้น ได้รับจากข้อเสนอที่ใช้เสียงเกิน 50 เปอร์เซ็นต์
“เกณฑ์ผ่านประชามตินั้นไม่ถือว่ายากเกินไป เพราะปกติมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินจำนวนอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี การตั้งเงื่อนไขใหม่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่การสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดทางตันหรือเพิ่มระดับความยากของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากรัฐสภาเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้ หากรัฐสภาไม่เห็นชอบต้องนำร่างรัฐธรรมนูญถามประชาชนผ่านประชามติ” นายชัยวุฒิกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิปรัฐบาลตกลงจะยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา วันที่ 1 กันยายน เวลา 13.30 น.